×

วิจัยเผยเม็ดพลาสติกทำเม่นทะเลตาย ชี้ถึงสัตว์น้ำไม่กินพลาสติก ก็ตายได้จากสารพิษ

16.12.2022
  • LOADING...

การวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า เม่นทะเลที่เติบโตในพื้นที่ที่มีมลพิษจากพลาสติกสูงมีโอกาสตายลงเพราะมีการพัฒนาร่างกายที่ผิดปกติ 

 

นักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษและอิตาลีได้ทดลองเพื่อเฝ้าสังเกตผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อสัตว์ทะเล โดยวางไข่ของเม่นทะเลไว้ในน้ำทะเลที่เจือปนด้วยพลาสติกหลายระดับด้วยกัน เพื่อเปรียบเทียบดูว่าเม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ (Nurdles) ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตพลาสติกทุกประเภทนั้นมีผลต่อเม่นทะเลอย่างไรบ้าง หลังจากที่พบเม็ดพลาสติกเหล่านี้ปริมาณมหาศาลถูกพัดมาเกยตื้นในชายหาดของเทศมณฑลคอร์นวอลล์ของอังกฤษ

 

พวกเขาพบว่า ตัวอ่อนของเม่นทะเลที่เลี้ยงในน้ำที่ปนเปื้อนด้วยเม็ดพลาสติก ‘ที่ซื้อมาใหม่จากผู้ผลิต’ มีความผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญในการทดสอบความเข้มข้นของระดับการเจือปนทั้ง 3 ระดับคือ 1%, 5% และ 10% ส่วนเม่นทะเลที่เลี้ยงในน้ำที่ปนเปื้อนด้วยเม็ดพลาสติกเก่าที่เก็บมาจากชายหาดก็ตายเช่นกัน แต่เฉพาะในกลุ่มที่เลี้ยงในน้ำที่ปนเปื้อนสูงที่ระดับ 10% เท่านั้น

 

การทดลองดังกล่าวบ่งชี้ว่า เม็ดพลาสติกที่เพิ่งผลิตใหม่ซึ่งยังมีสารเติมแต่งต่างๆ ในปริมาณสูงนั้น หากรั่วไหลลงทะเลจะมีความอันตรายมากกว่า และถึงแม้ว่าความเข้มข้นของการเจือปนพลาสติกในน้ำทะเลที่สูงเช่นนี้จะพบได้ยากในพื้นที่มหาสมุทรจริง แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยตัวอ่อนของเม่นทะเลที่พบความผิดปกตินั้นมีหลายรูปแบบ รวมถึงความผิดปกติของโครงสร้างกระดูก เซลล์ประสาท และภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังเติบโตโดยมีโครงสร้างที่ไม่สมมาตรเหมือนตามปกติ ก่อนที่จะตายลงในที่สุด

 

ดร.เอวา จิมีนีซ-กูรี (Eva Jimenez-Guri) จากสถาบัน Anton Dohrn Zoological Station และ University of Exeter ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทำการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า นอกจากพลาสติกจะเป็นภัยต่อสัตว์น้ำจากการที่พวกมันเผลอกินเข้าไป หรือตัวเข้าไปติดอยู่ในเศษขยะแล้ว การวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นว่า พลาสติกสามารถฆ่าสัตว์ได้เพราะสารเคมีที่ปลดปล่อยออกมา อย่างเช่นที่เห็นในพัฒนาการของเม่นทะเล 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้เราทุกคนควรลด ละ เลิก การใช้งานพลาสติกให้เหลือเท่าที่จำเป็น รวมถึงต้องทิ้งขยะให้ถูกที่และถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อเพื่อนร่วมโลกของเราให้ได้มากที่สุด เพราะขยะพลาสติกเพียงชิ้นเล็กๆ ชิ้นเดียวอาจหมายถึงความเป็นความตายของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็เป็นได้

 

แฟ้มภาพ: Tahsin Ceylan/Anadolu Agency via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X