ข้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่สำคัญที่สุดของผู้คนหลายพันล้านคนกำลังเผชิญกับภาวะราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง เมื่อราคาข้าวในเอเชียพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี เมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากอินเดียสั่งห้ามการส่งออกข้าวบางส่วน ขณะที่รัฐบาลไทยเริ่มผลักดันให้ชาวนาปลูกข้าวน้อยลง รับมือภัยแล้งในอนาคตจากเอลนีโญ
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าทางการไทยกระตุ้นให้ชาวนาพิจารณาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนข้าว โดย สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เผยว่า ชาวนาในพื้นที่สำคัญส่วนใหญ่ได้ทำการปลูกข้าวแล้ว แต่รัฐบาลกำลังผลักดันเกษตรกรให้เปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้นํ้าน้อยแทน
ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกกำลังเผชิญกับภาวะฝนที่น้อยลงเนื่องจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้าจากรูปแบบสภาพอากาศของเอลนีโญ ปริมาณฝนสะสมในภาคกลางจนถึงขณะนี้ต่ำกว่าระดับปกติถึง 40% ซึ่งการเคลื่อนไหวของภาครัฐในการควบคุมการปลูกข้าวก็เพื่อช่วยประหยัดน้ำสำหรับการบริโภคของครัวเรือนในอนาคต
พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยคาดว่าจะมีสัดส่วนเกือบ 14% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดในปีนี้ และคิดเป็น 19% ของการเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกหลักในปี 2566/67 ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สุรสีห์กล่าวว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่มีอยู่ประมาณ 51% ของความจุทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้เตือนว่าปรากฏการณ์เอลนีโญอาจทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงผิดปกติ และแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืช 1 ชนิดในปีนี้ แทนที่จะปลูกพืช 2 ชนิดตามปกติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนบางส่วนของประเทศไทยน่าจะถูกชดเชยด้วยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากเวียดนาม ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกินเป้าหมายในปีนี้
ตามรายงานของกรมศุลกากรเวียดนามระบุว่า เวียดนามได้ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 21% ในช่วง 6 เดือนแรกจากปีก่อนหน้า โดยมีการส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ จีน และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยอดขายจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของเวียดนาม
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ พบว่า ในปัจจุบัน อินเดียถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคิดเป็น 40% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ขณะที่ไทยและเวียดนามคิดเป็น 15% และประมาณ 14% ตามลำดับ
อ้างอิง: