หลายคนอาจไม่ทราบว่า เทรนด์การบริโภคโปรตีนจากพืชหรือแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ธัญพืช ได้รับความนิยมเรื่อยๆ ด้วยสังคม Ageing Society และผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมูลค่าตลาดอาหารโปรตีนจากพืชของโลกสูงถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่าตลาดการบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชได้รับความนิยมมากในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนราว 75% เอเชีย 18% แต่ที่น่าสนใจคือ มูลค่าตลาดของไทยอยู่ที่ประมาณ 1.4 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1-2% ของมูลค่าตลาดโลก แต่อัตราการเติบโตเองก็สูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 6-7% และจะเติบโตต่อเนื่อง
“ดังนั้น ตลาดของไทยยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก หลักๆ เลยคือคนไทยหันมาใส่ใจตัวเอง รักสุขภาพมากขึ้น และอาหารโปรตีนจากพืชจะมีไขมันต่ำ ปราศจากสาร Antibiotic จึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่ไม่ใช่แค่ผู้รับประทานมังสวิรัติเท่านั้น” บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าว
THE STANDARD WEALTH มีโอกาสพูดคุยกับบุรณินในระหว่างร่วมเยี่ยมชมโรงงานแพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) ซึ่งได้เล่ารายละเอียดว่า เอ็นอาร์พีที (NRPT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน อินโนบิก-เอ็นอาร์เอฟ เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ผลิตอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Food) หรืออาหารแห่งอนาคตแล้ว ด้วยกำลังการผลิตเฟสแรก 3,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะผลิตเต็มกำลังผลิตได้ภายในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า และขยายเฟส 2 โดยวางงบลงทุนไว้ที่ 300-400 ล้านบาท เพิ่มอีกเป็น 1.3 หมื่นตัน และวางเป้าหมายกำลังผลิตสูงสุดที่ 2.5 หมื่นตัน ภายในระยะ 5 ปี
โรงงานแพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) ตั้งอยู่บนพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา 10 ไร่ และใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ในกระบวนการผลิต
ตลาดและต้นทุนการผลิตโปรตีนจากพืชแพงจริงไหม กำลังซื้อปัจจุบัน เป็นอย่างไร?
ต้องยอมรับว่า ตลาดยุโรปก็เผชิญปัญหาต้นทุนค่าพลังงานและค่าแรงที่สูงขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชแพงขึ้น โดยต้นทุนการผลิตแพลนท์เบสอยู่ที่ 100-110 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากเทียบราคาเนื้อสัตว์ก็สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งผลิตภัณฑ์แพลนท์เบสมีโปรตีนเทียบเท่าหรือสูงกว่าเนื้อสัตว์ โดยใช้วัตถุดิบหลักในการผลิต คือ ถั่วเหลือง ซึ่งบริษัทจะนำเข้าจากจีน ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ และบริษัทก็มีแผนรับซื้อ ส่งเสริมเกษตรไทยปลูกพืชทางเลือกเหล่านี้ด้วย
“การที่ต้นทุนยุโรปสูง ผมกลับมองว่านี่คือโอกาสดีที่เราจะเป็นฐานการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชเพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตในยุโรปภายใต้แบรนด์ของลูกค้าด้วยมาตรฐานฮาลาลและมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสากลจากสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (The British Retail Consortium : BRC) ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างขอการรับรอง”
โดยคาดว่าจะได้ใบรับรอง BRC ในต้นปีหน้า และเราจะเป็นรายที่ 44 ของโลกที่ได้รับใบรับรองจาก BRC
สำหรับ แผนการตลาด ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ทเนอร์ ลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อรับจ้างผลิต (OEM) ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตทั้งในและต่างประเทศ เริ่มทยอยเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานแพลนท์ แอนด์ บีน ไทยแลนด์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการนั้น วางไว้ว่า ทันทีที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน BRC เมื่อได้รับคำสั่งซื้อสินค้า ก็เริ่มจำหน่ายได้ทันทีคาดว่าช่วงในต้นปี 2567 ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักๆจะเป็น สหรัฐ ยุโรป
“โรงงานแห่งนี้จะเป็นโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืช 100% แห่งแรกในประเทศไทยและขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน อันดับ 2 ของเอเชียรองจากอินเดีย อนาคตเราก็ยังเตรียมศึกษาและพัฒนาสูตรเพื่อเจาะตลาดอินเดียด้วย และอนาคตจะเป็นฐานผลิตอาหารแห่งอนาคตของโลก”
ส่ง 2 กลุ่มโปรดักส์ Ready to cook และ Ready to eat ป้อนตลาด
เราจะส่งออกจำหน่ายใน 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) เช่น เนื้อสับ มีทบอล และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เช่น ไส้กรอก นักเก็ต และเกี๊ยวซ่า โดยยึดจุดแข็งด้านประสิทธิภาพการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับโลกให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัส รสชาติ และรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง อร่อย ทานง่าย
นอกจากนี้ ทุกผลิตภัณฑ์ล้วนมาจากพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (Non-GMO) และมีโปรตีนสูง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมอาหารให้เหมาะแก่การดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น รวมถึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรได้ประมาณ 5-10 เท่า จากราคาเดิมด้วย
“อนาคตเราก็มีแผนที่จะนำวัตถุดิบเกษตรของไทยมาใช้ อาทิ เม็ดขนุน ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและทำวิจัย รวมถึงจะสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากโรงงาน แพลนท์ แอนด์ บีน ไปต่อยอดทำเป็นเมนูอาหารไทยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น แกงเขียวหวาน กะเพรา ผัดไท ซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารของไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี”
ตลาด plant-based ธุรกิจ Blue Ocean
บุรณิน กล่าวอีกว่า หากดูข้อมูลจาก Good Food Institute ที่ระบุว่า กำลังผลิตหรือโปรตีนจากพืช ทั่วโลกมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2.2 แสนล้านตันต่อปี โดยเฉพาะประเทศทางฝั่งยุโรปและอเมริกาเหนือที่มีสัดส่วนตลาดมากถึง 75% ขณะที่ตลาดเอเชียแปซิฟิกกลับมีเพียง 18%
“โดยตลาดเนื้อสัตว์ plant-based meat เติบโตขึ้นเพียง 3.2% เท่านั้น ขณะที่ตลาดในไทยก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น เพราะพฤติกรรมการบริโภคเมื่อก่อน จะเป็นเฉพาะกลุ่มวีแกนหรือในช่วงเทศกาลกินเจ แต่ตอนนี้ plant-based กลายเป็นอีกทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้ตลาดในไทยมีแนวโน้มต่อเนื่อง”
จึงเป็นโอกาสสำคัญของเราที่จะเจาะตลาด plant-based ในภูมิภาคอาเซียน ที่ถือว่าเป็นธุรกิจ Blue Ocean ” บุรนินกล่าว
ทำความรู้จักกับ “Plant & Bean” โรงงานที่ใหญ่สุดในอาเซียนที่ถอดแบบมาจากอังกฤษ
สำหรับโรงงานแพลนท์เบสแห่งนี้เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง อินโนบิก (บริษัท ลูก ปตท.) และบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ร่วมทุนกับ บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ โดยจัดตั้งเป็น “บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด หรือ NRPT” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ถือหุ้น 100%
ต้นแบบของโรงงานจะนำเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากพืชชั้นสูงจากประเทศอังกฤษมาปรับใช้ ดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชครบวงจร และจะเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ Life sciences ของ ปตท. ที่เป็นธุรกิจมุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ ยา อาหาร ที่เจาะเทรนด์กระแสคนทุกรุ่น ทุกวัย
บุรณิน กล่าวทิ้งท้ายว่า อินโนบิก ถือเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ของ ปตท. ที่จะช่วยผลักดันกำไรตามเป้าหมายที่วางไว้ของกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ 30% ในปี 2030
“ณ วันนี้ นอกจากอาหาร ธุรกิจยา ก็เติบโตหลังจากการเข้าไปลงทุนถือหุ้นใน บริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด บริษัทยาระดับโลกของไต้หวัน ตามสัดส่วนการถือหุ้น 37% หรือคิดเป็นประมาณ 6,000 ล้านบาท”
โดยคาดว่าปีนี้โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจอินโนบิก คาดว่าจะสามารถทำกำไร ตัวเลข 3 หลัก และปีหน้า มองว่า ธุรกิจนี้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ยังมีอีกโอกาสท่ามกลางความท้าทายของอุตสาหกรรมและการพัฒนากลุ่มธุรกิจอีกมาก