×

PK (2014) จดหมายถึงชายขี้เมา ถ้าเป็นนายจะมองเรื่องภาพวาดอุลตร้าแมนแบบไหนกันนะ

11.09.2019
  • LOADING...
PK (2014)

**บทความนี้อ้างอิงจากภาพยนตร์เรื่อง PK ที่เข้าฉายในปี 2014**

 

ถึง PK ชายขี้เมาจากดวงดาวที่ไกลออกไป 4,000 ล้านไมล์ 

 

สวัสดี PK เผลอแป๊บเดียวเวลาก็ผ่านไป 5 ปีแล้วนะที่นายถูกส่งจากต่างดาวลงมาทำวิจัยเรื่องสิ่งมีชีวิตบนโลกมนุษย์ แต่ดันถูกคนขโมยรีโมตส่งสัญญาณจนติดต่อกับเพื่อนๆ ที่อยู่บนยานอวกาศไม่ได้ ทำให้ต้องวิ่งวุ่นตามหารีโมตสารพัดวิธี จนพานายไปเจอกับ ‘ความเชื่อเรื่องพระเจ้า’ บนแผ่นดินที่มีความหลากหลายมากที่สุดอย่างประเทศอินเดีย 

 

รู้ไหมว่าการตั้งคำถามที่ซื่อตรงและไร้เดียงสาแบบสุดๆ ของนายในตอนนั้นสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนมากขนาดไหน หลายคนถึงกับบอกว่านายเป็นพวก ‘มารทำลายศาสนา’ หลังจากเรื่องของนายถูกเผยแพร่ออกไป 

 

แต่ไม่ต้องเสียใจหรอกนะ เพราะยังมีคนจำนวนมากที่ชื่นชมในความกล้าของคนขี้เมาแบบนาย (แน่นอนว่าเราเป็นหนึ่งในนั้น) โดยเฉพาะทฤษฎี Wrong Number ที่อย่างน้อยก็ทำให้พวกเรากลับมาตั้งคำถามเรื่องความเชื่อความศรัทธาที่หลายคนหลีกเลี่ยงที่จะขบคิดและหาคำตอบ และเรื่องของนายทำเงินจากทั่วโลกไปได้ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยนะ

 

ไม่รู้ว่านายยังจำคำพูดของ เชอร์รี บาจวา หัวหน้านักข่าวที่พูดกับ จั๊กกู นักข่าวสาวที่นายแอบชอบว่า “อย่ายุ่งกับเรื่องศาสนาถ้าอยากรอดชีวิตในประเทศนี้” ได้หรือเปล่า แต่เราอยากบอกว่าไม่ใช่แค่ที่นั่นหรอก แต่อีกหลายๆ พื้นที่บนดาวเคราะห์ดวงเล็กจิ๋วนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นเหมือนกัน 

 

หลังจากที่นายเจอรีโมตและบอก ‘เบอร์โทรศัพท์’ ที่ถูกต้องให้คนที่นายแอบชอบได้รักกันอีกครั้ง (วิธีการและความหวังดีของนายในตอนนั้นทำเราเกือบร้องไห้ออกมาเลยนะ ขอชมจากใจอีกครั้งว่านายเป็นคนดีจริงๆ) เราได้ข่าวมาว่านายพาเพื่อนๆ กลับมาทำวิจัยเกี่ยวกับโลกมนุษย์อีกรอบหลังเวลาผ่านไป 1 ปี 

 

แล้วข่าวคราวของนายก็เงียบหายไปจนเราเกือบลืมเรื่องของนายไปแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นเพราะนายอบรมเพื่อนๆ ให้สามารถใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนบนโลกจนเราไม่รู้ว่ามีมนุษย์ต่างดาวแบบนายแทรกตัวอยู่ด้วย หรือพวกนายอาจจะทำวิจัยสำเร็จจนหมดความสนใจในตัวพวกเราไปแล้ว 

 

แต่คิดว่าน่าจะเป็นเหตุผลข้อแรกมากกว่า เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าบนโลกใบนี้ยังมีความแตกต่างหลากหลายอีกมากมายให้มนุษย์ต่างดาวที่สื่อสารกันได้ตรงๆ ไม่จำเป็นต้องโกหกอย่างที่พวกนายศึกษาและประหลาดใจได้อีกไม่รู้จบ  

 

ถ้านายยังอยู่บนโลกใบนี้ อย่าเพิ่งเบื่อไปเสียก่อนนะ เราอยากชวนนายมาวิจัยอะไรบางอย่างที่ประเทศของเรา ซึ่งน่าจะทำให้นายตื่นเต้นไม่แพ้การผจญภัยตามหาพระเจ้าเมื่อครั้งก่อนได้เลยล่ะ 

 

เล่าให้ฟังก่อนว่าประเทศที่เราอยู่ ผู้คนระบุตัวตนบนบัตรประชาชนว่านับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนมาก ก็อย่างที่นายน่าจะรู้นั่นล่ะว่าภายใต้กรอบความเชื่อใหญ่จะมีความเชื่อย่อยที่มีรายละเอียดแตกต่างกันซ่อนอยู่เต็มไปหมด 

 

ซึ่งคงไม่สามารถอธิบายให้นายเห็นภาพได้ในจดหมายฉบับเดียว เราขอยกตัวอย่างเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเกี่ยวกับ ‘ศาสนา’ และ ‘ศิลปะ’ ให้ฟังก่อนแล้วกัน เผื่อว่านายจะสนใจ 

 

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน พวกเรายังสนุกสนานเฮฮาไปกับการแชร์คลิปตลกที่กลายเป็นไวรัลเรื่อง ‘อภินิหารหลวงปู่รูปหนึ่ง’ ที่เดินผ่านกองไฟยาว 8 เมตรไม่เป็นไร แต่ก้าวต่อไปไฟเริ่มไหม้สบง และหลายคนเอามุกตลกไปตีความ ขยายขอบเขต สร้างมุกตลกของตัวเองกับเพื่อนๆ กันอย่างสนุกสนานอยู่เลย 

 

แต่เชื่อไหมว่าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หน้าโซเชียลมีเดียของเรากลับเต็มไปด้วยข่าวและการถกเถียงเรื่อง ‘ความเหมาะสม’ ในงานศิลปะของนักศึกษาคนหนึ่งที่ผสมผสานแรงบันดาลใจจาก ‘พระพุทธรูป’ และ ‘อุลตร้าแมน’ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันออกมาในรูปแบบภาพวาดสีน้ำมัน 

 

ซึ่งทั้งสองกรณี ฝ่ายที่ออกความเห็นว่าผลงานของทั้งคู่ไม่เหมาะสมล้วนให้เหตุผลว่าเกิดขึ้นเพราะความหวังดี และต้องการ ‘ปกป้อง’ ความเชื่อความศรัทธาเกี่ยวกับพระพุทธรูปและศาสนาพุทธให้คงไว้ต่อไป 

 

ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ดาวของนายเขามีวิธีการ ‘ปกป้อง’ ความศรัทธาของตัวเองกันอย่างไร แต่ที่ดาวของเรา นอกจากจะถกเถียงกันอย่างมี ‘เหตุผล’ บ้าง ในบางครั้งก็ยังมีคนระดับ ‘ผู้ใหญ่’ บางคนออกโรงปกป้องพระพุทธศาสนาด้วยการพานักศึกษาเจ้าของผลงานเข้าไปกราบขอขมาต่อเจ้าคณะจังหวัด (หรือที่นายเรียกว่าเป็นหนึ่งในผู้จัดการของพระผู้เป็นเจ้านั่นล่ะ) แล้วก็พยายามขอคืนผลงานจากคนที่ซื้อไปก่อนหน้า และระงับไม่ให้มีการจัดจำหน่ายหรือเผยแพร่อีกต่อไป

 

ล่าสุดก็เพิ่งได้ข่าวมาอีก (ซึ่งเราหวังเหลือเกินว่าจะไม่เป็นความจริง) ว่าเรื่องราวบานปลายจนถึงขั้นจะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของผลงานและผู้ที่ออกมาให้การสนับสนุนศิลปินเจ้าของผลงานเพิ่มขึ้นไปอีก 

 

การปกป้องความเชื่อความศรัทธาของคนที่นี่ก็ ‘มีพลัง’ ไม่น้อยไปกว่าที่นายเคยเห็นเมื่อตอนมาที่โลกครั้งก่อนเลยใช่ไหม 

 

เราอยากส่งคลิปเหตุการณ์วันนั้น ตอนที่ศิลปินคนนั้นต้องก้มกราบขอขมาแล้วพูดความรู้สึกตอนสร้างผลงานออกมา แต่ก็กลัวว่านายจะฟังลำบาก เพราะเธอมีเวลาพูดแค่ไม่กี่วินาที (สั้นกว่าบทสวดนำในพิธีขอขมาเสียอีก) 

 

ที่สำคัญคือน้ำเสียงของเธอเบาเหลือเกิน เบาจนเรากลัวว่าจะไม่มีใครได้ยิน และบรรดา ‘ผู้ใหญ่’ ที่นั่งอยู่ตรงนั้นเขาพร้อมเปิดหูเปิดใจฟังเสียงเล็กๆ นั้นจริงหรือเปล่า เสียงที่พูดออกมาพร้อมคำสะอื้นว่า

 

“แนวคิดของหนูไม่ได้พาดพิงศาสนาให้ดูเสื่อมเสีย หนูเห็นพระพุทธรูปปกปักรักษาคุ้มครองมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พอเติบโตมาในยุคสมัยใหม่ หนูเห็นอุลตร้าแมนเป็นฮีโร่ ก็เลยสร้างผลงานขึ้นมา ก็ต้องขอโทษในสิ่งนี้ด้วยนะคะ”

 

ถึงแม้จะไม่ใกล้เคียงกันมาก แต่เราอดนึกถึงเพื่อนนายคนที่ถูกลูกหลงจากการวางระเบิดรถไฟ ที่ถูกอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งจนเหลือแต่รองเท้าไม่ได้จริงๆ 

 

แน่นอนว่าสุดท้ายศิลปินคนนี้ก็ยังมีรองเท้าให้ใส่ มีลมหายใจในวันต่อๆ ไป แต่เราไม่แน่ใจจริงๆ ว่าเธอจะยังหลงเหลือความ ‘มั่นใจ’ ในการใช้ชีวิตและการ ‘สร้างสรรค์’ งานศิลปะออกมาได้อีกหรือเปล่า 

 

จะเป็นอย่างไรถ้าคนที่กล้าคิด กล้าสร้างสรรค์ กล้าตีความงานศิลปะเพื่อสร้างแนวทางใหม่ๆ จะได้รับอนุญาตให้วาดได้เพียงแค่ภาพที่ถูกตีกรอบเรื่องความงามและความเหมาะสมที่ ‘ควรจะเป็น’ เอาไว้ 

 

จะเป็นอย่างไรถ้าวันหนึ่งคนที่เคยมีความสุขเมื่อได้อยู่หน้าผืนผ้าใบกลายเป็นต้องสั่นกลัวทุกครั้งที่ถือพู่กันอยู่ในมือ 

 

จะเป็นอย่างไรถ้าคนนั้นยังมีรองเท้าใส่ แต่ไร้ซึ่งความหมายของการมีชีวิต 

 

จะเป็นอย่างไรบ้างนะถ้านายได้ยืนอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น นายจะคิดว่านี่เป็นการ ‘โทรศัพท์ผิดเบอร์’ จากผู้จัดการของพระผู้เป็นเจ้าตัวปลอมที่คอยแกล้งคนอื่นอยู่บ่อยๆ หรือเปล่านะ 

 

ด้วยรักและคิดถึง… อยากให้นายมาอยู่ตรงนี้จริงๆ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: www.thairath.co.th/news/society/1655573

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising