ชื่อ นามสกุล: ปิยวัฒน์ กิตติธเนศวร
อายุ: 30 ปี
สังกัดพรรค: ภูมิใจไทย
เขตการเลือกตั้ง: นครนายก เขต 1 อำเภอเมือง อำเภอปากพลี
การศึกษา: ปริญญาตรีจาก University of Portsmouth
สมาชิกในครอบครัว: ลูกชาย วุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนครนายก หลายสมัย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก และอดีตประธานสภาจังหวัดนครนายก, หลาน สิทธิชัย กิตติธเนศวร อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ปี 2566 มีการเปิดตัว ‘ผู้สมัครหน้าใหม่-เลือดเก่า’ จากหลายพรรคการเมือง สร้างความคึกคักให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ เป็นทางเลือกสดใหม่ให้หลุดพ้นจากความจำเจด้านการเมือง
ขณะที่อีกด้านของเหรียญ ผู้สมัครเหล่านี้คล้ายว่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘การเปลี่ยนมือ’ ของตระกูลนักการเมือง ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือว่าท้องถิ่น เพราะต่อให้เป็นคนหน้าใหม่ แต่ ‘นามสกุล’ ที่คุ้นเคยยังคงติดอยู่บนป้ายหาเสียงไม่เลือนหายไปไหน
อย่างไรก็ตาม การพิพากษาตัดสินไปก่อนล่วงหน้าว่าผู้สมัครหน้าใหม่เป็นเพียงตัวแทนรุ่นถัดไปของครอบครัวบ้านเก่าก็คงไม่ยุติธรรมมากนัก หากยังไม่ได้ทำความรู้จักกับผู้สมัคร ศึกษาทัศนคติ และทำความเข้าใจเลนส์ความคิด-ความเชื่อเกี่ยวกับการเมืองของพวกเขาและเธอ
การลงสนามการแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของผู้สมัครหน้าใหม่-เลือดเก่าเป็นเช่นไร มีความคิดเห็นอย่างไรกับการต่อสู้บนสนามเลือกตั้งที่ถูกแช่แข็งมายาวนานนับทศวรรษ
เมื่อผู้ช่วย ส.ส. ต้องรับผิดชอบงานต่อ
ปิยวัฒน์ กิตติธเนศวร หรือ อ๋อง พาย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่วงการการเมืองของตนเอง โดยภายหลังจากเรียนจบชั้นปริญญาตรีจากประเทศอังกฤษ เขาเดินทางกลับมารับไม้ต่อในการดูแลกิจการธุรกิจโรงแรมและธุรกิจก่อสร้างของที่บ้านก่อน จากนั้นจึงขยับมาช่วยคุณพ่อ วุฒิชัย กิตติธเนศวร ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก
“ที่ตัดสินใจลงการเมือง เพราะช่วงสองปีที่ผ่านมาที่คุณพ่อ (วุฒิชัย กิตติธเนศวร) เริ่มสุขภาพไม่ดี เป็นทั้งโรคหัวใจ โควิด ผ่าตัดบายพาสหัวใจ ทำให้การทำงานทางการเมืองไม่ปะติดปะต่อ เราทำงานเป็นผู้ช่วย ส.ส. อยู่ ก็ออกไปทำงานแทนพ่อทุกเรื่อง ลงมาดูแลเอง ก็ได้เห็นอะไรมากขึ้น”
หลังจากรับผิดชอบหน้าที่ในฐานะผู้ช่วย ส.ส. ได้ไม่นานเท่าไรนัก การแพร่กระจายของโควิดก็พัดพาเรื่องไม่คาดฝันมาหา เมื่อวุฒิชัยติดเชื้อไวรัสและโควิดลงปอด เป็นเหตุให้ต้องพักรักษาตัวในช่วงเวลาหนึ่ง ซ้ำแล้วการตรวจร่างกายภายหลังยังพบว่าวุฒิชัยต้องเข้ารับการผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจอีกด้วย
เมื่อวุฒิชัยจำเป็นต้องเว้นการทำงานในฐานะผู้แทนของชาวนครนายกจากเหตุผลทางสุขภาพ แต่เรื่องร้องเรียนของประชาชนไม่มีวันหยุด ผู้ช่วยอย่างปิยวัฒน์จึงเข้ามารับผิดชอบ เป็นตัวแทนคุณพ่อออกไปทำงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่สิ่งที่ตนเองพอจะทำได้ทันทีอย่างการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานอย่างเรื่องถนนหนทางและแสงสว่าง
โดยหลักแล้วการรับเรื่องร้องทุกข์จะเป็นในลักษณะของการที่ประชาชนเป็นฝ่ายเดินทางมาแจ้งเรื่องเอง และในหลายครั้งประชาชนไม่สะดวกในการเดินทาง ปิยวัฒน์จึงเริ่มมองหาช่องทางในการทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในการแจ้งข้อมูลความเดือดร้อน ผ่านการไลฟ์บนเพจเฟซบุ๊กชื่อ ปิยวัฒน์ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
สร้างช่องทางในการติดต่อที่มากขึ้น
โดยรายการ ปิยวัฒน์ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เป็นรายการไลฟ์ทุกวันศุกร์ช่วงเย็น ที่ทางปิยวัฒน์และทีมงานจะมาคอยรับฟังปัญหาที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ส่งเรื่องร้องเรียนแจ้งความเดือดร้อนเข้ามาระหว่างรายการ แล้วเขาจะเป็นคนกลางในการคอยประสานงานกับหน่วยงานอื่นต่อไป
หรือหลายเรื่องราวที่เขาเล็งเห็นแล้วว่าการประสานงานจะไม่ทันท่วงทีกับการบรรเทาปัญหา ปิยวัฒน์ก็พร้อมนำเงินส่วนตัวมาใช้จ่ายก่อน
“มาจัดรายการ ปิยวัฒน์ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทุกวันศุกร์ หลายเรื่องที่เราประสานงานกับกรมกองต่างๆ หลายเรื่องที่เราช่วยพี่น้องก็ผ่านงบประมาณส่วนตัว มาแก้ไขความเดือดร้อนที่นครนายกอยากให้มันดีกว่าเดิม”
จากเรื่องราวร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับงานบริการโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการประปา ไฟฟ้าแสงสว่าง ในวันที่การแพร่ระบาดรุกคืบหนักเข้ามาในเขตจังหวัดนครนายก ปัญหาที่อยู่ในรายการรับเรื่องร้องเรียนของเขาก็ปรากฏการร้องขอความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การขอให้ประสานงานกับโรงพยาบาล หรือขอยารักษาอาการโควิด
และนี่เป็นอีกครั้งที่หน้าที่ประสานงานไม่สามารถจัดการให้รวดเร็วฉับไวพร้อมรับกับสถานการณ์ ปิยวัฒน์จึงยกระดับความช่วยเหลือเป็นผู้ลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตัวกลางในการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป อย่างที่เขาจัดการปรับรูปแบบของโรงแรมที่เป็นกิจการทางบ้านให้เป็นโรงแรมรองรับผู้ป่วย มีบริการอาหาร 3 มื้อ รวมถึงยังมีการซื้อรถคันใหม่มาดัดแปลงให้เป็นรถรับส่งผู้ป่วยในจังหวัด
เลือกพรรคที่พร้อมพัฒนานครนายก
ด้วยประสบการณ์ที่ได้ลงมือให้ความช่วยเหลือประชาชนในท้องที่อย่างต่อเนื่อง หนึ่งสิ่งที่ปิยวัฒน์ได้เรียนรู้คือข้อจำกัดในการเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจหรือว่าตำแหน่ง เมื่อไม่มีตำแหน่งการทำงานหลายอย่างก็ไม่อาจลุล่วงเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนได้ดังที่ตั้งใจเอาไว้ ปิยวัฒน์ตัดสินใจที่จะก้าวออกจากตำแหน่งผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของคุณพ่อเพื่อก่อร่างสร้างตัวตน เลือกสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยโดยไม่มีการปรึกษากับคุณพ่อแม้แต่น้อย
แล้วเหตุผลเบื้องหลังของการเลือกเดินเข้าพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยอันเป็นต้นสังกัดของวุฒิชัย ณ เวลานั้น (วุฒิชัยย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทยในปี 2565) คืออะไร
คำตอบคือพรรคที่พร้อมจะพัฒนานครนายกให้ดีขึ้น
“ที่เรามาอยู่พรรคภูมิใจไทย เราอยากมาอยู่กึ่งกลางระหว่างความขัดแย้ง เราไม่อยากจะซ้ายจัดดัดจริต เราไม่อยากจะขวาจัดแล้วเป็นฝ่ายค้านทุกครั้ง เราต้องการทำอย่างไรก็ได้ให้นครนายกบ้านเรานั้นมีโอกาสที่ดีกว่าเดิม ซึ่งพรรคภูมิใจไทยตอบโจทย์ครับ”
อีกหนึ่งปัจจัยที่เรียกได้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายก่อนการเลือกพรรคคือช่วงเวลาที่วุฒิชัยติดโควิด มีอาการเชื้อลงปอดรุนแรงจนไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมสภาในการลงมติโหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายในช่วงปี 2564 อันเป็นที่มาของคำกล่าวหาจากพรรคเพื่อไทยว่าคุณพ่อเป็น ‘งูเห่า’ ทั้งที่มีการส่งเอกสารพร้อมรายละเอียดการรักษาไปครบถ้วนก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ชายวัย 30 ปี ยอมรับว่าการลงสนามการเมืองของเขามาเร็วกว่าที่คิดเอาไว้ ภาพชีวิตที่เคยคิดเอาไว้ในตอนแรกของปิยวัฒน์คือรับผิดชอบกิจการที่บ้านจนกระทั่งอายุสัก 40-50 ปี แล้วจึงลองมาลงการเมือง แต่ในเมื่อจังหวะชีวิตทุกอย่างลงตัว นครนายกมีการเพิ่มเขตการเลือกตั้ง จากที่มีเพียงเขตเดียวในปี 2562 ก็เพิ่มมาเป็น 2 เขตในปี 2566 เปิดช่องทางให้เขามีโอกาสได้ทำเพื่อพี่น้องประชาชน ได้เป็นปากเสียงให้พี่น้องประชาชน
ปิยวัฒน์ก็พร้อมในการก้าวลงสู่สนามการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
“เพราะตอนแรกเราไม่มีอำนาจ หลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องการทำก็ไม่สำเร็จลุล่วง การเป็นไอ้อ๋องของพี่น้องประชาชนมันยังทำไม่ได้ ฉะนั้นเราอยากเป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องประชาชนในสภาผู้แทนราษฎร ในหลายสิ่งหลายอย่างที่เราอยากพัฒนานครนายกของเราให้ดีกว่าเดิม มันจำเป็นต้องมีอำนาจ ต้องมีตำแหน่ง ต้องเป็นผู้แทนของชาวจังหวัดนครนายก ไปช่วยเหลือไปคลายทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชนได้”
การลงมือทำ จะลบนามสกุลไปเอง
ในวันที่ปิยวัฒน์ยังลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อพิสูจน์ตัวตนกับประชาชนว่า ‘ไอ้อ๋อง’ พร้อมรับใช้พี่น้อง เวลาเดียวกันเขาก็ยังต้องพิสูจน์ว่า ‘นามสกุล’ ไม่ใช่แต้มต่อทางการเมืองที่ทำให้เขาได้เป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด
ตระกูลกิตติธเนศวรเรียกได้ว่าเป็นตระกูลการเมืองที่อยู่คู่กับจังหวัดนครนายกมาอย่างยาวนาน ทั้งคุณพ่อวุฒิชัยผู้มีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดนครนายกตั้งแต่ปี 2544 และคุณลุงสิทธิชัย กิตติธเนศวร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำนครนายก 3 สมัย (พ.ศ. 2539-2549)
มันก็คงไม่แปลกใจที่คนมองในแง่ลบ และตั้งคำถามว่า ‘กิตติธเนศวร’ อีกแล้วหรือ?
“ส่วนนามสกุลก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ หลายคนก็พยายามปลุกกระแสว่าทำไมจะต้องเป็นกิตติธเนศวรอีกแล้ว เราก็ต้องถามเขากลับไปว่าทำไมเป็นกิตติธเนศวรไม่ได้ล่ะ ในเมื่อคนในตระกูลเรามีคุณภาพ คนในตระกูลเราเสียสละ ในตระกูลเราทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด ก็ต้องถามกลับไปว่าคนเหล่านั้นเขาทำอะไรให้สังคมบ้าง”
ปิยวัฒน์ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำถามคลาสสิกเรื่องการถ่ายโอนอำนาจทางสายเลือด
ดังนั้นในมุมมองของเขานามสกุลจึงไม่ใช่ข้อได้เปรียบ เรียกได้ว่าเป็นความกดดันที่แบกเอาไว้ตั้งแต่แรกก็ยังได้ และต้องใช้เวลาพอสมควรในการสร้างตัวตน แต่ปิยวัฒน์ก็ไม่เคยย่อท้อกับการก้าวบนเส้นทางสายการเมือง อย่างที่เขาทราบหัวใจตัวเองดีว่าเป็นคนที่มีใจรักทางการเมืองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
“ผมเดินหาเสียงตั้งแต่ปี 2544 นะ ตั้งแต่ตัวยังไม่พ้นโต๊ะก็เดินหาเสียงแล้ว เราเป็นคนที่ใจรักการเมืองมาตลอด เมื่อก่อนคุณพ่อไปงานบวช ไปงานแต่ง ขึ้นไปพูดบนเวที ผมยืนข้างๆ โดยตลอดนะ ไปแย่งไมค์เขาพูดบ้าง นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เหมือนเป็น DNA เขาเรียกว่าอะไร เป็นความรัก ความผูกพัน ที่เราลงพื้นที่ไปหาชาวบ้าน ไปช่วยชาวบ้าน”
และในวันนี้ปิยวัฒน์ก็มั่นใจว่าความรักในทางการเมืองของเขาได้พิสูจน์แล้วว่า ตนเองมีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ในฐานะ ‘ไอ้อ๋อง’ ไม่ใช่ ‘ลูกชายเสี่ยอ๋า วุฒิชัย’
คนบ้าที่อยากทำทุกอย่างให้ดี
จุดเด่นในการทำงานของปิยวัฒน์คือเรื่องของการลงมือทำเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนเรียกได้ว่าเป็นคนบ้า ที่เมื่อตัดสินใจอยากทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ ตามความเชื่อส่วนตัวที่ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องที่สืบทอดกันทางสายเลือด การที่คุณพ่อเป็นนักการเมืองไม่ได้หมายความว่าตัวเขาเองจะได้รับตำแหน่งต่อโดยอัตโนมัติ หากเขาต้องการเป็นนักการเมืองที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม เขาต้องลงมือทำเองให้เป็นที่ประจักษ์กับทุกคน
“ผมทำงานแบบที่คนทั่วไปที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนไม่มีใครทำแบบผม อย่างไปถามประชาชนในนครนายกก็ได้ ผมทำงานเหมือนคนบ้า ทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ อะไรที่คิดว่าดีแล้วต้องดันให้สุด การที่เราจะไปทะเลาะกับหน่วยงานบางหน่วยงาน ซึ่งพี่น้องประชาชนเสียประโยชน์ เราก็ต้องทะเลาะครับ บางคนก็ว่าผมบ้า แต่บ้าเพื่อพี่น้องประชาชน”
ตัวอย่างที่ปิยวัฒน์ยกขึ้นมาคือกรณีหนึ่งที่มีพี่น้องในหมู่บ้านเดือดร้อนจากการที่ไม่มีพื้นที่ทิ้งขยะเป็นหลักแหล่งเป็นอย่างมาก ปิยวัฒน์ก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านแรงงานกับประชาชนในท้องที่ เข้าไปเป็นคนเทคอนกรีต เชื่อมเหล็ก ทำหลังคา จนกระทั่งผลงานสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้เขายังอธิบายลักษณะพื้นที่ของนครนายกที่อยู่ในสภาวะยากจน ยังต้องการการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกษตรที่เป็นแหล่งรายได้หลัก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์โควิด หรือว่าจะเป็นส่วนของโรงพยาบาลที่ยังไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่เพียงพอต่ออาการของคนไข้
ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของปิยวัฒน์ในเวลานี้คือเรื่องปากท้อง
“การเมืองในรูปแบบของผมเป็นการเมืองที่ไม่เหมือนคนอื่น การเมืองที่ปรองดอง และเป็นการเมืองที่คนอาจเรียกว่าเห็นแก่ตัวก็ได้ คิดถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลัก ผมไม่เคยพูดถึงประชาธิปไตย ไม่ประชาธิปไตย เราทำอย่างไรก็ได้ครับ ที่พี่น้องประชาชนชาวนครนายกจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการเมืองของเรา…ในวัย 30 ปีผมไม่ได้คิดถึงองค์ประกอบใหญ่ 76 จังหวัด ผมเอาแค่นครนายกบ้านผม แค่นี้เป็นหลักก่อนอันดับแรก”
การอยู่เบื้องหน้ามันเหนื่อย แต่ยังสู้ไม่ถอย
ต่อให้มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจเต็มร้อย บางครั้งระหว่างช่วงเวลาการหาเสียงที่เข้มข้นขึ้นทุกวันมันก็ยังคงเจือไปด้วยความเครียดจากการที่ต้องระวังการกระทำของตนเอง ที่บางครั้งเป็นเรื่องของความตั้งใจดีแต่อาจผิดกฎหมายการเลือกตั้ง อย่างที่ปิยวัฒน์ใช้คำว่า “บางสิ่งถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง บางสิ่งถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ”
เช่นการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่บางรูปแบบก็ทำไม่ได้ในช่วงการเลือกตั้งเพราะจะผิดกฎ หรือว่าจะเป็นการหาเสียงที่มีข้อจำกัดทั้งเรื่องช่วงเวลาการใช้เสียง อุปกรณ์การหาเสียง และเรื่องรูปแบบของเวที
จนปิยวัฒน์ก็ยอมรับว่าเขาเคยแอบคิดถึงชีวิตการเป็นผู้ช่วย ส.ส.
“มันก็เป็นความรู้สึกที่ว่าบางทีการที่เราทำงานเบื้องหลังอาจจะสนุกกว่าก็ได้ เพราะตอนนี้มีขอบเขตของกฎหมาย ทำให้เราทำอะไรมากไม่ได้ การที่เป็นผู้ช่วย (ผู้ช่วย ส.ส.) ทำงานให้พ่อ กลายเป็นว่าสนุกกว่าอีก การมาลงเองมันเครียดนะ” ปิยวัฒน์รำพึง
อ่อนน้อม ถ่อมตน ทำงานในระนาบเดียวกัน
แม้ว่าอายุจะยังน้อย หากด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นชายร่างใหญ่ ไว้หนวดเครา หากเห็นในจังหวะแรกอาจเกิดความคิดในเชิงลบหรือไม่น่าเข้าหา แต่ปิยวัฒน์ก็ขอแก้ความเข้าใจผิดว่า โดยเนื้อแท้แล้วตนเองเป็นคนไม่ถือเนื้อถือตัว เจอใครก็พร้อมเข้าไปพูดคุย กอดทักทาย และมักใช้การไหว้เป็นเครื่องหมายการค้า
“ผมไหว้หมดทุกคน ไหว้ไม่มีขาดทุน ไหว้ใครก็ได้ เราไปไหนมาไหนก็ให้ความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่เป็นจุดขายตั้งแต่เล็กจนโต หลายคนพูดมาโดยตลอดว่าผมเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เจอพี่น้องประชาชนคนไหนก็จะไหว้ไปก่อน”
ประกอบกับการมองพี่น้องประชาชนเป็นคนในครอบครัว ไม่ได้มองว่าตนเองนั้นเป็นลูกคนใหญ่คนโต มักมองตัวเองเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่นั้น พร้อมที่จะเข้าไปพูดคุย รับฟังปัญหาและให้ความช่วยเหลือ
“เราก็ทำตัวเป็นลูกเป็นหลาน พวกเขาเป็นลุงเป็นป้าเป็นอา ผมเป็นคนที่ตอนเกิดโควิด ผมยกเชือกข้ามไปเยี่ยมทุกเตียง ไปโรงพยาบาลสนาม ซึ่งหลายคนยังตกใจว่าเราถึงเนื้อถึงตัว จับไม้จับมือ แล้วเราไม่ติดโควิดด้วยนะ เป็นจุดขายของผมเลยเรื่องการที่เราเจอใครแล้วคุยกับเขาได้หมดทุกเพศทุกวัย กอดกันเฮฮา”
ถึงจะมีบ้างที่เหนื่อยล้าแต่ไม่เคยคิดถอย อย่างที่ปิยวัฒน์มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะเป็นข้อพิสูจน์ให้กับตัวเองว่า การทำงานที่ผ่านมาเพื่อพี่น้องประชาชนนั้นเป็นเช่นไร พวกเขาจะให้ความไว้วางใจในการทำงานต่อไปหรือไม่
“ก็คิดว่าพร้อมสุดในชีวิตแล้วนะ ถือว่าเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต และเป็นโอกาสที่ดีที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมมากที่สุด”
ของมูฯ ของอ๋อง
“ห้อยพระครับ แต่บอกไม่ได้ว่าพระองค์ไหน”
เรื่อง: จามาศ โฆษิตวิชญ
ภาพ: พีระพล บุณยเกียรติ