×

ปิยบุตร ชี้ 5 ลักษณะ ‘การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หวังหาทางออกร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

โดย THE STANDARD TEAM
16.08.2020
  • LOADING...

วันนี้ (16 สิงหาคม) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า บรรยายในหัวข้อ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า การบรรยายครั้งนี้สืบเนื่องจากการชุมนุมที่กลุ่มนักศึกษามีข้อเรียกร้องในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือเรื่องของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั่นก็เพื่อธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เคียงคู่กับประชาธิปไตย

 

ทั้งนี้นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เป็นต้นมา ประเด็นเกี่ยวอำนาจของสถาบันกษัตริย์มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ไม่นิ่ง เลื่อนไหลตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บริบทเวลา แต่กระทั่งวันนี้ได้กลายเป็นอัตลักษณ์ในรัฐธรรมนูญไทยเรียบร้อย ซึ่งไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ชอบหรือไม่ชอบ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือคำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ได้ถูกสถาปนาแล้วโดยฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ทว่าเราก็ไม่เคยได้รับคำอธิบาย โดยในทัศนะตนอยากชวนทำความเข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งเราต้องแยกเป็นเรื่องรูปแบบของรัฐกับระบอบการปกครอง โดยประเทศไทยนั้น ตำแหน่งประมุขของรัฐคือพระมหากษัตริย์ที่มาจากการสืบทอดทางสายโลหิต ดังนั้นรูปแบบของรัฐย่อมเป็นราชอาณาจักร ขณะที่ระบอบการปกครอง เราใช้ระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนตามระบอบนี้ ก็ไม่ได้ทำให้รูปแบบของรัฐเปลี่ยนไปแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ปิยบุตรกล่าวอีกว่า อยากชวนพิจารณาคำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในนี้มีสองประโยค ประโยคหลักคือ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ และมีอนุประโยคคือ ‘มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ โดยมีคำว่า ‘อัน’ เป็นคำเชื่อม ดังนั้นจากรูปประโยคนี้ แน่นอนว่าประโยคแรกคือระบอบประชาธิปไตยย่อมต้องเป็นหลัก การมีองค์ประกอบคือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นต้องไม่ทำลายประชาธิปไตย ในความเห็นตน ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ 

 

ลักษณะที่ 1 ประสานแต่ละองค์ประกอบเข้าด้วยกันคือ ราชอาณาจักร ประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา สามอย่างนี้รวมกันเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ลักษณะที่ 2 คือหลักการ The king can do no wrong พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรผิด เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรเลย นายกรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารประเทศ ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้เพราะประมุขของรัฐไม่ว่าจะประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน กรณีของประธานาธิบดีจะดำเนินคดีตอนดำรงตำแหน่งไม่ได้ ต้องพ้นจากตำแหน่งก่อน ในส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต ไม่มีวันพ้นตำแหน่ง ก็ดำเนินคดีไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นการกระทำทางสาธารณะจึงต้องกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องไม่ได้ทำอะไรด้วยพระองค์เอง แต่คนรับสนองพระบรมราชโองการเป็นคนทำ เป็นคนรับผิดชอบ เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ทั้งนี้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของพระมหากษัตริย์ต้องมีเงื่อนไข 4 ประการดังต่อไปนี้เกิดขึ้น จึงจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ 


1. จะไม่กระทำการใดๆ ตามลำพังโดยพระองค์เอง แต่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง
2. ไม่มีการแบ่งแยกว่าการกระทำใดเป็นของพระมหากษัตริย์ และการกระทำใดเป็นของรัฐบาล
3. ไม่มีใครรู้ว่าพระมหากษัตริย์คิดอะไร การให้คำแนะนำต่างๆ ต้องทำโดยลับ รัฐบาลต้องไม่นำมาอ้างหรือเปิดเผย
4. พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ ต้องให้คณะรัฐมนตรีรู้เห็น เพราะเป็นคนรับผิดชอบ

 

ลักษณะที่ 3 จะต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจขอบเขตได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และคนสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นก็คือประชาชน พระมหากษัตริย์ต้องเคารพและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดังนั้นกองทัพที่รัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญแล้วไปให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรอง เท่ากับว่ากำลังบีบบังคับให้พระมหากษัตริย์ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ กำลังบีบบังคับพระมหากษัตริย์ให้ทำผิดรัฐธรรมนูญ

 

ลักษณะที่ 4 โลกสมัยใหม่ เรื่องของโองการสวรรค์หรือความเป็นสมมุติเทพนั้นเป็นเรื่องเก่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยใหม่นั้นเป็นมนุษย์ ความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมอบให้ต้องเกิดโดยสมัครใจ ไม่ใช่บังคับ

 

ลักษณะที่ 5 พระมหากษัตริย์ไม่ใช่เจ้าของประเทศ แต่เป็นพระมหากษัตริย์ของประชาชนทุกคน เป็นประมุขของรัฐ แต่ไม่ใช่เจ้าของประเทศทั้งหมด ประเทศเป็นของประชาชนทุกคน ดังนั้นต้องมีการแบ่งแยกบทบาท บุคคล ทรัพย์สินของตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับบุคคลที่ไปเป็นพระมหากษัตริย์ออกจากกัน เราจึงมีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

 

ทั้งนี้ ปิยบุตรกล่าวเพิ่มเติมว่าข้อเสนอ 10 ข้อที่นิสิตนักศึกษาปราศรัยนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เชื่อว่ามีคนจำนวนมากไม่เห็นด้วย ติดใจกับท่าทีการแสดงออก แต่เราไม่สามารถย้อนกลับไปลบเหตุการณ์นี้ได้ ดังนั้นถามว่าต้องบริหารจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรเพื่อธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยให้ได้ ตนเห็นว่า

ข้อ 1 แก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นตามที่เคยเสนอไป คือยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองประกาศคำสั่ง คสช. ให้ชอบรัฐธรรมนูญ, ยกเลิกมาตรา 269-272 บทเฉพาะกาล ส.ว., แก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภารัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จากนั้นก็ยุบสภาให้มีการเลือกตั้ง 

ข้อ 2 ประเด็นปัญหาสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกพูดถึงแล้ว ถ้าได้ติดตามความคิดของนิสิตนักศึกษาก็พบว่ามีมาอย่างต่อเนื่องมาก่อน ดังนั้นการจัดการมีแค่ 2 ทางคือ ทางเลือกแรก กำจัดให้หมดสิ้นไป กับทางเลือกที่สอง คือยอมรับ รับฟัง และนำมาเป็นประเด็นสาธารณะให้ถกเถียงกันได้

 

“ผมเห็นว่าทางเลือกแรกไม่มีทางจัดการปัญหาได้ ทำได้แต่เพียงให้คนเห็นต่างหายไปช่วงหนึ่ง และท้ายที่สุดก็วนกลับมาที่เดิม ซึ่งไม่เป็นคุณต่อใครทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นการฆ่าอนาคตของชาติ ผมเห็นว่าทางเลือกที่ถูกต้องคือทางเลือกที่สอง ต้องเป็นเรื่องที่อภิปรายได้เหมือนประเด็นอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม ต้องสามารถอภิปรายได้ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความรัก เคารพ จริงใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ทั้งหมดนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เคียงคู่กับระบอบประชาธิปไตย จึงอยากส่งเสียงไปถึงฝ่ายอนุรักษนิยม ชนชั้นนำจารีตประเพณี รอยัลลิสต์ ฝ่ายกษัตริย์นิยมที่มีเหตุผล มีสติปัญญา ไม่ได้บ้าคลั่ง เราต้องช่วยกัน อย่าให้มีใครหยิบยกนำพาเรื่องเหล่านี้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นต่อคนในชาติ อยากให้ช่วยกันส่งเสียงหน่อย เสียงของท่านจะช่วยประคับประคองบ้านเมืองนี้ให้ไปต่อได้ เพราะถ้าไม่ออกมาเลย ฝ่ายคลั่ง ฝ่ายกระหายเลือด จะผลักประเด็นนี้ให้เป็นความขัดแย้งของคนในชาติ ให้เป็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับคนอีกรุ่นหนึ่ง” ปิยบุตรกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X