×

ปิยบุตร ขอรัฐสภาไม่ปิดประตูรับฟังเสียงร่างแก้ รธน. ฉบับประชาชน ชี้จำเป็นต้องมีกลไกป้องกันรัฐประหาร ศาล รธน. ต้องถูกถอนได้

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2021
  • LOADING...
ปิยบุตร แสงกนกกุล

วันนี้ (16 พฤศจิกายน) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ริเริ่มในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. อภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา นำเสนอหลักการและเหตุผลในการขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution ในส่วนของการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และการลบล้างผลพวง รวมถึงการป้องกันรัฐประหาร และข้อเสนอเพิ่มเติมในเรื่องบทบาทหน้าที่ของฝ่ายค้าน และบทบาทของสภาผู้แทนราษฎร โดยร่างกฎหมายของกลุ่ม Re-Solution เสนอให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว โดยขอให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คงเหลือไว้เพียงสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จึงจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น จึงขอเพิ่มเติมบทบาทหน้าที่ของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น ขอให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อยหนึ่งท่านจะต้องมาจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน ประธานคณะกรรมาธิการสามัญในคณะที่มีการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินอย่างน้อย 5 คณะจะต้องยกตำแหน่งนี้ให้กับ ส.ส. ฝ่ายค้าน ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติได้ทุกชนิดโดยไม่จำกัดหมวดหมู่

 

ในส่วนที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระนั้นมาจาก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังมีผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกหลายท่าน และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอีกหลายคนที่มาจากความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในอดีตที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจที่ผ่านมา ดังนั้นท่านจะมาพูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระมีความเป็นกลาง พูดให้ตายประชาชนก็ไม่เชื่อ

 

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ขอปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญให้มีที่มา โดยให้ ส.ส. รัฐบาล ส.ส. ฝ่ายค้าน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมาฝ่ายละ 6 คน รวมเป็น 18 คน ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาคัดเลือกเหลือ 9 คน ใช้มติ 2 ใน 3 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความถ่วงดุล เพราะมาจากตัวแทนรัฐบาล ฝ่ายค้าน ศาลฎีกาฝ่ายละ 3 คน 

 

นอกจากนี้ยังขอให้แก้ไขเรื่องอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้เหลือเฉพาะเรื่องร่าง พ.ร.บ. ใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ การขัดแย้งระหว่างองค์กรเท่านั้น และให้ยกเลิกอำนาจการตรวจสอบเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงให้มีระบบถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ แต่ไม่ใช่ให้ถอดถอนกันง่ายๆ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ต้องกังวลว่า ส.ส. จะครอบงำศาลรัฐธรรมนูญ แต่ออกแบบให้มีการถ่วงดุล

 

ในส่วนของการล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่รับรองคำสั่งและการกระทำของ คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สร้างหลุมดำและรอยด่างพร้อยให้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาทำรัฐประหารกันจนเป็นประเพณี คิดว่าถ้ายึดอำนาจสำเร็จจะไม่มีวันถูกลงโทษ ดำเนินคดี จึงเป็นที่มาของการทำให้การรัฐประหารเป็นโมฆะ ไม่มีการนิรโทษกรรม จะต้องถูกดำเนินคดี ป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารอีก ถ้ามีคนทำรัฐประหารถูกดำเนินคดี จะไม่มีใครคิดทำรัฐประหารอีก 

 

ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการออกแบบสร้างกติกาเป็นกลาง ไม่ใช่เขียนกติกาเฉพาะคนชนะ กำราบฝ่ายแพ้ให้ราบคาบ ไม่เห็นเหตุผลที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นชอบร่างแก้ไขฉบับประชาชน หากสมาชิกให้ความเห็นชอบวาระ 1 ความเห็นที่แตกต่างกันยังมีโอกาสปรับปรุงในวาระ 2 และถ้าผ่านวาระ 3 ไปได้ ก็ยังมีหนทางร้องศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญยังอีกยาวนั้น แต่อย่างน้อยให้ลงมติรับวาระหลักการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปิดประตูรับรับฟังร่างภาคประชาชน เพื่อให้ได้ศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับรองรัฐประหาร หรือก่อวิกฤตการเมือง มีองค์กรอิสระที่เป็นกลาง รวมถึงคนทำรัฐประหารต้องถูกดำเนินคดี 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X