วานนี้ (19 กรกฎาคม) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติ 395 เสียงต่อ 317 เสียง ไม่ให้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ อีกรอบในสมัยประชุมนี้ว่า ผลการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาวันนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตำแหน่งประธานรัฐสภาในช่วงเวลาที่มาตรา 272 ยังคงอยู่กันแล้ว
ผลการลงมติวันนี้ไม่เพียงกระทบต่อการเลือกพิธาในรอบที่ 2 แต่ยังกระทบไปถึงการลงมติครั้งหน้าในการเสนอชื่อแคนดิเดตจากเพื่อไทยด้วย
“ต่อไปนี้ ส.ว. และพันธมิตรสามพรรค พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ มีอำนาจต่อรองกับเพื่อไทย ว่าหากครั้งหน้าเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยมาโดยที่ยังยึด 8 พรรคและมีก้าวไกลอยู่ พวกเขาก็จะไม่ลงคะแนนให้แคนดิเดตจากเพื่อไทย ทำให้เพื่อไทยและพันธมิตร 8 พรรคอาจไม่กล้าเสี่ยงในการแบกก้าวไกลไว้อีกต่อไป”
ปิยบุตรระบุอีกว่า เพราะหากเสนอคนของเพื่อไทยแล้วไม่ผ่านก็อาจเป็นญัตติซ้ำ หรือจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นจากเพื่อไทยอีก หากพวกเขารวมหัวกันคว่ำอีกก็จะกลายเป็นญัตติซ้ำไปเรื่อยๆ จนแคนดิเดตหมดสต๊อก หากเป็นเช่นนั้นประตูของพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เปิดกว้างขึ้น
“หาก ปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นประธานรัฐสภาวันนี้ ผมมั่นใจว่าเขาจะกล้าใช้อำนาจประธานยืนยันว่าการเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ หรือต่อให้ลากไปเป็นญัตติซ้ำ แต่ก็มีข้อยกเว้นในข้อ 41 ตอนท้ายว่า เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เสนอซ้ำได้
นอกจากนี้ปิยบุตรยังระบุถึงการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาว่า จะต้องกล้าหาญนำข้อยกเว้นตอนท้ายของข้อ 41 มาใช้ ถ้าไม่อยากให้ข้อ 41 กลายเป็นค้อนทุบ 8 พรรค
ปิยบุตรระบุว่า ในการประชุมรัฐสภาวันนี้ ประธานรัฐสภาไม่ยอมใช้อำนาจวินิจฉัยทั้งๆ ที่มีความเห็นของนักกฎหมายจำนวนมากและความเห็นของฝ่ายกฎหมายประจำสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลังพิงให้ ผลที่ออกมาก็คือ ส.ว. และ ส.ส. ฝั่ง 188 คน ร่วมกันลากไปจนทำให้เป็นญัตติ ไม่สามารถเสนอนายกฯ ชื่อซ้ำได้
และล่าสุดประธานรัฐสภาเพิ่งให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมครั้งหน้า วันที่ 27 กรกฎาคม จะเสนอชื่อพิธาไม่ได้แล้วในเมื่อถูกลากกันไปเป็นญัตติแล้ว
“ผมหวังว่าในการประชุมสัปดาห์หน้า ประธานรัฐสภาจะกล้าหาญใช้อำนาจของตนเอง นำข้อยกเว้นที่บัญญัติในตอนท้ายของข้อ 41 มาใช้ เพื่อวินิจฉัยว่ามีกรณีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประธานรัฐสภาสามารถเสนอญัตติที่มีหลักการอย่างเดียวกันเข้ามาใหม่ได้ในสมัยประชุมเดียวกัน
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อพิธา แต่เพื่อป้องกันมิให้ ส.ว. + ส.ส. 188 คน เอาข้อ 41 มากดดันให้ 8 พรรคแตก ด้วยการขู่ว่าแม้เปลี่ยนเป็นแคนดิเดตเพื่อไทย แต่ถ้ามีก้าวไกลร่วมรัฐบาลใน 8 พรรค ก็จะไม่โหวตให้ แล้วพวกเขาก็จะรวมหัวโหวตคว่ำเรื่อยๆ เป็นญัตติซ้ำเรื่อยๆ จนรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ฝั่ง 8 พรรคหมดสต๊อก บีบให้ 8 พรรคแตก และพรรคก้าวไกลต้องถูกเตะไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะชะตากรรมของ 8 พรรครัฐบาลในฝันของประชาชนร่วม 27 ล้านคนอยู่ในมือของประธานรัฐสภา”
อ้างอิง:
- เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล