วันนี้ (14 มกราคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (13 มกราคม) ถึงแนวคิดให้กรุงเทพมหานครใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อวัคซีนสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จำนวน 8 ล้านคน ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง เช่น ที่เทศบาลนครนนทบุรีและเทศบาลนครแหลมฉบัง ที่จะจัดหาวัคซีนให้ประชาชนในเขตของตนเอง โดยระบุว่าข้อคิดเห็นดังกล่าวถือเป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน เป็นความหวังดีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามาถจัดการได้ภายใต้กรอบกฎหมายและระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง
พิธาระบุว่า ตนอยากให้เราย้อนกลับมาฉุกคิดตรงนี้ว่าแท้จริงแล้วผู้ที่มีงบประมาณเหลือมากที่สุดและมีหน้าที่โดยตรงในการจัดการปัญหานี้คือใครกันแน่ สำหรับตนเห็นว่าเป็นหน้าที่อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของรัฐบาลไทย
พิธาระบุอีกว่า หากได้ติดตามการทำงานของ ส.ส. เอกภพ เพียรพิเศษ ที่เป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกล อภิปราย พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 หรือเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว จะเห็นได้ว่าพรรคก้าวไกลเสนอให้รัฐบาลไทยจัดงบประมาณ 67,000 ล้านบาทเอาไว้เพื่อจัดหาวัคซีน บนพื้นฐานของหลักการว่าจะต้องฟรีสำหรับประชาชนทุกคน ‘Vaccine For All’
เมื่อวานนี้เอกภพก็ได้ลงรายละเอียดประเด็นนี้เพิ่มเติมว่าการแยกกันจัดการ/จัดหาจะยิ่งเพิ่มภาระทางการเงินการคลังของแต่ละท้องถิ่น และยังส่งผลต่อการบริหารจัดการแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนทั้งประเทศอย่างเป็นธรรมตามหลักการทางการแพทย์ด้วย
เพราะวัคซีนโควิด-19 นั้นไม่ใช่ส่วนเสริมให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นแบบใครจะทำเพิ่มหรือไม่ทำก็ได้เหมือนกับการสร้างหอชมเมืองที่แต่ละท้องถิ่นตัดสินใจเลือกเองว่าจะเอางบประมาณไปทำอะไร แต่นี่เป็น ‘ความจำเป็น’ ในสถานการณ์วิกฤตที่ทุกคนจะต้องได้ฟรี เหมือนกับวัคซีนอื่นๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขฉีดให้ประชาชนฟรีอยู่แล้ว เช่น วัคซีนวัณโรค คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ ฯลฯ (โดยความคาดหวังว่าวิถีชีวิตจะกลับสู่ปกติโดยเร็ว เพื่อให้การทำมาหากินของประชาชนกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด แต่วัคซีนโควิด-19 ก็เป็นเพียงการใช้ในภาวะฉุกเฉินหรือ Emergency Use Approval เท่านั้น ซึ่งหมายความต้องมีระบบติดตามและวางแผนยุทธศาสตร์ในการฉีดที่ดีมาก และต้องเป็นเอกภาพ)
ไม่นับว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดในประเทศไทยยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะจัดซื้อวัคซีนให้ประชาชนในเขตตนเองหรือไม่ เพราะมีอีกหลายแห่งที่ขาดงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีน กลายเป็นว่าจะมีบางแห่งที่ประชาชนได้วัคซีน บางแห่งไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณ กลายเป็นระบบ ‘มือใครยาวสาวได้สาวเอา’
ดังนั้นหากเรามองในภาพใหญ่ทั้งประเทศ เป็นการดีที่สุดที่จะต้องยึดตามหลักการเดิมไว้ นั่นคือให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยในการใช้งบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนที่ตนเองมีเหลือใช้อยู่แล้วเพื่อจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพสำหรับประชาชนทุกคนในประเทศนี้
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือรัฐบาลเปิดเผยแผนว่าจะมีการจัดหาวัคซีนให้เพียงครึ่งหนึ่งของประชากรไทยเท่านั้น และมีท่าทีสนับสนุนให้ท้องถิ่นจัดซื้อหาวัคซีนกันเอง เท่ากับว่าประชาชนไทยอีกครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพิงกับแต่ละท้องถิ่นว่าจะทำหรือไม่ทำ” พิธากล่าว
ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศนั้น พิธาเห็นว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขเพื่อร่วมกันจัดการกระจายวัคซีนไปยังประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากหน่วยงานเหล่านี้มีข้อมูลประชาชนในพื้นที่ละเอียดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ
และบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ก็คือการช่วยเหลือ เยียวยา สนับสนุนประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันของประชากร ทั้งอาชีพ วัย ลักษณะการใช้ชีวิต ฯลฯ ที่ย่อมมีความต้องการช่วยเหลือแตกต่างกัน ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดการงบประมาณตรงนี้ได้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนได้ดี เพราะใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า ท่ามกลางมาตรการของรัฐบาลที่ยังไม่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักมากเพียงพอต่อความต้องการ ซ้ำร้ายยังไม่ครอบคลุมแรงงานในระบบด้วยซ้ำไป
“สุดท้าย ผมขอฝากความหวังดีไปยังคุณชัชชาติและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมทั้งพ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกคนว่าเราต้องอย่าหลงลืมทวงบทบาทหน้าที่สำคัญของรัฐบาลในวิกฤตครั้งนี้ อย่าปล่อยให้รอดจากความรับผิดชอบหลักของตัวเองไปได้ เรื่องงบประมาณไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอให้ประชาชนทุกคน เราเองต้องไม่ปล่อยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควักเงินจ่ายกันเอง เอื้อให้รัฐบาลสร้างระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาเช่นนี้” พิธากล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์