เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The New York Times เผยแพร่บทความสัมภาษณ์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล โดยมีเนื้อหาบอกเล่าถึงตัวตน ครอบครัว และแรงบันดาลใจทางการเมืองของพิธา ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตลอดจนแนวคิดและคำมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในไทย ท่ามกลางความท้าทายและเส้นทางที่ยังไม่แน่นอนในการก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
บทความดังกล่าวเขียนโดย ซุยลีวี (Sui-Lee Wee) หัวหน้าแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ The New York Times โดยระบุว่าในช่วงที่พิธาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 2008 เขาได้ติดตามเพื่อนร่วมชั้นชาวอเมริกันที่กำลังช่วยหาเสียงให้กับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งถือเป็นการเปิดประสบการณ์ทางการเมืองและการเลือกตั้งของเขา
จากนั้น 15 ปีต่อมา เขาได้นำสิ่งที่เรียนรู้ เช่น วิธีวางแผนกลยุทธ์ในการหาเสียงหรือการใช้ข้อมูลเพื่อเข้าถึงประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งนำความสำเร็จและชัยชนะครั้งสำคัญมาสู่พรรคก้าวไกล
ผู้เขียนบทความชี้ว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รู้จักขั้วการเมืองแค่ 2 ฝ่าย คือฝ่ายอนุรักษนิยมและทหาร และฝ่ายมหาเศรษฐีนักประชานิยมที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดน ซึ่งคาดว่าหมายถึงอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
โดยผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลมองว่าพิธา วัย 42 ปี เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงและการกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย ภายหลังการปกครองกว่า 9 ปีของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพิธาให้คำมั่นว่าจะเอาทหารออกจากการเมืองและแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 และหากการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีประสบผลสำเร็จ เขายืนยันว่าจะรีเซ็ตนโยบายต่างประเทศของไทย ด้วยแนวคิดการไม่อยู่ใต้อิทธิพลของจีนหรือสหรัฐฯ
“สิ่งที่ผมต้องทำตอนนี้คือการหาโรดแมปที่เชื่อมช่องว่างระหว่างประชาธิปไตยที่ยังใช้งานได้กับประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ ในช่วงท้ายของการปกครองตลอด 9 ปี โดยคณะรัฐประหาร” พิธากล่าว
อย่างไรก็ตาม บทความได้ชี้ถึงความไม่แน่นอนของเส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของพิธา โดยมีความท้าทายทั้งการรวบรวมเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. ให้ได้เกิน 376 เสียง หรือกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา ขณะที่ ส.ว. หลายคน แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่สนับสนุนแนวคิดของพิธา
นอกจากนี้ผู้เขียนบทความยังระบุถึงกรณีที่พิธาถูกร้องเรียนกรณีไม่เปิดเผยว่ามีหุ้นในบริษัทสื่ออย่าง ITV ที่เลิกกิจการไปแล้ว โดยพิธาปฏิเสธว่าเขาได้รายงานเรื่องหุ้นต่อ ป.ป.ช. แล้ว
ทั้งนี้ พิธาเชื่อว่ามีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่ยังคง ‘รู้สึกผิดชอบชั่วดี’ และเข้าใจผลที่ตามมาของการต่อต้านคนไทยทั้ง 25 ล้านคนที่ลงคะแนนเสียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
บทความยังชี้ว่าพิธาสร้างชื่อเสียงและความนิยมจากการเป็นนักปราศรัย และชนะใจประชาชนด้วยสุนทรพจน์และภาพลักษณ์ที่สวยงามของเขา
พิธายังกล่าวถึงบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจทางการเมือง ซึ่งเขาชื่นชม โฆเซ อัลเบอร์โต เปเป มูฮิกา คอร์ดาโน (José Alberto “Pepe” Mujica Cordano) อดีตประธานาธิบดีอุรุกวัย ซึ่งถูกทรมานและคุมขังในช่วงที่ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร
ขณะที่ผู้เขียนบทความยังบอกเล่าถึงกระแสความนิยมในตัวพิธา ทั้งคลิปไวรัลใน TikTok ที่มีหญิงไทยจัดพิธีแต่งงานจำลองโดยมีคัตเอาต์เป็นรูปพิธา
โดย ดันแคน แมคคาร์โก ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน กล่าวถึงพิธาว่า “สำหรับชนชั้นกลางจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวไทยชนชั้นกลางระดับสูง เขาเป็นเหมือนลูกเขยในอุดมคติที่คุณอยากมี มีการศึกษาสูง ประสบความสำเร็จ ดูดี มีสง่าราศี”
อ้างอิง: