×

“วัฒนธรรมมีไว้ให้ปลดปล่อย ไม่ได้มีไว้ให้กดขี่” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวถึงการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยในงานเปิดตัว แมนสรวง

22.08.2023
  • LOADING...
แมนสรวง

เมื่อค่ำวานนี้ (21 สิงหาคม) ทาง THE STANDARD POP ได้มีโอกาสสอบถาม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงเรื่องการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยขณะที่เข้าร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง แมนสรวง รอบปฐมทัศน์ โดยเขาได้ตอบคำถามนี้ว่า

 

“สิ่งที่องค์การภาพยนตร์ไทยมีอยู่แล้วก็คือเรื่องเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่ต้องการก็คือการสนับสนุนจากทางรัฐบาล แล้วก็เรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการของกองถ่าย อย่างเรื่อง แมนสรวง ได้ยินมาว่าเนื้อเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตอนต้นของรัตนโกสินทร์ มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง กับสังคม 

 

“ความคิดสร้างสรรค์มีแล้ว และในขณะเดียวกันผมเข้าใจว่ากองนี้ เวลาปีกแรงงานของพรรคก้าวไกลพูดถึงบางทีก็ไปถึง 18 ชั่วโมง 20 ชั่วโมงก็มีใช่ไหมครับ

 

“แต่ของที่นี่ตั้งใจว่าถ้าจะให้คุณภาพของภาพยนตร์ออกมาดีได้ สวัสดิการของกองถ่ายต้องดีก่อน ก็เข้าใจว่าจำกัดอยู่ที่ 12 ชั่วโมง ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เหมือนกับกระดุมเม็ดแรกที่จะทำให้ภาพยนตร์ไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว มีทั้งเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการด้วย แล้วก็มีเรื่องของการสนับสนุนด้วย

 

“ในขณะเดียวกันอีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจก็คือเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือว่าเรื่องเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ เมื่อกี้ก่อนมาก็ได้คุยเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ

 

“ทางฝั่งของพรรคก้าวไกล ทางฝั่งของภาคประชาชน และก็ที่ ครม. เคยทำค้างไว้ เรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญครับ เพราะว่าถ้าจะให้เราสามารถมีความคิดสร้างสรรค์ได้ Freedom of Speech หรืออิสรภาพในการคิด ในการแสดง ในการทำเพลง ในการทำหนังสั้น ในการเขียน มันต้องมีเยอะก่อน เมื่อเรามีความอดทนอดกลั้นในความเห็นที่แตกต่างได้ อย่างนี้เท่านั้นที่จะทำให้วัฒนธรรมไทยได้ถูกปลดปล่อย วัฒนธรรมมีไว้ให้ปลดปล่อย ไม่ได้มีไว้ให้กดขี่ ขอบคุณนะครับ”

 

ภาพ: สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากคำตอบของพิธาจะพบว่าปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่คนทำภาพยนตร์ออกมาเรียกร้องกันอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเรื่องของสวัสดิการแรงงาน และจำนวนชั่วโมงการทำงานที่หนักหน่วง

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ที่พวกเขาเผชิญนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องที่กล่าวไปข้างต้น แต่ประเด็นสำคัญซึ่งเปรียบเสมือนประตูด่านสุดท้ายของการทำงานก็คือ ‘การเซ็นเซอร์’ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่าเรื่องนี้ได้สร้างผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ของวงการภาพยนตร์ไทยอยู่เสมอ เช่น การแบนฉากพระร้องไห้ในภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 หรือจะเป็นการที่ภาพยนตร์สารคดีอย่าง เอหิปัสสิโก เกือบจะถูกสั่งห้ามฉาย เนื่องจากนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งของวัดพระธรรมกาย และล่าสุดคือ หุ่นพยนต์ ที่ถึงจะตัดทอนเนื้อบางส่วนออก ภาพยนตร์ก็ยังคงได้เรต ฉ 20+ หรือเรตสูงสุด (ต้องตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าโรง) ซึ่งหลายคนต่างก็ตั้งข้อสงสัยว่าคณะกรรมการใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสิน

 

ปัญหาทั้งหมดนี้ยังคงเป็นสิ่งที่รอการแก้ไขจากรัฐบาล และหวังว่าวันหนึ่งผู้มีอำนาจจะให้พื้นที่แก่พวกเขาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ตีกรอบว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควร แต่ให้ผู้ชมเป็นคนตัดสินเอง นอกจากนี้ เรื่องของชั่วโมงการทำงานก็ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับค่าแรงที่เป็นธรรมด้วย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X