×

พิธาสรุปบทเรียนเยือนเกาหลีใต้ มองประชาธิปไตยและเสรีภาพคือรากฐานของความสร้างสรรค์ ซอฟต์พาวเวอร์ต้องมีทั้งไฮเทค-ไฮทัช ไม่ใช่แค่อีเวนต์

โดย THE STANDARD TEAM
10.12.2023
  • LOADING...
SOL Bar Talk

วานนี้ (9 ธันวาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นแขกรับเชิญร่วมเสวนา SOL Bar Talk ครั้งที่ 25 หัวข้อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในมุมมองพิธา เกาหลี-อเมริกา-ฮอดอีสาน 

 

พิธากล่าวว่า เหตุผลที่ตนเดินทางไปเกาหลีใต้ เนื่องจากโจทย์การพัฒนาประเทศด้วยซอฟต์พาวเวอร์ที่ประเทศไทยกำลังพูดถึง ผนวกกับจุดเริ่มต้นที่ตนต้องการไปหาความรู้และแรงบันดาลใจจากประเทศที่ต่อสู้กับเผด็จการมา 40 ปี และสามารถพัฒนากลายเป็นประเทศประชาธิปไตยและมีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เข้มแข็ง 

 

วีระยุทธเสนอว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าพรสวรรค์ระดับบุคคล นโยบายของรัฐต้องทำหลายระดับไปพร้อมกัน ตั้งแต่ระดับรากฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพ ระดับกลางเรื่องกลไกสนับสนุนวิชาชีพ จนถึงการใช้ระบบดิจิทัลเก็บข้อมูลความสำเร็จความล้มเหลวของแต่ละโครงการ 

 

พิธาเห็นว่าพื้นฐานของความสร้างสรรค์คือเสรีภาพ โจทย์สำคัญที่สนใจคือเกาหลีใต้มีประสบการณ์คล้ายกับประเทศไทย แต่สามารถหลุดออกจากวงจรเผด็จการได้อย่างไร 

 

เมื่อไปถึงเกาหลีใต้ ตนเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ย่านมหาวิทยาลัยยอนเซที่เก็บรักษาเสื้อผ้าและของใช้ของอีฮันยอล นักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและถูกแก๊สน้ำตายิงที่ศีรษะจนเสียชีวิต เนื่องจากในอดีตประเทศเกาหลีใต้ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการหลายสิบปี แต่เพราะการต่อสู้ไม่ยอมจำนนของประชาชน จึงได้รับเสรีภาพและประชาธิปไตยในทศวรรษ 1987 ก่อนจะก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงในเวลาต่อมา

 

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นในปี 1996 ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีสั่งยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายเซ็นเซอร์ ปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ให้งอกงาม ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่อยากชวนทุกคนดูคือ A Taxi Driver ที่ถ่ายทอดเหตุการณ์การต่อสู้และการสลายการชุมนุมที่เมืองกวางจู สะท้อนเสรีภาพของสังคมเกาหลีใต้ที่สามารถทำภาพยนตร์เล่าเรื่องราวในอดีตซึ่งเป็นความทรงจำอันเจ็บปวดได้

 

ตนยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น Korea Creative Content Agency (KOCCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนภาคเอกชนอย่างค่ายเพลงและสถานีโทรทัศน์ SBS โดยประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลขยายความว่า ใน KOCCA จะมีสำนักงานกฎหมายคอยสนับสนุนคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น ด้านกฎหมายแรงงาน ลิขสิทธิ์ โดยบทเรียนสำคัญจาก 20 ปีของ KOCCA คือ ‘การเขียน’ เป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ ภาพยนตร์แต่ละเรื่องของเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับทีมเขียนบทเป็นพิเศษ เพื่อเฟ้นหาพล็อตเรื่องที่ดีที่สุด นอกจากนั้น KOCCA ยังใช้เครื่องมือทางดิจิทัลและวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนา เช่น ใช้ Big Data เพื่อสำรวจว่าคอนเทนต์แบบไหนที่จะเข้าถึงและได้รับความนิยมจากประชาชนในแต่ละประเทศ พร้อมกันนี้ พิธาย้ำว่าซอฟต์พาวเวอร์ต้องการโครงสร้างพื้นฐานและต้องใช้เวลา การทำอีเวนต์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ

 

การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องให้ความสำคัญกับผู้คนในวิชาชีพอย่างทั่วถึง บทเรียนที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งของเกาหลีใต้คือความพยายามเปิดให้คนทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น ผู้กำกับ นักข่าว สามารถเข้าถึงกลไกสินเชื่อด้วยทักษะทางวิชาชีพ เอื้อให้ศิลปินสามารถทำคอนเทนต์ได้เรื่อยๆ กล่าวคือ ศิลปินลงแรง แต่รัฐเป็นผู้ลงทุนให้ จึงไม่อยากให้ประเทศไทยมองอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่านการทำอีเวนต์เชิงกายภาพ (Physical Event) เป็นหลัก เพราะเกาหลีใต้เน้น Digital Content ตั้งแต่เริ่ม ทั้งเพื่อลดต้นทุนการโฆษณาและเพื่อเก็บข้อมูลความสำเร็จความล้มเหลวของแต่ละงานอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ KOCCA ยังมีแง่มุมเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะมีการกระจายหน่วยงานไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ตามจุดเด่นของแต่ละเมืองที่ต่างกัน

 

วีระยุทธเสนอว่าการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม (Hi-Tech) ไปพร้อมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Hi-Touch) จะยิ่งเสริมพลังให้กันและกัน เพราะการผลิตอุปกรณ์ที่ทันสมัยและความสามารถในการพัฒนาอุปกรณ์ภายในประเทศเองย่อมสามารถยกระดับคุณภาพการถ่ายทำและผลงานของศิลปินได้ บริษัทอุตสาหกรรมอย่าง Samsung, Hyundai, Daewoo และผลงานสร้างสรรค์อย่าง K-Pop, K-Drama เป็นเหรียญสองด้านที่ต่างส่งเสริมพลังให้กันและกัน โดยฝั่งอุตสาหกรรมเป็นทั้งแหล่งเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนให้กับวงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในขณะที่ศิลปินก็ช่วยส่งเสริมความนิยมของสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดโลก 

 

จากนั้นพิธากับวีระยุทธพูดคุยถึงศักยภาพของวัฒนธรรมอีสานในการเชื่อมต่อกับโลก โดยพิธาเสริมว่าวัฒนธรรมอีสานมีความสนุก เข้าถึงสามัญชน มีหมอลำอย่างวง Paradise Bangkok Molam ที่ทำให้คนฟังรู้สึกร่วมกันได้ แม้แต่ชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษา ด้านวีระยุทธกล่าวว่าตนเป็นแฟนคลับของ Rasmee Isan Soul ทำให้มองเห็นศักยภาพในการนำเพลงอีสานมาปรับเข้ากับอาหารและเครื่องดื่มได้ หากกินอาหารไทยแล้วแทนที่จะดื่มไวน์ก็เปลี่ยนเป็นสาโทอีสานและฟังเพลงจังหวะแบบอีสานสากล ตรงนี้จะเป็นโจทย์ในเชิงศิลปะและเป็นช่องทางสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X