พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ในวันนี้ (18 กรกฎาคม) โดยกล่าวว่า ตนยินดีที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางการเดินหน้าแผนปฏิรูปต่างๆ ที่ทางพรรคได้เสนอไว้ แต่ถึงเช่นนั้นก็จะไม่ยอมถอยจากนโยบายของพรรคที่เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ Reuters พิธาเผยว่า กองทัพพยายามจะสกัดเขา ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ แต่ประเทศไทยได้เดินมาสู่ยุคใหม่ ซึ่งประชาชนปรารถนาที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง
สำนักข่าว Reuters ได้นำเสนอข่าวดังกล่าว พร้อมกับบรรยายด้วยว่า รัฐสภาของไทยเตรียมที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศเป็นรอบที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (19 กรกฎาคม) ซึ่งจะชี้ชะตาว่าพิธาจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ หลังผลการลงมติรอบแรกที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมร่วมนัดแรกของรัฐสภามีมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ ให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีตัวแปรสำคัญคือ การลงคะแนนเสียงของ ส.ว. ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารหลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2014
“มันเป็นไปตามคาด สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเหมือนเดิม สถานที่เดิม มันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ความรู้สึกแห่งยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว” พิธากล่าว
“ไม่ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น สังคมก็ได้เดินไปข้างหน้าแล้ว พวกเขาต้องการสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่สดใหม่”
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลสร้างเซอร์ไพรส์เป็นพรรคที่สามารถคว้าที่นั่ง ส.ส. ไปได้มากที่สุด โดยมีฐานเสียงกลุ่มใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้พรรคหน้าใหม่นี้เอาชนะพรรคอนุรักษนิยมที่มีประวัติมายาวนานบนเส้นทางการเมืองไทยได้สำเร็จ ซึ่ง Reuters ระบุว่า เป็นความเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนปฏิเสธการปกครองโดยรัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังอยู่มานานเกือบทศวรรษ
ในช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลชูประเด็นทลายทุนผูกขาด ยุติการเกณฑ์ทหาร และเอาทหารออกจากการเมือง ซึ่งล้วนแต่เป็นนโยบายที่ฮือฮาและจุดกระแสให้เกิดการถกเถียงกันในสังคมไทย แต่ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดนั้นคือการเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ‘ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี’
พิธากล่าวว่า เขาพร้อมที่จะยืดหยุ่น และท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับมติของรัฐสภา แต่พรรคของเขาจะไม่ยอมถอยจากวาระการปฏิรูปเพียงเพราะต้องการให้เส้นทางการก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นราบรื่น
พิธายืนยันว่า การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างภัยคุกคามให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้มีการดึงสถาบันฯ มาเกี่ยวโยงกับเรื่องทางการเมือง อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่า กฎหมายนี้ไม่ควรถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หลังมีประชาชนหลายร้อยคนถูกตั้งข้อหาจากกฎหมายฉบับนี้
“ผมยังคงยึดมั่นในคำสัญญาที่ให้ไว้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สถาบันฯ อยู่เหนือการเมือง นั่นคือทางเลือกเดียวสำหรับการปกครองในประเทศนี้” พิธากล่าว “ผมคงมองหน้าพวกเขาไม่ติดหากผมถอยจากประเด็นนี้”
ภาพ: Reuters
อ้างอิง: