วันนี้ (24 มกราคม) ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจาในคดี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถูกร้องว่าถือครอง 42,000 หุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ITV) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน อันเป็นเหตุให้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
ต่อมาตั้งแต่เวลา 14.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย และพิธาเดินทางมาฟังคำวินิจฉัยด้วยตนเอง โดยสรุปคำวินิจฉัยเบื้องต้นศาลเห็นว่า
รัฐธรรมนูญห้ามการถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้าม โดยไม่ได้บอกว่าต้องถือมากน้อยหรือมีอำนาจครอบงำหรือไม่ การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวก็ถือว่ามีการถือหุ้นแล้ว เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ ย่อมหมายความว่าการถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวก็ถือว่าเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแล้ว
ปรากฏชื่อพิธาถือหุ้น ITV 42,000 หุ้น และในเอกสารไม่ได้ระบุว่าเป็นการถือหุ้นในฐานะใด แต่เป็นการถือหุ้นในชื่อตนเอง ตามเอกสารหลักฐาน
ข้อต่อสู้ของพิธาที่บอกว่า ตนเองไม่ได้ถือหุ้นไว้เพื่อตนเอง แต่เป็นการถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก ศาลมองว่าพิธายังอยู่ในฐานะทายาทที่มีสิทธิรับมรดกด้วย จึงอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้น ITV ด้วย
ปี 2566 พิธามาโอนหุ้นทางทะเบียน ถือว่าเป็นการดำเนินการคลาดเคลื่อนที่ไม่ทำให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2562 มากระทำภายหลังได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่
จึงถือว่าพิธายังถือหุ้น ITV ในวันที่รับสมัครเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ ในบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล
ศาลมองว่า ITV ระบุว่าเป็นการประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์ แต่บริษัทหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ปี 2550 เพราะไม่มีพนักงาน และสำนักงานประกันสังคมยังขึ้นสถานะว่าหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว และยังระบุในเอกสารรอบปิดบัญชีด้วยว่า ไม่ได้ดำเนินกิจการ หมายเหตุประกอบงบการเงินระบุว่า ITV เคยประกอบกิจการสื่อ แต่ สปน. ยกเลิกกิจการ และต้องหยุดดำเนินการอื่นๆ ไปด้วย รวมถึงไม่มีรายได้
การที่ผู้บริหาร ITV ระบุว่า การที่ระบุในเอกสารว่ายังประกอบกิจการ ไม่ได้หมายความว่าจะประกอบกิจการอยู่ และหากชนะคดีต้องพิจารณาว่าจะประกอบกิจการสื่อหรือไม่ ก็เป็นเรื่องอนาคต
ศาลระบุว่า ข้อพิพาทคดีดังกล่าว แม้ชนะคดีก็ไม่อาจได้คลื่นความถี่กลับมา เพราะถูกยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550
ศาลมองว่า ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อในวันที่รับสมัคร สส. จึงไม่ขาดคุณสมบัติ และไม่ต้องพ้นจาก สส.