วันนี้ (12 มกราคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สัปดาห์ก่อน ตนได้อภิปรายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยสรุปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมและข้อเสนอที่รัฐบาลควรจะทำทันที แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ ที่เป็นรูปธรรมออกมา ในขณะที่หลายครอบครัวกำลังยากลำบากมาก และทุกๆ วันกำลังรอคอยนโยบายที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่พวกเขา แต่เมื่อรัฐบาลไม่ยอมดำเนินการ ตนจึงขอนำข้อเสนอมาตรการเยียวยาที่พรรคก้าวไกลได้ศึกษา และจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมจากสัปดาห์ที่แล้วมาให้ โดยหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจ และเห็นใจความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการพร้อมใช้ที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้ได้ทันที ดังนี้
1. ทบทวนมาตรการการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดโดยเร่งด่วน ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ระดับการติดเชื้อ ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย รวมถึงต้องคำนึงถึงประเภทสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดในแต่ละจังหวัด ให้มีมาตรการเยียวยาที่สอดคล้อง และสมเหตุสมผลกับแต่ละสถานที่
2. เร่งช่วยเหลือถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน (สำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นข้าราชการ) เพื่อเป็นโครงข่ายรองรับทางสังคม ให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหา อย่างถ้วนหน้า และพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้
3. เยียวยาเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากเป็นพิเศษจากโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐ
3.1 ต้องมีมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าเช่าให้ประชาชน ในจังหวัดที่ถูกควบคุมในระดับเข้มงวดสูงสุด
3.2 ชดเชยสถานประกอบการที่ถูกขอความร่วมมือให้หยุดกิจการราว 6,098 แห่ง ใน 28 จังหวัดที่ถูกสั่งปิด เพิ่มจาก 50% เป็น 75% ใช้งบเพิ่ม จาก 2,321 ล้านบาทเพิ่มเป็น 3481.5 ล้านบาท โดยสามารถตั้งต้นงบประมาณไว้ราว 4,000-5,000 ล้านบาท เพราะอาจมีสถานประกอบการที่มาลงทะเบียนเพิ่ม
3.3ควรมีมาตรการพยุงการจ้างงานสำหรับธุรกิจที่รายได้ลดลงในช่วงโควิด-19 โดยมุ่งเน้นจังหวัดที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก เช่น 5 จังหวัดแดงเข้มและกรุงเทพฯ เสนอให้ใช้เกณฑ์การพิจารณาให้ โดยดูจากรายได้/การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง ชดเชยที่ 50-75% โดยมีเพดานไม่เกิน 7,500 บาทต่อราย
3.4 ต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้เช่าไม่ให้ถูกให้ออก โดยอาจมีกฎหมายพิเศษห้ามบังคับไล่ผู้เช่าออกในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมาก และให้รัฐบาลไปเยียวยาผู้ให้เช่า เช่น พิจารณาลดภาษีที่ดิน
4. สำหรับภาคธุรกิจ รัฐบาลควรต่อสายป่านของธุรกิจที่อาจขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์ที่คลี่คลายช้าลง โดยต้องมีโครงการ Soft Loan และพักชำระหนี้ไปสูงสุด 2 ปี ซึ่งอาจใช้โมเดลแบบการฟื้นฟูช่วงที่เกิดสึนามิ ด้วยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารและธนาคารของรัฐ
พิธากล่าวต่อว่า มาตราการเยียวยาทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นได้จริง และทำได้อย่างเร่งด่วน โดยจะหางบประมาณได้จากการ
1. โยกงบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังเหลืออยู่ ใช้สำหรับเยียวยา รวมแล้วจะมีงบยังไม่ได้ใช้จากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเหลืออยู่ราว 467,000 ล้านบาท งบกลางเหลืออยู่ราว 139,000 ล้านบาท
2. เกลี่ยก่อนที่จะกู้ เมื่อมีสถานการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกรอบ ก็ควรรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดที่มี รวมถึงการโยกงบปี 2564 ในส่วนที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพื่อนำไปเป็นกระสุนสำหรับการฟื้นฟูในระยะถัดไป ก่อนที่จะคิดกู้เงินเพิ่ม ประสบการณ์จากการโยกงบปี 2563 พบว่าหน่วยงานรัฐสามารถหั่นงบตัวเองได้เมื่อยามจำเป็น โดยไม่กระทบเป้าหมายเดิม สำหรับปี 2564 ที่งบประมาณเพิ่งเริ่มใช้มาไม่ถึง 3 เดือน จะโยกงบได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท
“มาตรการเหล่านี้คิดมาโดยละเอียดรอบคอบ บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางการคลังทั้งสิ้น หากท่านเป็นรัฐบาลของประชาชน ก็ไม่ควรรั้งรอที่จะดำเนินการใดๆ เพราะเวลานี้หลายครอบครัวและหลายกิจการเหมือนมือกำลังเกาะขอบเหว ไม่รู้ว่าจะอดทนได้อีกแค่ไหน ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของประเทศนี้จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยพวกเขาบ้าง” พิธากล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์