×

พิธาเยือนปีนัง ถอดบทเรียนสร้างอุตสาหกรรมไฮเทค ชี้ไทยติดหล่มพัฒนาไม่ทันโลก

โดย THE STANDARD TEAM
18.09.2022
  • LOADING...

วันนี้ (18 กันยายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางไปเมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อเข้าพบ Chow Kon Yeow มุขมนตรี ผู้นำฝ่ายบริหารรัฐปีนัง และเข้าร่วมประชุมกับสภาอุตสาหกรรมรัฐปีนังและสถาบัน Penang Institute ซึ่งเป็นสถาบันการวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐปีนัง

 

พิธากล่าวว่า วาระในการเยือนปีนังในครั้งนี้คือการตามหาอนาคตให้กับอุตสาหกรรมไทยและเศรษฐกิจภาคใต้ของประเทศไทย หลายคนอาจทราบอยู่แล้วว่าปีนังที่เคยเป็นท่าเรือส่งออกดีบุกและยางพาราของไทยมานับร้อยปี จนทุกวันนี้ไทยไม่เหลือดีบุกแล้ว เหลือแต่ยางพารา แต่ปีนังที่ผูกพันกับภาคใต้ของไทยมายาวนานได้ยกระดับตัวเองเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมไฮเทคระดับโลกไปแล้ว มีสมญานามว่า ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ แห่งตะวันออก

 

“ผมเลือกมาปีนังเป็นที่แรกๆ หลังจากประกาศวิสัยทัศน์ ‘จากน้ำสะอาดสู่ชิปคอมพิวเตอร์’ เพราะปีนังมีความ ‘เหมือน’ และความ ‘ต่าง’ กับประเทศไทย ที่ทำให้ผมเชื่อว่าการสร้างอุตสาหกรรมอนาคตที่ไฮเทคให้กับเมืองไทยยังเป็นไปได้” พิธากล่าว

 

ในส่วนความเหมือน พิธาขยายความว่าอยู่ที่ความสำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E&E สำหรับปีนัง อุตสาหกรรม E&E มีมูลค่าการส่งออกปีละ 3 ล้านล้านบาท จ้างงาน 300,000 คน สำหรับประเทศไทย E&E ก็สำคัญมากเช่นกัน ด้วยมูลค่าส่งออกปีละ 2 ล้านล้านบาท จ้างงาน 750,000 คน ซึ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ไทยและปีนังเริ่มสร้างมา 40 ปีก่อนเหมือนกัน เริ่มสร้างจากการเป็นฐานการประกอบชิ้นส่วนที่มูลค่าเพิ่มต่ำ และเน้นแข่งขันกับโลกด้วยราคาแรงงานที่ต่ำ แต่เมื่อจีนและเวียดนามเปิดประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ทั้งไทยและปีนังสูญเสียศักยภาพการแข่งขันเรื่องค่าแรงไปช่วงหนึ่งเลย

 

แต่สิ่งที่แตกต่าง พิธากล่าวว่า คือการที่ปีนังสามารถที่จะปรับตัว ยกระดับอุตสาหกรรม และคว้าโอกาสจากสงครามการค้าและวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์จนสามารถดึงนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมาได้อย่างมหาศาล จนในปี 2564 การลงทุนในปีนังเติบโตถึง 440 เปอร์เซ็นต์ สามารถกลับมาเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมไฮเทคระดับโลกได้อีกครั้ง มีโครงการลงทุนที่เป็นข่าว เช่น การลงทุนโรงงานประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ของ Intel มูลค่า 2.5 แสนล้านบาท

 

“สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปมาเลเซียก็คืออิเล็กทรอนิกส์ สินค้าส่งออกอันดับ 1 จากมาเลเซียมาไทยก็อิเล็กทรอนิกส์เหมือนกัน มาเลเซียเป็นผู้ผลิต Magnetic Disk มาผลิตเป็น Hard Disk Drive ส่งให้ไทยไปขายทั่วโลก แต่ถ้าเราจะยังเชื่อมโยงกันมากขึ้นต่อไปในอนาคต ประเทศไทยก็ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความเร็วของบริการภาครัฐ กฎระเบียบภาครัฐ และศักยภาพบุคลากร เพื่อให้ตอบโจทย์นักลงทุนไฮเทค” พิธากล่าว

 

ทั้งนี้ พิธาได้พูดถึงหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของปีนังว่าอยู่ที่การพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม เพราะนโยบายส่งเสริมการลงทุนของปีนังนับว่ามีความจำกัด เนื่องจากปีนังไม่สามารถกู้เงินได้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง และมาตรการดึงดูดการลงทุนก็มีข้อจำกัด เพราะรัฐบาลกลางพยายามดึงการลงทุนไปลงที่รัฐอื่นเช่นกัน

 

“ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ปีนังเป็นศูนย์กลางความเจริญของมาเลเซียมานับร้อยปีจากการเป็นท่าเรือปลอดภาษีของอาณานิคม เมื่อมาเลเซียรวมประเทศและได้เอกราช รัฐบาลกลางพยายามสร้างกัวลาลัมเปอร์เป็นศูนย์กลางขึ้นมาแทนปีนัง และยกเลิกสถานะท่าเรือปลอดภาษีของปีนังในปี 2512 ทำให้ปีนังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดวิกฤตสมองไหล การว่างงานพุ่งสูงถึง 15% ในปี 2515 ปีนังจึงได้พยายามรื้อฟื้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จได้ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีข้อจำกัดมากมายในการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต แต่ผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ได้ดังที่ปีนังสามารถทำได้ครับ” พิธากล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising