×

เลือกตั้ง 2566 : สรุปประเด็น ‘หุ้น ITV’ กับความไม่กังวลของพิธาในสนามเลือกตั้ง

โดย THE STANDARD TEAM
10.05.2023
  • LOADING...

กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2566 ทั้งๆ ที่เหลือเพียง 4 วัน ประชาชนจะได้เข้าคูหากาบัตร เลือกผู้แทนของตัวเองไปบริหารประเทศ

 

กับกรณี ‘การถือหุ้นสื่อ ITV’ ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล

 

THE STANDARD สรุปเป็นข้อๆ ไล่เรียงไทม์ไลน์และเหตุการณ์ จนถึงวันนี้ว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเรื่องนี้แล้วบ้าง

 

  1. วานนี้ (9 พฤษาคม) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยว่าตรวจสอบพบข้อมูลที่น่าเชื่อว่าพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

 

  1. เรืองไกรบอกว่าใช้เวลาตรวจสอบเรื่องนี้ 5 วัน และเสียค่าใช่จ่ายไปหลายพันบาท

 

  1. เรืองไกรระบุว่า การตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบข้อมูลของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยังมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ยังดำเนินกิจการอยู่

 

  1. เรืองไกรยังพบข้อมูลอีกว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการรับจ้างโฆษณาและประชาสัมพันธ์ทุกชนิด ทุกประเภท มีรายได้ปี 2565 รวม 21 ล้านบาท และมีรายได้ปี 2564 รวม 24 ล้านบาท โดยบริษัทมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน 2566

 

  1. วันเดียวกัน พิธาทวีตข้อความระบุว่า ต่อกรณีหุ้น ITV ไม่มีความกังวล เพราะไม่ใช่หุ้นของตน เป็นของกองมรดก ตนเพียงมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ป.ป.ช. ไปนานแล้ว พร้อมย้ำว่าทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต. ส่งคำร้องมา

 

  1. พิธาบอกอีกว่าเรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัดพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการทลายทุนผูกขาดในประเทศนี้ เพราะขณะนี้พรรคก้าวไกลมาแรงที่สุด ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกสกัด แต่ขอให้ผู้สมัคร ทีมงาน หัวคะแนนธรรมชาติ และประชาชนผู้สนับสนุนทุกคน อย่าหวั่นไหว อย่าเสียสมาธิกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ตนขอให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรจะมาขัดขวางก้าวไกลเราได้อีกแล้ว

 

  1. ในเวลาต่อมา นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 17 คลองสามวา พรรคภูมิใจไทย และอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า กรณีพิธาคล้ายกับกรณีตนเอง แม้จะระบุว่าเป็นเพียงผู้จัดการมรดก แต่ในเอกสารพบ พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ บิดาของพิธาเสียชีวิตในปี 2549 มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 3 คน หนึ่งในนั้นคือพิธา

 

  1. นิกม์ระบุว่า การที่พิธาอ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งตามกฎหมายทายาทเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกจากผู้เสียชีวิต ดังนั้นหุ้น ITV จะต้องตกเป็นของทายาทในสัดส่วนเท่าๆ กัน ย่อมหมายความว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้น ITV จำนวน 14,000 หุ้น

 

  1. นิกม์ตั้งข้อสังเกตว่า พิธาจะอ้างว่ามิใช่เจ้าของหุ้นไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้สละมรดกแต่อย่างใด อีกทั้งการสละมรดกจำต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเจ้าพนักงาน หรือสัญญาประนีประนอม ประการสำคัญหากพิธาสละมรดกจริง ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้

 

  1. พิธาให้สัมภาษณ์สื่อและ THE STANDARD อีกครั้งว่าหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นของกองมรดกที่ตนเองเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น และเชื่อว่าจะไม่ซ้ำรอยกับธนาธรอย่างแน่นอน มั่นใจได้เลย

 

  1. เช้าวันนี้ (10 พฤษภาคม) อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรีอ Thai PBS ชี้แจงถึงกรณีนี้ว่า จากรายงานประจำปี 2565 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) สถานะของบริษัท​​หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ ITV ตั้งแต่เวลา 00.00 น. วันที่ 7 มีนาคม 2550 สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)

 

  1. อนุพงษ์ระบุอีกว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Delist ถอดหุ้น ITV จากการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 และการรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับ สปน. (อ่านต่อได้ที่นี่: https://thestandard.co/itv-clarification-out-of-business-since-2007/)

 

  1. เช้าวันเดียวกันนี้ เรืองไกรเดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าพิธามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ⁣หรือไม่

 

  1. เรืองไกรระบุอีกว่า ตนได้ไปตรวจสอบการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของพิธาระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ส. ก็ไม่พบว่ามีการแจ้งหุ้นดังกล่าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงได้ไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบว่าพิธาแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จหรือไม่ด้วย

 

  1. ด้าน นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเดียวกับเรืองไกรที่ยื่นตรวจสอบ ออกมาระบุว่า พิธาน่าจะรอดเรื่องนี้ ใครอยากรู้รายละเอียดไปอ่านคำสั่งศาลฎีกา คดีแดงที่ ลต สสข.ที่ 24/2566 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ระหว่าง ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้ร้อง กับ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ผู้คัดค้าน ก็พอจะมีประเด็นให้คิดต่อได้

 

  1. นิพิฏฐ์ระบุว่า ตนเองไม่ค่อยชอบพิธาเท่าไรหรอก ถ้าจะว่าไปก็แค่พูดเก่ง หน้าตาหล่อ ส่วนการทำงานการเมืองมองว่าเกินครึ่งที่พูดทำไม่ได้หรอก แต่เรื่องกฎหมายมันไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล มันมีเพียงการอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกันเท่านั้นเอง

 

  1. ด้าน สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า คดีพิธาถือหุ้นสื่อ ITV 42,000 หุ้น จะอ้างเรื่องการเป็นผู้จัดการมรดกตั้งแต่บิดาเสียเมื่อปี 2549 ผ่านมา 17 ปียังไม่ได้แบ่งมรดก ก็ยังปฏิเสธการเป็นผู้ถือหุ้นไม่ได้ โดยยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ที่บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ดังนั้นการที่พิธาอ้างว่าไม่ใช่หุ้นของตน เป็นกองมรดก ตนเพียงมีฐานะผู้จัดการมรดกนั้นจึงไม่ถูกต้อง

 

  1. สมชายระบุเหตุผลด้วยว่า พิธาคือหนึ่งในทายาทโดยธรรม หุ้นนั้นตกเป็นของพิธาและทายาทอื่นด้วยทันทีที่บิดาเสียชีวิต และพิธาแสดงตนรับโอนหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกแล้ว การเป็นเจ้าของหุ้นในส่วนของพิธาจึงสมบูรณ์แล้ว รวมถึงบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แจ้งว่ายังประกอบกิจการอยู่และมีรายงานแสดงผลของกิจการไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไรก็ตาม ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอื่นได้ว่าพิธาเป็นผู้ถือหุ้น ITV ที่เป็นสื่อมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีธนาธรถือหุ้นสื่อมวลชน วี-ลัค มีเดีย ทำให้ขาดคุณสมบัติและถูกตัดสิทธิทางการเมือง

 

  1. ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน-นักแปลชื่อดัง ระบุว่า มาตราเจ้าปัญหาคือรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) เจตนารมณ์ของมาตรานี้ก็คือไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. ใช้สื่อในมือตัวเองสร้างอิทธิพล โปรโมตตัวเองหรือชักจูงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

  1. สฤณีระบุอีกว่า สิ่งที่ทำให้มันเป็นมาตราเจ้าปัญหา คือใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่ายดาย ก็คือมาตรานี้ใช้ทั้งคำว่า ‘เจ้าของ’ และคำว่า ‘ผู้ถือหุ้น’ ทั้งที่ในความเป็นจริงลำพังการเป็นแค่ผู้ถือหุ้นรายย่อย (ถือหุ้น 0.001% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท เป็นต้น) ไม่ได้ทำให้ใครมีสิทธิสั่งการบริษัทสื่อนั้นๆ ให้ทำตามความประสงค์ได้

 

  1. สฤณีระบุด้วยว่า ถ้าศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะใช้กฎหมายข้อนี้ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็ต้องดูว่าบริษัทที่ผู้สมัครถือหุ้นอยู่นั้นทำสื่อจริงๆ หรือไม่ และผู้สมัครรายนั้นถือหุ้นในสัดส่วนมากพอที่จะสั่งบริษัทสื่อนั้นๆ หรือมีอำนาจควบคุมหรือไม่ (ข้อนี้ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบ เช่น ตำแหน่งกรรมการ) อ่านต่อได้ที่ (https://www.facebook.com/SarineeA/posts/pfbid02pRvziTZV3L9LaJXC25fZ8oWvJNsUTd7BCPz9NYZYMC82eWio55hXwHFLgirECLFvl)

 

  1. วันนี้พิธาให้สัมภาษณ์สื่ออีกครั้งระหว่างลงพื้นที่หาเสียง ย้ำว่า ในทางกฎหมายไม่มีอะไรต้องกังวล เราประเมินไว้ก่อนแล้วว่าในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจะมีการนำเรื่องนี้มาดิสเครดิตหวังผลทางการเมือง เพื่อลดทอนความเชื่อมั่นต่อตนและพรรคก้าวไกล นี่คือเจตนาที่แท้จริงของผู้ร้องมากกว่าการหวังผลทางกฎหมาย ดังนั้นขอให้ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลไม่ต้องเป็นกังวล เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของตน แต่คือเรื่องของทุกคนที่อยากเห็นประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

หมายเหตุ: THE STANDARD รวบรวมและเรียบเรียง ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2566

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X