×

“เป็นไปตามระบบเสียที” หวัง ‘เลือกพิธาเป็นพิธี’ ครั้งสุดท้าย

07.08.2024
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

HIGHLIGHTS

  • 5 ปีกับชีวิต ‘นักการเมือง’ ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้นำพาพรรคสีส้ม พรรคการเมืองที่มีอายุไม่ถึงทศวรรษ เข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาลมากที่สุด ย้ำจุดยืนทางออกมาตรา 112 ควรจบที่รัฐสภา ยืนยัน ‘ไม่ได้ทะเยอทะยาน’ เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
  • พิธาระบุว่า องค์กรอิสระควบคุมนักการเมือง แล้วใครคือผู้ที่ควบคุมองค์กรอิสระ ไม่ว่าพรรคไหนก็ไม่ควรต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินว่าควรอยู่หรือไปในสารบบการเมืองไทย พรรคการเมืองเกิดจากประชาชน ก็ควรดับสิ้นด้วยมือประชาชน
  • พิธาระบุว่า ไม่ว่าผลคดียุบพรรคจะเป็นอย่างไร ขอให้พิธาและพรรคก้าวไกลเป็นครั้งสุดท้าย และให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบเสียที 

ขณะที่ผู้อ่านกำลังอ่านบทความฉบับนี้อยู่ ทุกคนล้วนทราบผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่าอนาคตของพรรคก้าวไกล รวมถึงอนาคตของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ผู้นำพรรคก้าวไกล ผู้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่บนหน้าฉากการเมืองไทย ด้วยการนำพรรคการเมืองที่มีอายุไม่ถึง 1 ทศวรรษชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 นั้นเป็นอย่างไร

 

THE STANDARD สนทนาพิเศษครั้งสำคัญกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ณ ห้องประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ในสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 โซนกลาง อาคารรัฐสภา ถึงเส้นทางชีวิตนักการเมืองตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จากอดีต ปัจจุบัน จนถึงก้าวใหม่ต่อไปของเขาร่วมกับพรรคก้าวไกลหลังจากนี้

 

พิธาเริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองเมื่อปี 2561 ด้วยการเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เขาก้าวสู่เส้นทางนักการเมืองอาชีพด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลำดับที่ 4 ของพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 และจบลงด้วยการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในปี 2566 ผู้พาพรรคส้มเข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาลมากที่สุด แต่ก็ไปถึงฝั่งฝัน ทั้งยังต้องปิดฉากชีวิตการเมืองลงในวันนี้

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สนทนากับ THE STANDARD 

ภายในห้องประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ในสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 โซนกลาง อาคารรัฐสภา

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

 

อาชีพ ‘นักการเมือง’ ของพิธา

 

พิธาบอกเล่าเกี่ยวกับอาชีพนักการเมืองของตนเองว่าเป็นอาชีพที่ไม่คิดว่าจะทำนาน โดยวางแผนชีวิตไว้ว่าจะอยู่บนเส้นทางนี้ประมาณ 10 ปี ขณะนี้ผ่านมาแล้วครึ่งทาง แม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบและมีข้อผิดพลาด แต่ก็ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่สามารถหาเรียนได้จากห้องเรียนหรือจากหนังสือที่เตรียมตัวเป็นนักการเมืองได้ โดยจะนำประสบการณ์ต่างๆ ในช่วง 5 ปีแรกมาพัฒนาการเมืองไทยในอีก 5 ปีที่เหลือ ด้วยการสร้างการเมืองให้ดีที่สุด ก่อนที่จะส่งต่อบ้านเมืองให้กับคนรุ่นต่อไป

 

ตัวผมเองก็ไม่ได้คิดว่า

จะต้องเป็นนักการเมือง เป็นอาชีพไปเรื่อยๆ 

จนอายุ 80-90 ปี ไม่ได้คิดอย่างนั้น

 

พิธากล่าวว่า การเมืองนั้นเหมือนพริวิเลจ มีอภิสิทธิ์ แต่ก็ใช่ว่าใครที่อยากจะมาทำอาชีพนี้ก็จะสามารถทำได้ทุกคน บุคคลนั้นจะต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วย 

 

“5 ปีที่ผ่านมา อะไรคือสิ่งที่ผิดพลาดและรู้สึกเสียดายมากที่สุด ได้บทเรียนอะไรจากสิ่งนั้นบ้าง” THE STANDARD ถาม 

 

พิธาครุ่นคิดครู่หนึ่งก่อนจะตอบกลับมาว่า “เสียเวลาที่อยู่กับลูก” เขาให้เหตุผลพร้อมบอกเล่าความรู้สึกว่าตัวเองยังบริหารเวลาได้ไม่ดี โดยหวังที่จะใช้เวลาอีก 5 ปีที่เหลือในการบริหารเวลา เป็นทั้งหัวหน้าพรรคและหัวหน้าครอบครัว ได้ดูแลลูกไปพร้อมๆ กัน 5 ปีที่ผ่านมาลูกก็ยังเล็กอยู่ แต่ตอนนี้ลูก 8 ขวบแล้ว และตนเองก็สุขภาพแข็งแรงแล้ว เชื่อว่าจะสามารถบาลานซ์ทุกอย่าง ทำหน้าที่ในฐานะผู้นำทางการเมืองในอีก 5 ปีที่เหลือได้อย่างเต็มที่

 

 

พิธาสวมบทบาท ‘Solo Dad’ โอบอุ้ม ‘พิพิม ลิ้มเจริญรัตน์’ 

บุตรสาวคนเดียววัย 7 ขวบไว้แนบอก 

ในช่วงเวลาสำคัญก่อนประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 

แฟ้มภาพ: tim_pita / Instagram 

 

 

“ในหลายๆ ครั้งก็อยากทำหน้าที่ที่ควรจะทำ ยกตัวอย่างเช่น ตอน พ.ร.ก.โควิด เข้าสภา ผมต้องผ่าตัดคอ หมอนรองคอเคลื่อน ต้องใส่ปลอกคอ ก็ทำให้ไม่ได้อภิปรายในช่วงสำคัญ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย ของชีวิตคนจำนวนมาก ก็รู้สึกเสียดาย” 

 

ส่วนสิ่งที่ผิดพลาด พิธายอมรับว่าเราทุกคนล้วนต้องเคยทำผิดพลาด เขาเองก็เช่นกัน พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า การอภิปรายในห้องประชุมสภา บางครั้งที่พูดสั้นเกินไป ก่อนจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า 

 

“เขียนจดหมายไปหาผู้ก่อตั้งของ Moderna จริง เขาตอบมาจริง เขียนไปหาซีอีโอของ Pfizer จริง และเลขาก็ตอบมาจริง แต่ขณะอภิปรายในห้องประชุมพูดว่า ผู้ก่อตั้ง Moderna และ Pfizer เนื่องจากในหัวคิดเป็นภาษาอังกฤษ แต่เมื่ออภิปรายต้องพูดเป็นภาษาไทย ผมต้องใช้คำว่าผู้ก่อตั้ง Moderna และซีอีโอหรือผู้บริหารของ Pfizer เช่นเรื่องเล็กๆ แบบนี้”

 

 

“บางครั้งพูดสั้นเกินไป” 

พิธายิ้มรับในสิ่งที่ผิดพลาดของตัวเอง

 ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

 

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเขายอมรับว่าก็ยังมีข้อผิดพลาด แต่ก็เรียนรู้เพื่อนำมาบริหารให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-4 เดือนก่อนการเลือกตั้งที่ได้ทุ่มเทให้กับการหาเสียง การไปร่วมงานดีเบต หรือการรับงานวันละ 15 เรื่องในวันเดียวกัน เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเราสามารถทำได้และมีความเข้มแข็งพอที่จะทำงานให้กับประชาชนคนไทย

 

ก้าวไกล ‘ไม่ได้ทะเยอทะยาน’ ทางออกมาตรา 112 ควรจบที่รัฐสภา 

 

THE STANDARD ถามต่อว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ​ที่จะยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ มีสาเหตุมาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พรรคเสนอเป็นนโยบาย ตอนนี้จุดยืนของพรรคเป็นอย่างไร 

 

พิธาตอบว่า จุดยืนของพรรคยึดตามการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ระบุว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องเลิกกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112

 

กระนั้นเขายังได้ขยายความเพิ่มเติมว่า หากอ่านคำตัดสินดีๆ จะพบว่าการแก้ไขมาตรา 112 นั้นยังสามารถทำได้ แต่ต้องทำได้ภายในขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเชื่อว่าหากเรื่องนี้ไม่ได้ใช้รัฐสภาในการหาทางสายกลางและปล่อยให้เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ จะไม่เป็นผลดีกับสถาบันฯ ไหนเลย

 

ถ้ามันถึงเวลายังมีกระบวนการที่ยังใช้ (มาตรา 112) 

กลั่นแกล้งคนที่เห็นต่างทางการเมือง 

ก็ควรจะกลับมาสู่รัฐสภาอย่างมีวุฒิภาวะ

 

 

“ทางออกสำหรับมาตรา 112 ควรจบที่รัฐสภา” 

พิธาชี้ไปยังห้องประชุมสภา ซึ่งตั้งอยู่ตรงหน้าเขา ขณะสนทนากับ THE STANDARD ภายในห้องประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) สภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 โซนกลาง อาคารรัฐสภา 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

 

“หลายคนมองว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ ‘มีความทะเยอทะยาน’ ในเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก หากในวันนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอนโยบายเกี่ยวกับมาตรา 112 วันนี้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพิธาไปแล้ว และพรรคก้าวไกลได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้ไปทำนโยบายด้านอื่นๆ ได้เข้าไปพัฒนาประเทศไปแล้ว” THE STANDARD ถามต่อ 

 

พิธาตอบว่า นโยบายมาตรา 112 เป็น 1 ใน 300 นโยบายของพรรคก้าวไกล ถ้าจะใช้คำว่า ‘ทะเยอทะยาน’ ก็คงไม่ถูกต้อง และเชื่อว่าหากย้อนกลับไป แม้พรรคก้าวไกลจะไม่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้พระองค์ท่านอยู่เหนือการเมืองและไม่มีใครเอาพระองค์ท่านลงมาสู่การเมืองได้ แต่ทหารที่กลัวเรื่องการปฏิรูปกองทัพ หรือนายทุนที่กลัวเรื่องการทลายนายทุนผูกขาด หรือกลุ่มคนที่ไม่ต้องการเห็นการกระจายอำนาจในประเทศไทย จะไม่หา Excuse อย่างอื่นที่จะทำตามเจตจำนงของประชาชนในการเลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

 

“ผมไม่ได้มั่นใจว่าถ้าผมทำตามสิ่งที่คุณชาดา (ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย) เสนอกลางสภาแล้ว เขาจะไม่มีเรื่องอื่นมาหยุดผม ถ้าผมไม่มีปัญหาเรื่องหุ้นไอที ก็ไม่เชื่อว่าเขาจะไม่หาเรื่องที่ 2 หรือเรื่องที่ 3 มาทำให้ผมหยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นอิสรภาพไม่เคยได้มาด้วยความบังเอิญ มันคือการต่อสู้ในหลายๆ เรื่อง” พิธากล่าว

 

 

พิธาขณะกำลังฟังคำถามจาก​ THE STANDARD มีสีหน้ามุ่งมั่น

หลังถูกถามว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ 

‘มีความทะเยอทะยาน’ ในเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

 

ขณะเดียวกันผมก็คิดว่าการแก้ไขมาตรา 112 ก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคแรกที่คิดในเรื่องนี้ อ.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และอดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และมีอีกหลายคนที่เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มีทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ แล้วเหตุใดการกระทำของพรรคก้าวไกลถึงกลายเป็นความทะเยอทะยาน

 

เราแค่ต้องการหาความเป็นสัดส่วนระหว่างการปกป้องประมุขของรัฐกับสิทธิมนุษยชน และเราไม่ได้เสนอในช่องทางอื่นเลย เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ยังต้องผ่านการอภิปรายของ สส. อีกหลายคน ต้องลงมติ ต้องตั้งคณะกรรมาธิการ มีวาระ 1, วาระ 2 และวาระ 3 ต้องให้สภาสูง (สมาชิกวุฒิสภา) พิจารณา ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็ยังสามารถยับยั้งได้ 

 

มาตรา 112 ต้องทำอย่างคนที่มีวุฒิภาวะ มีการควบคุม 

และไม่สามารถมีใครที่จะผูกขาดความคิดชุดใดชุดหนึ่งได้ 

ผมคิดว่านี่เป็นทางออกที่ดีกว่าปล่อยให้

อยู่บนท้องถนนหรืออยู่บนโซเชียลมีเดีย 

 

บริหารความคาดหวังและความผิดหวัง ‘มวลชนสีส้ม’ 

 

“ต้องมองสิ่งที่เกิดขึ้นวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ให้เป็นภาพใหญ่มากกว่าเรื่องของผมและเรื่องของพรรคก้าวไกล” พิธาตอบคำถามถึงการบริหารความคาดหวังและความผิดหวังของกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล

 

ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลขยายความเพิ่มว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นการยุบพรรคครั้งที่ 5 เหมือนเป็น Vicious Circle ที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะชนะเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลเหมือนพรรคไทยรักไทย หรือชนะเลือกตั้งแล้วมาเป็นฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล 

 

ในเมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้วจะมีครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ต่อไป พวกเราในฐานะที่เป็นพลเมือง เป็นประชาชนคนไทย เป็นนักการเมือง เป็นสื่อมวลชน เราจะปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) พร้อมสมาชิกพรรคก้าวไกล 

ขึ้นรถแห่ขอบคุณประชาชนบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 

ภายหลังทราบผลคะแนนการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลสามารถคว้าชัยชนะ 

ครองเสียงประชาชนมาเป็นลำดับที่ 1 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

พิธากล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการต่างๆ ขององค์กรอิสระทำให้การเลือกตั้งไม่มีผล หรือมีผลเฉพาะในสิ่งที่ประชาชนอาจจะไม่ได้ต้องการ จนทำให้ไม่มีความยึดโยงของประชาชน คนที่มีอำนาจกับประชาชนเกิดความห่างเหินกันไปได้เรื่อยๆ 

 

คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าผมจะทำอะไรต่อหลังจากวันที่ 7 สิงหาคม แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะปล่อยให้ประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จริงเหรอ แล้วประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการนี้

 

“ผมจำได้ ตอนที่ยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อ 3-4 ปีก่อน ผมขึ้นแถลงเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ก็ถูกถามว่า คิดว่าก้าวไกลจะโดนยุบอีกไหม ผมยังไม่ได้บอกเลยว่าใครจะเป็นเลขาพรรคก็ถูกถามด้วยคำถามนี้อีกแล้ว”

 

กลายเป็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ผ่านการรัฐประหาร ผ่านการยึดอำนาจด้วยทหาร ผ่านการยึดอำนาจของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง มาทำลายพรรคการเมืองแล้วพรรคการเมืองเล่า ไม่ว่าพรรคนั้นจะเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน และการทำลายพรรคฝ่ายค้านนั้นทำให้ระบบถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตยเสียหายอย่างมาก

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ภายหลังเสร็จสิ้นการสนทนากับ THE STANDARD 

ภายในห้องประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

ในสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 โซนกลาง อาคารรัฐสภา 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

เราจึงต้องมองภาพใหญ่และต้องทำความเข้าใจกับความผิดหวังที่เกิดขึ้น จะเอาความผิดหวังที่เกิดขึ้นไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างไร และเราจะคาดหวังกับประชาธิปไตยที่มากกว่าการเลือกตั้งได้อย่างไร เราจะใช้การเลือกตั้งที่ยังมีการอนุญาตให้มีการเลือกตั้งอยู่ ทำอย่างไรให้เปลี่ยนระบบนิเวศของประชาธิปไตยไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่เต็มใบมากกว่านี้

 

ไม่ว่าพรรคไหนก็ไม่ควรจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินว่า

เขาควรที่จะมีอยู่หรืออยู่ในสารบบการเมืองไทย 

ควรที่จะเกิดจากประชาชนและตายด้วยมือประชาชน

 

ผู้นำพรรคยุคต่อไป

 

“จากคดีล้มล้างการปกครอง อาจนำไปสู่การล้างไพ่แกนนำแถว 2 และแถว 3 ด้วยการตัดสิทธิตลอดชีพจากคดีจริยธรรม ส่วนตัวมีความกังวลหรือไม่” THE STANDARD ถาม 

 

พิธากล่าวว่า ผลพวงจากคดีล้มล้างการปกครอง ทั้งการยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี หรือกรณี 44 สส. ที่เสนอร่างกฎหมาย เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถูกตัดสินว่าผิดจริยธรรม จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ล้วนเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจทั้งสองเรื่อง 

 

สิ่งที่น่ากังวลใจไม่ได้มีแค่กรณียุบพรรคหรือกรณี 44 สส. แต่เป็นความกังวลเรื่อง ‘ระบบ’ ซึ่งเป็นสมดุลระหว่างองค์กรอิสระและพรรคการเมืองที่มาจากประชาชน องค์กรอิสระที่สามารถชี้ว่าเป็นการผิดจริยธรรม ซึ่งไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่โทษเท่ากับการประหารชีวิตทางการเมือง ไม่มีสิทธิลงเลือกตั้งอีกตลอดไป 

 

จึงขอถามถึงสัดส่วนของความผิดทางจริยธรรมและโทษทางกฎหมาย สมดุลซึ่งเป็นตรงกลางระหว่างนิติบัญญัติและตุลาการอยู่ตรงไหน สุดท้ายองค์กรอิสระนั้นอิสระจากอะไร 

 

องค์กรอิสระมีหน้าที่ควบคุมนักการเมือง 

แล้วใครคือผู้ที่ควบคุมองค์กรอิสระ 

นี่คือสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า

 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมด้วย ชัยธวัช ตุลาธน, ศิริกัญญา ตันสกุล, 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล 

ระหว่างร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

แฟ้มภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

พิธายังเชื่อว่าเราคือคนที่แก้กฎหมาย มีอำนาจที่ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันเรื่องที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นก่อนวันที่ 30 มกราคม ก็ไม่ควรที่จะเอาผิดย้อนหลังได้ และเชื่อในเจตนาว่าเราไม่ได้มีเจตนาที่จะเซาะกร่อนบ่อนทำลายแต่อย่างใด ก็หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมทั้งจากศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 

THE STANDARD ถามต่อว่า หากผลเป็นลบ พรรคก้าวไกลวางแผนเกี่ยวกับทีมบริหารพรรคชุดใหม่ไว้อย่างไร

 

พิธากล่าวว่า ไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะมีความเสี่ยงว่าจะยุบพรรคหรือไม่ ผู้นำที่ดีต้องสร้างผู้นำรุ่นใหม่ต่อๆ ไป และเรามีผู้นำในรุ่นที่ 2, รุ่นที่ 3, รุ่นที่ 4 และในหัวตอนนี้ก็เริ่มเห็นแล้วว่าผู้นำรุ่นที่ 5 จะเป็นใคร เรามีการวางแผนผู้สืบทอดตำแหน่งเหมือนทุกองค์กรอยู่แล้ว 

 

“ไม่ว่าจะมีเหตุฉุกเฉินหรือไม่มีเหตุฉุกเฉิน มีวิกฤตหรือไม่มีวิกฤต พรรคก้าวไกลมีพร้อม ทุกอย่างถูกวางไว้หมดแล้วว่าใครที่จะเป็นผู้นำหรือใครที่จะเป็นรัฐมนตรี” พิธากล่าว

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ภายหลังเสร็จสิ้นการสนทนากับ THE STANDARD 

ภายในห้องประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

ในสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 โซนกลาง อาคารรัฐสภา 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

จุดอ่อนที่ต้องเร่ง ‘อุด’ เพื่อก้าวที่ไกลกว่าเดิม

 

“พรรคก้าวไกลที่มาไกลมาก เป็นพรรคเบอร์ 1 ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ขณะนี้ยังมีจุดอ่อนอะไรที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งรอบหน้าชนะถล่มทลายได้เป็นรัฐบาล” THE STANDARD ถามต่อ 

 

“พรรคก้าวไกลมาไกลมากเพราะเราวางแผนมาไกลมาก” พิธาตอบก่อนจะขยายความเพิ่มว่า พรรคก้าวไกลอยู่ในเกมที่ถูกดีไซน์ให้แพ้ ขณะเดียวกันความคาดหวังของสังคมก็คิดว่าเราไม่น่าจะชนะ เราต้องสู้กับความคิดของคนที่คิดว่าพรรคก้าวไกลไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นที่หนึ่งได้ สุดท้ายเราก็เป็นที่หนึ่งได้ แต่ทุกอย่างไม่ได้ได้มาด้วยความบังเอิญ แต่ได้มาจากการวางแผนและการทำงานอย่างหนักของทีม 

 

แน่นอน เมื่อเราทำได้เกินความคาดหวังและโตขึ้นเร็ว ก็จะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ‘Growing Pain’ กล่าวคือ มีความเจ็บปวดจากการที่ขยายตัวเร็วเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาที่องค์กรต้องเจอเหมือนกัน เมื่อมีคนมากขึ้น ผู้คนจะมีความคิดและความเห็นต่างกันมากขึ้นเช่นกัน แล้วการควบคุมจะเป็นอย่างไร ซึ่งโจทย์ใหญ่ของผู้บริหารพรรคจะต้องบริหารจัดการให้จุดอ่อนที่มีทั้งระบบ โครงสร้าง และกระบวนการต่างๆ ของพรรคกลายเป็นพลังให้ได้

 

‘เลือกพิธาเป็นพิธี’ ครั้งสุดท้าย

 

“จนถึงเวลานี้ ถ้าให้ย้อนกลับไปตัดสินใจใหม่ จะยังเข้ามาในสนามการเมืองหรือไม่ เพราะวันนี้เห็นแล้วว่าคุณพิธามีต้นทุนที่ต้องจ่ายมากขนาดไหน” THE STANDARD ถาม 

 

พิธายิ้มก่อนจะตอบว่า “ผมเตรียมตัวมากว่า 20 ปี ผมและพรรคก้าวไกลก็ไม่ใช่คนแรกที่ต้องเจออะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่เราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไม่อยู่ในวงในแล้วเราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ผมไม่เคยเอามาเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเอามาแบกให้หนักจนยิ้มไม่ออกอยู่แล้ว”

 

“ไม่เคยเอาเรื่องการเมืองมาแบกให้หนักจนยิ้มไม่ออก” 

พิธายิ้มพร้อมตอบกับ THE STANDARD 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

คำถามสำคัญที่เราต้องถามกลับว่า จะต้องมีพิธาอีกกี่คนหรือต้องมีพรรคก้าวไกลอีกกี่พรรค ‘ที่เลือกพิธาให้เป็นพิธี’ หมายความว่า อนุญาตให้มีการเลือกตั้ง แต่ในขณะเดียวกันเจตจำนงของประชาชนไม่เคยกลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เคยสัญญาไว้ ไม่ได้แม้กระทั่งโอกาส ถึงแม้ว่าจะชนะเลือกตั้ง ก็สามารถถูกกำจัดให้หายไปจากสารบบการเมืองไทยได้ 

 

ขอให้พิธาเป็นคนสุดท้าย 

ขอให้พรรคก้าวไกลเป็นครั้งสุดท้าย 

และขอให้เป็นไปตามระบบเสียที

 

 

“ขอให้เป็นไปตามระบบเสียที” 

พิธาบอกกับ THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

 

ประเทศไทยอีก 10 ปีในทัศนะของพิธา 

 

THE STANDARD ขอให้พิธามองการเมืองไทยและพรรคการเมืองของเขาในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร 

 

ในทัศนะของพิธาเขาเชื่อว่า ในอีก 10 ข้างหน้า หรืออีก 2 การเลือกตั้ง จะเป็นพรรคก้าวไกลอยู่ หวังว่าจะไม่เป็นพรรคสิบเอ็ดไกล ยังมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อยู่ และจะเป็นพรรคการเมืองอันดับ 1 ของประเทศไทย 

 

เป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวน สส. มากพอที่จะมีอำนาจต่อรองในการจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว แต่จะไม่ทำเช่นนั้น แต่จะเชิญพรรคอื่นๆ ที่มีแนวทางร่วมกับพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาลร่วมกัน โดยจะทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม

 

“ถึงแม้ว่าผมจะเป็นรัฐบาล ผมจะทำให้ความสมดุลระหว่างรัฐบาลที่มาจากผม รวมถึงสภาและนิติบัญญัติ มีความสมดุลตามที่ควรจะเป็น และทำให้ประชาชนอีก 10 ปีข้างหน้ารู้สึกศรัทธาในระบบการเมืองแบบรัฐสภา” พิธากล่าว

 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ภายหลังเสร็จสิ้นการสนทนากับ THE STANDARD 

ภายในห้องประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

ในสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 โซนกลาง อาคารรัฐสภา 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งไหน ประชาชนก็จะออกไปใช้สิทธิกันอย่างถล่มทลาย เพื่อให้ทุกการเลือกตั้งตั้งแต่ระดับ อบจ., ระดับเทศบาล, ระดับผู้ว่าฯ หรือระดับทั้งประเทศ ประชาชนมีส่วนร่วมและยึดโยงกันให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ประชาชนรู้สึกมีความศรัทธาพอตามที่เคยได้ฟังดีเบต

 

“ไม่ใช่ว่าดูดีเบตไปแล้ว พอถึงเวลาไม่มีอะไรที่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ต้องทำให้เขารู้สึกว่าครั้งหน้าเขาอยากจะไปโหวตอีก เพราะรู้แล้วว่าการที่ทำให้ประเทศนี้ฟังฉันต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ทำให้รู้สึกว่าอยากที่จะกลับมาจากการเดินทางทั่วโลก มาจากต่างจังหวัด เหมือนที่เคยทำในปี 2566 กว่า 76% สูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผมอยากเห็นตัวเลขมันกลายเป็น 80-85% ในอีก 10 ปีข้างหน้า” พิธากล่าว

 

แล้วให้ประชาชนเป็นผู้พิพากษา 

หากประชาชนให้โอกาสผมแล้วผมทำไม่ได้ 

เขาไม่เชื่อใจ ผมก็ให้คนอื่นมาทำแทน 

นี่คือความหวังที่อยากจะเห็น

 

 

“ให้ประชาชนเป็นผู้พิพากษา หากประชาชนให้โอกาสผมแล้วผมทำไม่ได้ 

เขาไม่เชื่อใจ ผมก็ให้คนอื่นมาทำแทน” 

ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

 

“ส่วนแผนชีวิตหลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคมนั้น หากผล ‘เป็นบวก’ ก็ยังต้องทำงานทางการเมืองต่อ แต่ยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่มีแพลน B นอกจากการทำงานการเมือง ถ้ายังเป็น สส. ต่อก็ต้องสู้อย่างเต็มที่ เพื่อให้การเลือกตั้งต่อไปยังเป็นพรรคก้าวไกลและยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

 

“แต่ในทางกลับกัน หากผลในวันที่ 7 สิงหาคม ‘เป็นลบ’ ผมก็ไม่มีโอกาสเข้ามาในห้องนี้อีก การสัมภาษณ์ครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่จะสามารถเข้ามาในห้องนี้ได้ เพราะว่าเขาไม่ต้องการผม ก็เปลี่ยนสนามเล่น ยังทำงานการเมืองต่อ แต่เปลี่ยนสนามเล่นเป็นโลกใบนี้แทน” พิธากล่าว

 

ในเมื่อผมเข้าสภาไม่ได้ โลกใบนี้ทั้งใบก็กลายเป็นสนามของผม 

แต่ก็ยังเชื่อในความเป็นพลเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง 

หรือ Political Involvement 

ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ในดีเอ็นเอของผมอยู่

 

จากพิธาถึงพิธา และจากพิธาถึงประชาชน 

 

ไม่ว่าผลการวินิจฉัยคดียุบพรรคจะเป็นอย่างไร พิธาพูดกับตัวเองผ่าน THE STANDARD ว่า จงภูมิใจในตัวเอง ว่าในที่สุดแล้วก็ได้พยายามอย่างเต็มที่เท่าที่ตัวเองจะทำได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบและผิดพลาดไปหลายอย่าง แต่ก็อย่าโทษตัวเอง อะไรที่ผ่านไปแล้วก็กลับไปแก้ไขไม่ได้ จงอยู่กับปัจจุบันแล้วไปต่อเสีย

 

“มีอะไรจะบอกกับประชาชนเป็นการทิ้งท้ายหรือไม่” THE STANDARD ถาม 

 

พิธากล่าวว่า อย่าเบื่อการเมือง อย่ารู้สึกว่าการเมืองมันสกปรกหรือทำอะไรไม่ได้ เพราะนี่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจพยายามที่จะให้รู้สึกว่า ‘สิ้นหวัง’ เลือกตั้งไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้อย่างที่หวัง เสียเวลา โดยสิ่งที่จะเป็น Engine สุดท้ายของประชาธิปไตยจะถูกดับลง 

 

“ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ การเมืองเป็นเรื่องสนุก ในวันที่คุณรู้สึกเบื่อ ไม่สนใจ ไปทำอย่างอื่นดีกว่า นั่นคือช่วงเวลาที่เขาผ่านกฎหมายที่คุณไม่ต้องการ นั่นคือช่วงเวลาที่เขาใช้ภาษีของคุณไปซื้อในสิ่งที่ไม่ควรซื้อ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งยอมแพ้กับการเมือง” พิธากล่าวทิ้งท้ายและจบการสนทนากับ THE STANDARD

 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในอิริยาบถต่างๆ 

ภายหลังเสร็จสิ้นการสนทนากับ THE STANDARD 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X