×

พิธาอภิปรายปิดฉากซักฟอก ม.152 แนะ 3 ข้อรัฐบาลเศรษฐา ปรับ ครม.-ทำโรดแมป-ปลุกภาวะผู้นำ ฟังเพื่อตอบสนอง ไม่ใช่ตอบโต้

โดย THE STANDARD TEAM
05.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (5 เมษายน) เวลา 01.19 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) โดยมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายปิดในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยการเริ่มต้นพูดความในใจตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมาว่า ตนเองไม่เคยเสียใจที่ไม่ได้บริหารประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง และสามารถที่จะรวบรวมเสียงได้ 312 เสียง ซึ่งก็ไม่ได้น้อยกว่า 314 เสียงที่รัฐบาลมี และยืนยันว่าไม่เคยเสียใจที่ต้องเป็นฝ่ายค้าน เพราะเชื่อว่าการเป็นฝ่ายค้านนั้นก็มีความสำคัญต่อระบบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันการเป็นฝ่ายค้านก็สามารถทำงานให้กับประชาชนได้เช่นกัน

 

“สุขภาพของประชาธิปไตยไม่ได้วัดว่ารัฐบาลนั้นมีอำนาจเบ็ดเสร็จแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายค้านนั้นแอ็กทีฟและทำงานให้กับประชาชนมากน้อยเพียงไร ผมไม่เสียใจด้วยว่าการอภิปรายในครั้งนี้อาจจะเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมือง เรื่องนี้ไม่ใช่ความลับอะไร ทุกคนทราบว่าชีวิตทางการเมืองของผมขณะนี้แขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่ผมพร้อมที่จะเดินจากไปอย่างผู้ชนะ โดยไม่มีอะไรติดค้างใจอีกต่อไป” พิธากล่าว

 

การได้เห็นเพื่อน สส. ไม่ว่าจะเป็นรุ่นหนึ่งหรือรุ่นสองในการอภิปรายตลอด 2 วันที่ผ่านมา รู้สึกเบาใจและไม่มีอะไรที่ค้างคา พร้อมทั้งมั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลในอนาคต ไม่ว่าจะถูกยุบพรรค หรือถูกทำลายพรรคก้าวไกล นั่นไม่ได้ทำให้การเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยหายไป และยิ่งตอกย้ำให้พวกเราไปถึงเส้นชัยที่เราต้องการได้เร็วมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

พิธากล่าวต่อว่า ถึงแม้ไม่เสียใจ แต่ตนเองเสียดายต่อการชี้แจงของรัฐบาล เสียดายโอกาสของประเทศไทย และเสียดายศรัทธาของประชาชน เพราะตั้งแต่จำความได้ไม่เคยเลือกพรรคอื่น และเมื่อได้ฟังการอภิปรายของรัฐบาลแล้ว ตนเองไม่ทราบเลยว่าวาระที่แท้จริงของรัฐบาลชุดปัจจุบันคืออะไร โดยเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีวาระเป็นของตัวเอง เมื่อไร้วาระก็ทำให้ไร้วิสัยทัศน์ เมื่อไร้วิสัยทัศน์ก็ไร้ผลงาน 

 

ขณะเดียวกันตนเองก็รู้สึกกังวลต่อวิสัยทัศน์ทั้ง 8 ด้านของรัฐบาล ที่สุดท้ายจะกลายเป็นความมืด 8 ด้านของประชาชน และรู้สึกกังวลว่า IGNITE THAILAND จะกลายเป็น DARKNITE THAILAND ที่มืดตั้งแต่ปากท้อง, แก้ส่วย, ผูกขาด, กระตุ้นเศรษฐกิจ, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การปฏิรูปกองทัพ, คุณภาพชีวิต รวมถึงกระบวนการยุติธรรม โดยที่การปฏิรูปกองทัพนั้นยังเป็นเรื่องที่เถียงกันและยังไม่ตกผลึก นายกรัฐมนตรีระบุว่า พรรคฝ่ายค้านงง ตนเองก็งงเช่นเดียวกัน เพราะนายกรัฐมนตรีเองก็พูดไม่เหมือนเดิม ก่อนเลือกตั้งพูดอย่าง หลังเลือกตั้งพูดอีกอย่าง 

 

พิธากล่าวว่า จุดยืนเรื่องการปฏิรูปกองทัพ พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่ต้องการทำให้ทหารเป็นอาชีพ ป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองและบริหารราชการแผ่นดิน ต่อต้านการทำรัฐประหาร และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้รับราชการทหารโดยสมัครใจ ซึ่งตอนที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านก็คิดเหมือนพรรคก้าวไกล สื่อมวลชนได้นำนโยบายมาเปรียบเทียบก็จะเห็นว่านโยบายของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกัน ตนเองจึงงงว่าสุดท้ายแล้วไม่เหมือนที่เคยคุยกันไว้ 

 

ส่วนที่รัฐบาลยังงงเรื่องเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ว่าจุดยืนของพรรคก้าวไกลเป็นอย่างไรกันแน่ ที่บอกว่าจะนำเรือประมงไปรบ พิธากล่าวว่า ขอเดาว่าเป็นตนเอง เพราะเคยพูดในเวทีดีเบต เรื่องดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้คือ ประเด็นที่การทำสงครามพัฒนาไปเป็นสงครามผสม ที่มีการใช้เรือประมงปลอมเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธกองทัพในการทำลายหรือทางด้านจิตวิทยา ซึ่งตนเองได้รับข้อมูลยืนยันจากสำนักข่าวระดับโลกและแหล่งข่าวจากทหารเรือ

 

พิธายังกล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลสนับสนุนให้ซื้อเรือฟริเกตว่า หลักคิดในการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยของพรรคก้าวไกลคือ ต้องมีอาวุธที่เหมาะสม เป็นอาวุธที่สามารถสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ และต้องไม่เบียดเบียนภาษีประชาชนจนเกินไป 

 

อย่างกรณีที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายว่าเรือฟริเกตมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ถ้ามีประโยชน์ เราก็ไม่ได้ต่อต้าน พร้อมทั้งยืนยันว่า การที่จะทำให้กองทัพทันสมัยไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการให้ซื้ออาวุธอะไรเลย และเห็นว่าการทหารในยุคสมัยศตวรรษที่ 21 นั้นเปลี่ยนไปมากแล้ว

 

นอกจากนี้ พิธายังได้อภิปรายครอบคลุมทุกประเด็น ทั้งการลงทุนใหม่, ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP), ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ทั้งการท่องเที่ยว ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยชี้ให้เห็นว่าในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคเหนือมีผู้ป่วยจากฝุ่นควันแล้วเกือบ 2 ล้านเคส 

 

รวมทั้งยังอภิปรายถึงปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ โดยตนเองก็มีความกังวลใจ เนื่องจากได้เห็นข่าวตำรวจไทยเบอร์หนึ่งกับเบอร์สองทะเลาะกันและอยู่ระหว่างพักงานทั้งคู่ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บัญชาการโดยตรงจะต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง

 

คำแนะนำ 3 ข้อ จากพิธาถึงเศรษฐา 

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะจบการอภิปราย พิธาได้เสนอคำแนะนำจำนวน 3 ข้อไปยังรัฐบาล ได้แก่ 

 

  1. ถึงเวลาที่ต้องปรับมีการปรับคณะรัฐมนตรี ด้วยการ Put the right man on the right job เลือกคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้ามาทำงาน ขณะนี้ผ่านมา 7 เดือน นายกรัฐมนตรีน่าจะพอเห็นว่าใครคือบุคคลที่มีประสิทธิภาพ 

 

  1. ถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะมีต้องมีโรดแมป โดยแนะนำว่า จะทำให้คนทำงานทุกคนได้เห็นภาพการทำงานร่วมกันว่าช่วงไตรมาสนี้จะทำอะไร ปีนี้จะทำอะไร และ 4 ปีจะทำอะไร 

 

  1. สิ่งที่สำคัญที่สุดของคนที่จะเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 คือ การฟัง โดยเป็นการฟังเพื่อที่จะตอบสนอง ไม่ได้ฟังเพื่อตอบโต้ตลอดเวลา เพราะเสียงที่ไม่อยากได้ยินที่สุดจะเป็นเสียงที่ประเสริฐที่สุดตามที่นายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้

 

สมศักดิ์ ตัวแทนรัฐบาลขอบคุณฝ่ายค้าน 

 

ทั้งนี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ได้กล่าวขอบคุณการอภิปรายในครั้งนี้ โดยยืนยันว่า ทุกข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนความห่วงใยที่ท่านสมาชิกได้อภิปรายในสภาตลอด 2 วันที่ผ่านมา นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยจะได้นำความห่วงใยเหล่านี้ไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

จากนั้น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กลับมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่ออ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภา สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567 และสั่งปิดประชุมในเวลา 02.15 น. โดยในวันนี้ใช้เวลาการอภิปรายไปทั้งสิ้นกว่า 17 ชั่วโมง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising