×

พิธาจี้รัฐบาล อย่าทำผิดซ้ำซาก เฉยชาความเดือดร้อนของประชาชน ค้านปิดสภา ฝ่ายนิติบัญญัติต้องเป็นตัวแทน

โดย THE STANDARD TEAM
05.01.2021
  • LOADING...
พิธาจี้รัฐบาล อย่าทำผิดซ้ำซาก เฉยชาความเดือดร้อนของประชาชน ค้านปิดสภา ฝ่ายนิติบัญญัติต้องเป็นตัวแทน

วันนี้ (5 มกราคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยระบุว่าเป็นอีกครั้งที่สถานการณ์ในประเทศย่ำแย่ลง โดยที่ประชาชนทั้งประเทศต่างตระหนักรู้กันดีว่าไม่ได้เกิดจากการที่พวกเขาการ์ดตก แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเองที่หละหลวม ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆ รวมถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กลับทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิมด้วยการกล่าวโทษทั้งแรงงานข้ามชาติและประชาชนว่าเป็นใจกลางของปัญหา ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เคยมองเห็นความผิดพลาดของตนเองเลย

 

พิธายังกล่าวว่า ล่าสุดที่วิปรัฐบาลมีมติให้ปิดการประชุมรัฐสภาเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์นั้น พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติจะหยุดชะงักไม่ได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์คับขันของประเทศชาติที่กำลังต้องการมาตรการที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เวลานี้ต้องบอกว่าประชาชนกำลังหมดความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อรัฐบาลอย่างถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจึงจำเป็นมาก เพื่อจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและทวงถามถึงความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารต่อปัญหาที่พวกเขาละเลย ไม่ว่าต้นเหตุของความย่อหย่อนที่ต้องค้นหาความจริงว่าใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างชาติ หรือใครบ้างที่เปิดทางให้มีบ่อนเกิดขึ้นทั่วภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อว่าผู้นำประเทศและพี่น้องจากค่าย ‘บูรพาพยัคฆ์’ ผู้พิทักษ์ชายแดนตะวันออกของเรานั้นจะไม่สามารถเอาผิดเจ้าของบ่อนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้แม้แต่คนเดียว นอกจากนี้หากสภายังคงเปิดเพื่อให้ ส.ส. ได้ทำหน้าที่ การพิทักษ์รักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนก็จะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น 

 

“ผมเข้าใจดีว่าหลายคนกำลังห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 พรรคก้าวไกลจึงมีข้อเสนอให้สภาเปิดการประชุมแบบ Social Distancing ด้วยการให้แต่ละพรรคส่งตัวแทน ส.ส. ส่วนหนึ่งมาประชุมให้จำนวนเพียงพอครบองค์ประชุม และให้นั่งห่างกัน จุดประสงค์เพื่อให้ที่ประชุมสามารถแก้ข้อบังคับให้ประชุมออนไลน์ได้ เพราะในขณะนี้มีกฎหมายสำคัญและเป็นความหวังอย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนที่จ่อคิวรอให้สภาแก้อย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือปัญหาโควิด-19 ให้ได้อย่างทันท่วงที เช่น การแก้ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน ให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อพยุงธุรกิจหรือพยุงการจ้างงานได้ ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ ควรจะได้รับการแก้ไขตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้อาจมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณ หรือเกลี่ยก่อนกู้กันอีกครั้งเพื่อให้มีเงินนำมาใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในสถานการณ์แบบนี้” พิธากล่าว

 

นอกเหนือจากข้อเสนอให้เปิดสภาต่อไปแล้ว หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังแสดงความกังวลต่อแนวทางการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลในเวลานี้ โดยระบุว่ามีปัญหา 3 ด้านสำคัญคือ 

 

1. รัฐบาลต้องการมีอำนาจ แต่ไม่ต้องการรับผิดชอบใดๆ เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แต่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งการ ซึ่งสามารถทำมากกว่าคำสั่ง ศบค. ก็ได้ ทำให้แต่ละจังหวัดมีรายละเอียดมาตรการไม่เหมือนกันจนประชาชนเกิดความสับสน หรือกระทั่งบางจังหวัดออกมาตรการเข้มจนไม่แตกต่างจากการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ ซึ่งการปิดเมืองของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยการอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินจะแตกต่างจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ควบคุมโรค เพราะอย่างหลังต้องมีการชดเชยเยียวยาประชาชนอย่างเป็นระบบ ขณะที่การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ สอดคล้องกับล่าสุดที่โฆษก ศบค. พูดว่าไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ เพราะถ้าบอกว่ามีการล็อกดาวน์แล้วจะต้องเยียวยา ยิ่งสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ต้องการรับผิดชอบอะไรจากการใช้อำนาจของตนเอง แต่ยังคงต้องการใช้อำนาจอย่างเต็มที่เพื่อหวังค้ำยันความมั่นคงของตนเอง

 

2. รัฐบาลแก้ปัญหาแบบผิดทิศผิดทาง หลายอย่างที่ทำตอนนี้คือการเลี่ยงบาลี นั่นคือการล็อกดาวน์ต้องบอกว่าเกิดขึ้นแล้วในภาคปฏิบัติ แม้ไม่เรียกว่าอย่างนั้นก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐกลับไม่มีมาตรการรองรับที่ตามมา เช่น มีมาตรการควบคุมและคำสั่งปิดสถานประกอบการหลายประเภท แต่กลับไม่ล็อกดาวน์หนี้สินหรือค่าเช่าของประชาชนและผู้ประกอบการ มีความล่าช้าในการแก้ไข พ.ร.ก. ซอฟต์โลน เพื่อช่วยเอสเอ็มอีที่กำลังหมดลมหายใจให้กลับมามีแรงเดินต่อ โชคร้ายอย่างยิ่งที่ความล่าช้านั้นทำให้เราต้องเห็นผู้ประกอบการหลายรายหมดลมหายใจไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะที่บางรายเพิ่งหมดลมหายใจไปต่อหน้าต่อตาเมื่อสักครู่นี้ ที่ผ่านมา พ.ร.ก. นี้มุ่งช่วยเฉพาะธนาคารและลูกหนี้ชั้นดีของธนาคารเท่านั้น นอกจากนี้การใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ยังมีความคืบหน้าน้อยมาก โดยเฉพาะแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท มีโครงการที่เบิกจ่ายไปแล้วเพียง 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แถมยังนำไปใช้จ่ายในโครงการลักษณะสะเปะสะปะ ไม่ได้ตรงจุดประสงค์อย่างแท้จริง และไร้ประสิทธิภาพ ในเมื่อรัฐบาลแสดงความกังวลว่าจะนำเงินที่ไหนมาเยียวยาประชาชน ก็ให้นำงบประมาณที่เหลืออยู่เกือบ 5 แสนล้านบาทมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนแทน

 

3. รัฐบาลแก้ปัญหาผิดซ้ำซาก ไม่มีการถอดบทเรียนจากอดีต จากต้นปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ รัฐบาลควรต้องรู้ได้แล้วว่าจะมีใครได้รับผลกระทบบ้าง และควรต้องรู้ว่าจะจัดกระบวนการเยียวยาให้รวดเร็วและทั่วถึงได้อย่างไร ดังนั้นในครั้งนี้เมื่อภาครัฐมีคำสั่งปิดสถานที่ต่างๆ รวมถึงการที่คำสั่งเหล่านั้นส่งผลต่อเนื่องให้หลายภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก ใครจะเดือดร้อนเป็นกลุ่มแรก หรือใครจะเป็นกลุ่มที่ตามมา รัฐบาลควรต้องมีมาตรการรองรับและสื่อสารอย่างชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเขาอยู่กับความกังวล สิ้นหวัง หรือกระทั่งกลายเป็นการตอบโต้กลับโดยการไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งจะยิ่งกลายเป็นผลร้ายที่สะท้อนกลับมายังมาตรการสาธารณสุขเอง

 

“ล่าสุดที่ พล.อ. ประยุทธ์ บอกให้ประชาชนอยู่บ้านเฉยๆ 2 สัปดาห์ถ้าไม่อยากติดโควิด-19 สะท้อนชัดว่าท่านไม่เข้าใจหัวอกและไม่เคยไปนั่งอยู่ในหัวใจของพวกเขาเลย ท่านจึงไม่รู้ว่ายังมีคนจำนวนมากที่หาเช้ากินค่ำ รับจ้าง เป็นพ่อค้าแม่ขาย การหยุดงานแค่เพียงวันเดียวก็หมายถึงไม่มีอะไรกินวันนั้น นั่นยังไม่ต้องพูดถึงอนาคตอีก 2 สัปดาห์ว่าจะอยู่อย่างไร แต่ถึงตอนนี้รัฐบาลกลับยังไม่พูดถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ เลย รัฐบาลที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความเดือดร้อนของประชาชนคือรัฐบาลที่ไม่สมควรบริหารประเทศนี้ต่อไปอีกแม้แต่เพียงนาทีเดียว” พิธากล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X