×

พิธาชี้ ร่างแก้ไข รธน. พรรคร่วมรัฐบาล ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจยับยั้งร่าง รธน. ฉบับที่ผ่านประชามติ

23.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (23 กันยายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ยังเป็นการทวนเข็มนาฬิกาย้อนยุคประเทศไทยไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับ 2521 ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอกได้

 

ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะถอนฟืนออกจากกองไฟต้องโอบอุ้มความฝันของคนทุกกลุ่มทุกประเทศ โดยเหตุนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ไม่ใช่แบบร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้ สสร. บางส่วนมาจากการแต่งตั้ง รวมถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่จำกัดความฝันของประชาชนกลุ่มใด ดังนั้นการห้ามแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จะไม่ช่วยให้ข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างแท้จริง ได้ถูกพูดถึงอย่างมีเหตุผล เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยได้อย่างมั่นคงสถาพร 

 

“มีคนบางกลุ่มพยายามปลุกปั่นให้การเรียกร้องของนิสิต นักศึกษา กลายเป็นปีศาจของสังคมไทย ทั้งที่ข้อเรียกร้องของพวกเขาเรียบง่ายมาก คือต้องการระบอบการเมืองที่คนเท่ากัน ทุกคนเสมออยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน ใครทำผิดต้องรับผิด พวกเขาฝันถึงสังคมที่จะไม่มีรัฐประหารอีก อยากเห็นตุลาการและสถาบันพระมหากษัตริย์ร่วมมือกับประชาชนไม่รับรองการรัฐประหาร และจะสวยงามเพียงใดครับหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพวกเราเริ่มต้นด้วยมาตรา 1 อย่างเรียบง่ายว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ทั้งนี้ การแก้ไขมาตรา 256 เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะชักฟืนออกจากไฟ เราต้องพิจารณาใจกลางปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งต้องแก้อำนาจของ ส.ว. แต่งตั้งที่มีอำนาจเลือกนายกฯ ระบบเลือกตั้งที่ทำให้เกิดรัฐบาลอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพ องค์กรอิสระถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

 

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องถูกเห็นชอบจากประชาชนด้วยประชามติ ไม่ใช่การเห็นชอบโดยรัฐสภาภายใต้ระบอบประยุทธ์ตามญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล นอกจากนี้การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติก็เป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะการเอาพระราชอำนาจมาปะทะกับอำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนตามของร่างรัฐบาลนั้น อาจกระทบกระเทือนต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พิธากล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาล ในมาตรา 256/17 บัญญัติว่า ‘เมื่อผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา 81 วรรคสอง และมาตรา 146 มาบังคับใช้โดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ’

 

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 146 บัญญัติว่า ‘ร่างพระราชบัญญัติใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนําพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising