วานนี้ (10 ธันวาคม) ที่จังหวัดเชียงใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเวทีและนิทรรศการ ‘เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2022 – Chiang Mai Design Week 2022’ โดยได้ร่วมเสวนาพูดคุยกับศิลปินอิสระ พร้อมชูนโยบายพรรคก้าวไกลในการส่งเสริมวงการศิลปะสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทย
พิธากล่าวในการเสวนาช่วงหนึ่งว่า แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะพยายามยกคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ และคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้มากมาย แต่ในความเป็นจริง วงการศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทยกลับเป็นวงการหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมน้อยที่สุด เห็นได้จากงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่อยู่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส. กลับได้รับงบประมาณต่อปีเพียง 300 ล้านบาทเท่านั้น หรือกระทรวงวัฒนธรรมเอง งบประมาณกว่า 4 พันล้านบาทจากกว่า 6.7 พันล้านบาทได้ถูกใช้ไปกับการส่งเสริมวัฒนธรรมแบบแช่แข็ง ตายตัว และรับใช้การเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยม เช่น เรื่องค่านิยม 12 ประการ ขณะที่งบประมาณเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์มีเพียง 60 ล้านบาท และงบเกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมสมัยมีเพียง 180 ล้านบาท
พิธากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาวัฒนธรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐมักเป็นวัฒนธรรมเพื่อการควบคุมประชาชน มีมุมมองต่อวัฒนธรรมไทยว่าเป็นสิ่งตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และยังใช้โครงสร้างทางสังคมการเมืองมาปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอย่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาพยนตร์, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ รวมถึงกฎหมายที่ถูกใช้เล่นงานคนเห็นต่างทางการเมือง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ในทางกลับกัน หน่วยงานที่อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กลับได้รับงบประมาณปีหนึ่งๆ ถึง 8 พันล้านบาท หรือศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ที่มีภารกิจและงบประมาณส่วนใหญ่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ ได้รับงบประมาณถึง 1.4 พันล้านบาทนั้น สะท้อนการไม่ให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจังของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ที่ทุ่มงบประมาณมากกว่าไทยอย่างมหาศาล หน่วยงาน Korea Creative Content Agency: KOCCA ได้รับงบประมาณปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ได้งบประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท ครั้งหนึ่งเกาหลีใต้เคยมาดูงานที่บริษัทชั้นนำของวงการเพลงไทย แต่วันนี้วงการเพลงป๊อปของเกาหลีใต้ไปไกลกว่าไทยมากแล้ว
พิธายังระบุต่อไปว่า การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย ต้องเริ่มต้นที่วิธีคิดของผู้มีอำนาจที่ต้องไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ของเดิม แต่เป็นการปรับตัวตามยุคสมัย สร้างรัฐสวัสดิการเพื่อให้คนทำงานสร้างสรรค์กล้าลองผิดลองถูก และทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
พิธากล่าวด้วยว่า ขอประกาศไว้ตรงนี้ หากมีการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งหน้า พรรคก้าวไกลพร้อมทำงานเพื่อตัดลดงบประมาณของหน่วยงานที่ทำงานซ้ำซ้อนอย่าง กอ.รมน. และ ศรชล. เปลี่ยนไปเป็นงบประมาณด้านวัฒนธรรมให้ สศส. และการส่งเสริมวัฒนธรรมซอฟต์พาวเวอร์ในหน่วยงานต่างๆ ต่อไป
“การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่แค่การออกมาพูดคำฮิตหรือ Buzzword หรือให้งบประมาณส่งเสริมอย่างฉาบฉวย แต่เราต้องการสังคมที่เอื้อต่อการคิดและสร้างสรรค์ ถ้าพูดถึง K-Pop ของเกาหลีใต้ เราไม่สามารถแยกออกจากบรรยากาศของการเปลี่ยนประเทศจากเผด็จการทหารไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในทศวรรษ 1990 ได้ ดังนั้นการสร้างซอฟต์พาวเวอร์จึงเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างประชาธิปไตย เราต้องการการบริหารประเทศที่กล้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมอย่างแท้จริง” พิธากล่าว