×

“กระผมกลับมาแล้วครับ” พิธาอภิปรายครั้งแรกหลังคัมแบ็ก สส. เสนอแผนบริหาร-กรอบทำงานจัดการขยะ 5 ข้อ

โดย THE STANDARD TEAM
26.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (26 มกราคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวเริ่มต้นการอภิปรายว่า “กระผมพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน อาจจะเป็นระยะเวลานานถึง 6 เดือนที่ผมไม่มีโอกาสได้เข้ามาอภิปรายปัญหาของประชาชนในรัฐสภาแห่งนี้ บัตรเสียบที่จะแสดงตนยังไม่มี แต่ยังโชคดีที่มีบัตรสำรอง จึงได้นำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้ลงพื้นที่ขณะหยุดปฏิบัติหน้าที่มาอภิปราย” 

 

พิธากล่าวอภิปรายต่อว่า เมื่อเดือนตุลาคมตนเองได้ลงพื้นที่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. สถานที่แรกที่บ่อขยะตำบลแพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ เมืองแห่งอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีประชาชนอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากเช่นกัน และสถานที่ที่ 2 คือบ่อขยะเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมืองแห่งการท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

 

พิธาได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบและงบประมาณการจัดการขยะของทั้ง 2 พื้นที่ ในจังหวัดสมุทรปราการ ขยะกว่า 2,830 ตันต่อวัน สามารถจัดการได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน 300 ตัน และที่ถูกจัดการโดยไม่ถูกต้องกว่า 2,530 ตัน ซึ่งบ่อขยะที่แพรกษาใหม่อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนเด็กเล็ก ดังนั้นจึงเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย โดย GDP ของจังหวัดสมุทรปราการกว่า 6 แสนล้านบาทนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 1.6 พันล้านบาท หรือ 0.25% ของ GDP จังหวัด

 

ขณะที่จังหวัดภูเก็ตพบว่ามีปริมาณขยะสูงถึง 871 ตันต่อวัน มีความสามารถเผาขยะได้เพียง 700 ตันต่อวัน ดังนั้นจึงกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเมื่อมอง GDP ของจังหวัดที่มีกว่า 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 633 ล้านบาท หรือ 0.31% ของ GDP จังหวัด

 

“หากเราไม่สามารถบริหารจัดการได้… สักวันฝรั่งก็จะเรียกเกาะภูเก็ตว่า Garbage Paradise หรือสรวงสวรรค์ที่เต็มไปด้วยขยะ” พิธากล่าว 

 

พิธากล่าวว่า การจัดการขยะมองเป็นจุดไม่ได้ ต้องมองตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการบริหารจัดการ หากไม่สามารถบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางได้ก็ไม่สามารถที่จะมองไปที่ปลายทางได้ เสมือนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ตั้งแต่ปี 2562-2565 พบว่าประเทศไทยมีขยะสะสมกว่า 63 ล้านตัน ทั้งขยะมูลฝอย กากของเสียของอุตสาหกรรม และของเสียอันตรายจากชุมชน 

 

สำหรับกลางทาง ขยะ 100% สามารถจัดการได้ 88% และอีก 12% เป็นขยะที่ไม่ได้รับการจัดการ ขณะที่ปลายทาง ประเทศไทยมีหลุมขยะทั้งหมด 1,941 หลุม แต่พบว่ามีหลุมที่ได้มาตรฐานเพียง 72 หลุม ดังนั้นจึงขอเสนอกรอบการทำงานไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ปัญหาขยะฯ จำนวน 5 ข้อเสนอ ซึ่งประกอบด้วย

 

  1. ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยต้องทำให้ SMEs และประชาชนเข้าถึงเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนและกลับมาใช้ได้
  2. การออกพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากรฯ ผู้ที่ผลิตจะต้องรับผิดชอบขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการใช้ซ้ำ
  3. โอนอำนาจให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการขยะ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว
  4. เพิ่มเติมงบประมาณสำหรับการดำเนินการบริหารจัดการขยะ งบประมาณปี 2567 นั้นมีงบสำหรับการจัดการปัญหาขยะ 1.8 พันล้านบาท โดยต้องเพิ่มอีก 20 เท่าถึงจะแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทยได้ 
  5. การออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและผู้ที่ได้รับการบำบัดจากการกำจัดขยะ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X