วงการบันเทิงสูญเสียอีกครั้ง เปี๊ยก-พิศาล อัครเศรณี นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ และละครวิทยุระดับตำนาน โดยเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวาย เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ขณะอายุได้ 73 ปี
ชีวิตและการทำงานของ พิศาล อัครเศรณี นั้นโดดเด่นอย่างเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ เนื่องเพราะฉายาสุดคลาสสิก ‘พระเอกซาดิสม์’ และ ‘ผู้กำกับซาดิสม์’ ของเขา ที่แม้ว่าจะฟังดูเถื่อนๆ แปลกๆ เมื่อแรกฟัง
แต่ความจริงมันกลับเป็นเกียรติยศสำคัญของอาชีพนักแสดงและผู้กำกับที่โลดแล่นยาวนาน 43 ปี นับตั้งแต่แจ้งเกิดจากบทบาท ‘เทอด พักทักษ์ติกุล’ พระเอกคาแรกเตอร์สุดโดดเด่นจาก มนต์รักอสูร ทั้งเวอร์ชันละครในปี 2518 และ มนต์รักอสูร ในเวอร์ชันภาพยนตร์ในปี 2521 สร้างขึ้นจากนวนิยายดังเลื่องชื่อของ ‘วรรณนิศา’ และนับตั้งแต่บัดนั้น ถึงแม้ว่าพิศาลจะผ่านงานแสดงในบทบาทอื่นๆ ที่ฉีกแนวแตกต่างตามมาอีกมากมาย อาทิ ละอองดาว (2519), แววมยุรา (2519), ขุนศึก (2520), ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง (2521), ผู้ชนะสิบทิศ (2523), อวสานเซลล์แมน (2530) ฯลฯ
แต่บทบาทการแสดงที่ผู้คนยกย่องจดจำของเขาก็มักจะเป็นผลงานการแสดงผ่านคาแรกเตอร์ ‘พระเอกสายตบจูบ’ ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ในยุคสมัยนั้นมักหยิบยื่นให้ และพิศาลก็มักจะทำมันได้ดีอยู่เสมอ จากทั้งงานละคร มนต์รักอสูร (2532) อุ้งมือมาร (2537) เชลยรัก (2539) เช่นกันกับภาพยนตร์ไทย มนต์รักอสูร (2521) ไฟรักอสูร (2526) หัวใจเถื่อน (2528) พิศวาสซาตาน และ อุ้งมือมาร ในปี 2529 ซึ่งแทบทุกเรื่องล้วนแล้วแต่ฮิตถล่ม! และถูกจดจำมาจนถึงทุกวันนี้
ตำนาน ‘ตบจูบ’ ยังคงถูกต่อยอดไม่รู้จบ ต่อมาหลังจากโลดแล่นในฐานะนักแสดงมาอย่างยาวนาน พิศาล อัครเศรณี พาตนเองก้าวเข้าสู่เส้นทางผู้กำกับ ซึ่งเขาเลือกที่จะเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้ โดยการหยิบงานซึ่งเคยสร้างชื่อและภาพจำของเขาทั้ง มนต์รักอสูร (2532 โดยกำกับเองและแสดงนำเอง) ไฟรักอสูร (2535) อุ้งมือมาร (2537) และ หัวใจเถื่อน (2538) กลับมารีเมกสร้างใหม่อีกครั้ง ซึ่งเขาก็ทำมันออกมาได้ดีและฮิตถล่มไม่แพ้กัน
ตลอดชีวิตการทำงาน เปี๊ยก-พิศาล อัครเศรณี ผ่านทั้งงานแสดงและงานกำกับภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ และละครวิทยุ มาอย่างมากมายกว่า 100 เรื่อง ซึ่งการที่เขายืนยงอยู่คู่กับวงการบันเทิงจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตนั้นได้พิสูจน์แล้วถึงคุณภาพงาน ซึ่ง THE STANDARD เชื่อเหลือเกินว่า มันจะกลายเป็นตำนานคู่วงการบันเทิงไทยไปอีกยาวนาน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
ขอบคุณภาพจาก: