“ต้องทำใจ” วลีแรกที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวหลังสื่อมวลชนสัมภาษณ์ถึงความรู้สึกเมื่อต้องเข้าฟังคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
ขณะที่ตัวเธอเองตกเป็นจำเลยด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ในความผิดมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
อ่านที่มาที่ไปของคดีดังกล่าวได้ที่ จับตาคดี ‘พิรงรอง’ เมื่อบริษัทใหญ่ฟ้อง กสทช. เหตุส่งหนังสือเตือนทีวีดิจิทัลมี ‘โฆษณาแทรก’
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การตีความกฎ Must Carry ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่ กสทช. นำมาใช้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างเท่าเทียม และกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่าย เช่น ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลที่ภาครัฐกำหนด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแทรกแซงเนื้อหา หมายรวมถึงการห้ามตัดต่อ แทรกโฆษณา หรือใส่โลโก้เพิ่มเติม
พิรงรอง รามสูต สวมกอดตัวแทนเพื่อนร่วมงานที่เดินทางมาให้กำลังใจ ก่อนเข้าฟังคำพิพากษา
กสทช. และทรูมองต่างมุม กฎ Must Carry
สำหรับคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ‘ทรูไอดี’ ตัดสินใจฟ้องร้องพิรงรอง ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ สืบเนื่องจากผู้บริโภคร้องเรียนมายัง กสทช. ว่า แอปทรูไอดีถ่ายทอดช่องทีวีดิจิทัล แต่มีการแทรกโฆษณาระหว่างเปลี่ยนช่อง
กสทช. เห็นว่าเรื่องนี้ผิดกฎ Must Carry เพราะถือว่าเป็นการแทรกแซงเนื้อหา พิรงรองจึงทำหนังสือแจ้งเตือนให้บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ปฏิบัติตามกฎ อย่างไรก็ตาม บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด แย้งว่า ทรูไอดีเป็นบริการแบบ OTT (Over-The-Top) หรือบริการแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นรูปแบบบริการที่ กสทช. ยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลชัดเจน
บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด จึงฟ้องร้อง โดยอ้างว่าพิรงรองใช้อำนาจโดยมิชอบ สั่งให้สำนักงาน กสทช. ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการโทรทัศน์ 127 ราย เตือนว่าการให้บริการของทรูไอดีอาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้สถานีโทรทัศน์หลายแห่งลังเลหรือระงับความร่วมมือกับทรูไอดี ทำให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นการกลั่นแกล้งและใช้อำนาจกดดัน
หลังการฟ้องร้อง พิรงรองชี้แจงว่า ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง เห็นว่าการที่ทรูไอดีนำช่องทีวีดิจิทัลทั้งช่องไปเผยแพร่อาจขัดต่อประกาศ กสทช. เพราะทรูไอดีไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. และยังแทรกโฆษณาด้วย จึงมีหนังสือแจ้งไปยังช่องทีวีดิจิทัล ระบุว่า ทรูไอดีไม่ได้รับใบอนุญาต และมีมติให้ไปตรวจสอบต่อว่า มีผู้ให้บริการกระทำแบบเดียวกับทรูไอดีหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า การส่งหนังสือเป็นการเสนอแนะ ไม่ได้ออกคำสั่ง
พิรงรอง รามสูต เดินทางกลับจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หลังฟังคำพิพากษา
คำพิพากษาชี้ขาด กสทช. ไม่ได้ควบคุม OTT
สาระสำคัญในคำพิพากษาล่าสุดของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางชี้ว่า ทรูไอดีให้บริการมาตั้งแต่ปี 2559 ขณะเกิดคดี กสทช. ยังไม่มีระเบียบกำหนดให้ผู้ให้บริการ OTT ต้องขอใบอนุญาต และ กสทช. เองก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในที่ประชุมเกี่ยวกับการกำกับดูแล OTT
ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่พิรงรองเป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พิรงรองเสนอให้ใช้มาตรการบีบทรูไอดีทางอ้อม โดยไปกดดันสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยพิรงรองกล่าวในที่ประชุมว่า
“วิธีการที่เราจะจัดการเรื่องนี้ ไม่ได้ไปทำที่โจทก์โดยตรง แต่ไปทำที่ช่องรายการที่รับใบอนุญาตจาก กสทช. เป็นการใช้วิธีตลบหลัง”
ต่อมามีการส่งหนังสือแจ้งไปยังสถานีโทรทัศน์ 127 รายทันที ระบุว่า ทรูไอดียังไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทำให้สถานีโทรทัศน์หลายแห่งชะลอหรือระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนแพลตฟอร์มทรูไอดี
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค และ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. มอบดอกไม้ให้กำลังใจพิรงรอง หลังถูกบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้อง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567
ในการประชุมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวทาง เนื่องจากเป็นการกระทำที่มุ่งเป้าไปที่ทรูไอดีเพียงรายเดียว แต่พิรงรองกลับพยายามโน้มน้าวและรวบรัดการพิจารณา ก่อนจบการประชุมยังสั่งการให้เตรียมความพร้อมล้มหรือระงับการให้บริการทรูไอดีของโจทก์ โดยกล่าวว่า “ต้องเตรียมตัว จะล้มยักษ์”
ศาลเห็นว่า คำพูดนี้ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำให้ทรูไอดีได้รับความเสียหายโดยเฉพาะ แม้จำเลยอ้างว่าเป็นเพียงการพูดในที่ประชุม แต่ศาลเห็นว่าการกระทำของเธอส่งผลกระทบต่อธุรกิจของโจทก์จริง
“จำเลยในฐานะกรรมการ กสทช. และประธานคณะอนุกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ กลั่นกรอง และให้ความเห็นเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ แต่ไม่มีอำนาจสั่งการให้เร่งรัดหรือดำเนินการเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม OTT เป็นการเฉพาะ”
ศาลชี้ว่า จำเลยกลับมีคำพูดและการสั่งการในลักษณะที่มุ่งกลั่นแกล้งโจทก์โดยเฉพาะ และเป็นการละเมิดอำนาจหน้าที่ จึงนำมาสู่บทลงโทษดังกล่าว
คดีนี้มีข้อสังเกตทางกฎหมายที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะการสะท้อนปัญหาที่ กสทช. ยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนเกี่ยวกับการกำกับดูแล OTT ทำให้เกิดช่องโหว่ในการตีความว่า การเข้าแทรกแซง OTT ของ กสทช. อาจเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษาหรือไม่
ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค และตัวแทนภาคประชาชน ชูป้ายให้กำลังใจพิรงรองหน้าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง