×

พีระพันธุ์แจงโครงการซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ย้ำดำเนินการถูกต้อง ชี้ รมว.พลังงาน อำนาจจำกัด ต้องเร่งแก้กฎหมายให้โปร่งใส

โดย THE STANDARD TEAM
20.04.2025
  • LOADING...
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน ชี้แจงโครงการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์

วันนี้ (20 เมษายน) ศศิกานต์​ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า เรื่องการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านได้ตั้งกระทู้ถามในสภาเมื่อเดือนที่ผ่านมา และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบไปอย่างครบถ้วนแล้ว 

 

โดยโครงการประมูลดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2565 ในรัฐบาลที่ผ่านมา ในรอบแรกมีการประมูลขนาด 5,200 เมกะวัตต์ ซึ่งหลังจากการประมูลเสร็จสิ้น ผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ แต่ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยยกฟ้องทุกกรณีแล้ว จึงไม่มีข้อกฎหมายใดเป็นอุปสรรคต่อการลงนามในสัญญาอีกต่อไป และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งจึงเริ่มทยอยดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง 

 

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องลงนามในสัญญาภายในสอง 2 ปี โดยในส่วนของไฟฟ้าจากแสงแดดจะครบกำหนดในวันที่ 18 เมษายน 2568 ส่วนพลังลมครบกำหนดภายในปี 2569

 

สำหรับการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,200 เมกะวัตต์ในเฟสแรกนั้น มีการประมูลที่ 4,852 เมกะวัตต์ มีสัญญาทั้งสิ้น 175 ฉบับ มีโครงการ ที่ กฟผ. เกี่ยวข้อง 83 โครงการ และเซ็นสัญญาแล้ว 67 โครงการ โดยเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 และทางกฤษฎีกาได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากมีการเซ็นลงนามสัญญาไปแล้ว หากยกเลิกหรือชะลอการเซ็นลงนามสัญญาส่วนที่เหลือ อาจจะทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย 

 

ในส่วนของ 16 โครงการที่ยังไม่ได้ลงนามนั้น หากจะหยุดกระบวนการทันที จะทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย  เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนที่มีการดำเนินการล่วงหน้าแล้ว และ กฤษฎีกาได้แนะนำให้ กฟผ. ใส่เงื่อนไขในสัญญาเพิ่มเติมว่า หากภายหลังพบว่าการประมูลมีปัญหาทางกฎหมายหรือผิดขั้นตอนใดๆ ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ โดยไม่ต้องรอให้ครบสัญญา 25 ปี  

 

ดังนั้นทั้ง 3 สัญญาที่ลงนามไปเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา จึงได้มีการดำเนินการตามเงื่อนไขที่ต้องลงนามในสัญญาภายใน 2 ปี และมีการปรับเงื่อนไขของสัญญาตามคำแนะนำของกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ขอให้วางใจได้

 

ขณะเดียวกันสำหรับ 16 สัญญาที่เหลือ พีระพันธุ์ได้หารือกับผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อหาช่องทางทางกฎหมายในการชะลอการลงนามเพื่อให้มีเวลาตรวจสอบประเด็นที่สังคมกังวลอย่างรอบคอบ โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่จะครบกำหนดในปี 2569 ขณะนี้ ผู้ว่าฯ กฟผ. กำลังตรวจสอบข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางดำเนินการให้สอดคล้องกับกรอบอำนาจที่มี

 

ดังนั้นจึงขอให้มั่นใจว่าการเซ็นสัญญาครั้งนี้จะไม่เป็นข้อผูกมัดไป 25 ปี เพราะสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที หากพบว่ามีการกระทำผิด 

 

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565   และรัฐมนตรีพลังงานไม่มีอำนาจใน กกพ. เลย  

 

ส่วน กฟผ. นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจแค่กำกับ จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในเชิงโครงสร้างที่ต้องมีการแก้ไข ซึ่งพีระพันธุ์ระบุชัดว่า หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ของการปฏิรูปพลังงานคือ ปัญหากฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กฎหมายพลังงานที่มีอยู่จำกัดอำนาจรัฐมนตรีในการกำกับดูแลอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่เปิดช่องให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใดๆ ในอนาคต

 

“ขอยืนยันว่า หากมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าโครงการใดผิดกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยขั้นตอน ก็สามารถดำเนินการยกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบอายุสัญญา 25 ปี พร้อมย้ำว่ารัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย”

 

ศศิกานต์ยังย้ำด้วยว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกเสียงของประชาชนและฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ แต่ขอให้การนำเสนอข้อกล่าวหาเป็นไปอย่างรอบคอบและยึดข้อเท็จจริง มิใช่การบิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising