เป็นเรื่องปกติของนักร้องระดับซูเปอร์สตาร์ที่จะต้องมาพร้อมทีมงานการตลาดระดับยอดเซียน ทีมนักแต่งเพลงที่พร้อมจะนำเรื่องราวมาขีดเขียนผ่านปลายปากกาเป็นบทกวี หรือทีมนักดนตรีผู้คลุกคลีกับซาวด์อันที่เป็นที่นิยมในตลาด รังสรรค์ออกมาได้ผลผลิตเป็นนักร้องฮอตฮิตติดชาร์ตผู้ไม่เคยพลาดที่จะประคองความป๊อปปูลาร์ของตนให้อยู่ในกระแสมหาชนเป็นเวลานาน
แต่จะมีศิลปินสักกี่คนในวงการที่มิใช่เพียงแค่ครอบครองสถิติยอดขายอัลบั้มในหลักหลายล้าน แต่ยังเป็นศิลปินผู้สร้างแรงขับเคลื่อนทางใจ ร้อยเรียงเรื่องราวถ่ายทอดผ่านทั้งภาพ เสียง และตัวตนของเธอเองออกมาสู่สายตาแฟนเพลง ผ่านความดื้อรั้นลั่นขบถ ความคิดเห็นในประเด็นสังคม ความอ่อนไหวทว่าดุดันแห่งเพศหญิง และเสียงร้องอันทรงพลัง กับความสามารถในการแสดงบนเวทีที่แม้แต่นักยิมนาสติกบางคนยังต้องอ้าปากค้าง เธอเป็นหนึ่งในโรลโมเดลคนสำคัญสำหรับศิลปินเพลงป๊อปในปัจจุบัน รวมทั้งหญิงสาวในแต่ละช่วงวัยที่ต้องผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมายในชีวิต เธอคือ P!nk
P!nk หรือชื่อจริง อลีเซีย เบธ มัวร์ ได้ก้าวเข้ามาสู่วงการดนตรีตั้งแต่อายุ 16 ปี จากการฟอร์มวงกับเพื่อนสาวอีกสองคน จนเดโมเทปของพวกเธอถูกส่งไปถึงนักปั้นมือฉมังอย่าง L.A. Reid แห่ง LaFace Records ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแห่งการเริ่มต้นฝึกฝนเพื่อที่จะเข้าวงการจนได้บันทึกเสียงอัลบั้ม ทว่าฝันของเด็กสาวทั้งสามคนได้กลายเป็นหมัน ไม่รู้ว่าโชคชะตาเข้าข้าง P!nk หรือเพื่อนเธออีกสองคนโชคร้ายกันแน่ เธอถูกยื่นคำขาดให้ต้องตัดสินใจออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว มิเช่นนั้นเธอจะต้องกลับบ้านไปแบบไม่ได้เซ็นสัญญาแจ้งเกิดใดๆ ทั้งสิ้นกับทางบริษัท
แน่นอนว่าในเมื่อมีโอกาส ทุกคนก็ย่อมต้องคว้ามันเอาไว้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางดนตรีที่มีเสน่ห์จากอารมณ์ขันอันล้นเหลือของเธอเป็นจุดขาย บวกกับพลังแห่งเส้นเสียงที่หนักหน่วง ทว่านุ่มลึก ทำให้ Babyface โปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินมหาฮิตในยุคนั้นอย่าง โทนี แบรกซ์ตัน, วิตนีย์ ฮุสตัน หรือ TLC ตัดสินใจเข้ามากุมบังเหียนผลิตผลงานเพลง ซึ่งแน่นอนว่า P!nk ผู้มาพร้อมเอกลักษณ์ผมสั้นติดหนังหัวสีชมพูแปร๋นได้ถูกจับตามองในฐานะศิลปินป๊อป-อาร์แอนด์บีที่มาแรงที่สุดแห่งยุค 2000s จากสตูดิโออัลบั้มแรก Can’t Take Me Home ทว่าภายใต้ความสำเร็จนั้น ตัวเธอเองยังรู้สึกเหมือนมีหลายสิ่งหลายอย่างภายในใจ ซึ่งยังไม่ถูกระบายออกไปผ่านผลงานดนตรีที่เธอมองว่ายังไม่ได้สะท้อนตัวตนอันแท้จริงของเธอออกมาเท่าไรนัก
“ฉันต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ ฉันยังไม่อยากตายตอนอายุ 27 ฉันเคยลองเดินทางไปบนถนนอันมืดมิด แต่ตอนนี้ชีวิตฉันกลับคืนมาแล้ว แล้วฉันไม่ต้องการจะกลับไปสู่ความผิดพลาดเดิมๆ ซ้ำๆ อีก”
P!nk ให้สัมภาษณ์กับ Music OMH ในปี 2004
การเข้าไปมีส่วนร่วมที่มากขึ้นในขั้นตอนการทำเพลงทำให้ P!nk กำหนดทิศทางดนตรี รวมถึงขอบเขตแห่งจินตนาการในการเขียนเนื้อเพลงได้อย่างมีอิสระมากขึ้น เธอเลือกที่จะค่อยๆ เบนเข็มจากการเน้นดนตรีจังหวะสนุกสนานและเนื้อร้องเบสิกว่าด้วยชีวิตรักๆ ใคร่ๆ มาเป็นการดึงผู้คนให้จมดิ่งลงไปในโลกส่วนตัวของเธอเอง สัมผัสประสบการณ์ชีวิตของตัวเธอเองผ่านบทเพลงซึ่งสะท้อนปัญหาของ P!nk นับตั้งแต่สมัยวัยรุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน
ทั้งประเด็นว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว การเติบโตมาพร้อมกับเสียงข้าวของเครื่องใช้แตกหักพังทลาย และเสียงผู้ปกครองตะโกนด่าทอกันจากเพลง Family Portrait หรือประเด็นว่าด้วยหนึ่งในทางออกของหญิงสาววัยหัวเลี้ยวหัวต่อซึ่งเลือกจะหนีปัญหาต่างๆ ในชีวิตด้วยการใช้ยาเสพติดเป็นเครื่องบำบัด จนค้นพบในท้ายที่สุดว่านั่นไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่เป็นการค่อยๆ ทำร้ายร่างกายให้ป่นปี้ไปกับฤทธิ์ยาด้วยการอุปมาผ่านเรื่องราวของการเลิกรากันในเพลง Just Like A Pill แม้แต่ประเด็นเพื่อนใจวัยรุ่นว่าด้วยความรู้สึกอัดอั้นตันใจของหญิงสาวเกี่ยวกับภาพลักษณ์ การถูกตัดสินโดยคนอื่น ความมั่นใจ การเคารพในตนเอง และความกดดันจากการต้องพยายามนำตัวไปเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นในเพลง Don’t Let Me Get Me
สิ่งที่ตัวเพลงของเธอได้มอบให้แก่ผู้ฟังมิใช่เพียงแค่ดนตรีสำหรับเปิดคั่นงานปาร์ตี้กับมหาชนชาวป๊อปร็อก แต่ยังเปรียบเสมือนไดอะรีที่ลากนำอารมณ์ของผู้ฟังให้เข้าไปมีส่วนร่วมในบทเพลงผ่านปลายปากกาของเธอ เป็นตัวแทนของวัยรุ่นครึ่งค่อนโลกที่ต้องผ่านช่วงเวลาบ้าๆ บอๆ ในชีวิต ช่วงเวลาแห่งการสะสมอัตลักษณ์แห่งตัวตน ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่จะเติบโต และช่วงเวลาลองผิดลองถูก ลองทำในหลายๆ สิ่งจนได้คนพบทั้งแสงสว่างและความมืดมิดของโลกในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งท้ายที่สุด
ในอัลบั้ม I’m Not Dead ที่ออกวางจำหน่ายในปี 2006 นั้นดูเหมือนว่า P!nk ตั้งใจจะกลับมาตอกย้ำเชิงประชดแก่บางคนที่ภาวนาให้เธอรีบๆ หายไปจากวงการซะ หลังจากผลงานสตูดิโออัลบั้มที่สอง Try This! ในปี 2003 นั้นค่อนข้าง ‘กริบ’ ในแง่ของผลตอบรับเมื่อเทียบกับสองอัลบั้มก่อน แน่นอนว่าเธอยังคงคอนเซปต์ของการเป็นผู้หญิงแกร่งผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย และยังไม่ลืมไว้ลายที่จะนำปรัชญาการใช้ชีวิต รวมถึงแง่คิดเสียดสีสังคมในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย
จุดนี้เองที่นักวิจารณ์เพลงรวมถึงแฟนคลับของ P!nk เริ่มจะมองเห็นถึงทิศทางและจุดยืนในการเขียนเพลงของเธอ ซึ่งได้กลายเป็นเสมือนลายเซ็นประจำตัวของ P!nk ในปัจจุบัน เนื้อเพลงที่ว่าด้วยการให้กำลังใจผู้หญิงทุกเพศทุกวัย การโน้มน้าวปลูกฝังค่านิยมของความสวยงาม ความแข็งแกร่ง และการรู้คุณค่าของตนเอง ซึ่งต้องเริ่มจากภายในของมนุษย์เดินดินทุกคน ผ่านปลายปากกาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันและดนตรีที่ติดหู เช่น เพลง Stupid Girls ที่มีการจิกกัดภาพลักษณ์อันฉาบฉวยและปลอมเปลือกของหญิงสาวอเมริกัน โดยมีการอ้างอิงปารีส ฮิลตัน, เจสสิก้า ซิมป์สัน หรือแม้แต่ลินด์เซย์ โลฮาน ผ่านมิวสิกวิดีโอ โดยถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะมองว่าเธอไม่มีความจำเป็นต้องล้อเลียนใครเพื่อที่จะสร้างค่านิยมบางอย่างแก่คนฟัง แต่ประเด็นหลักของเนื้อหาเพลงซึ่งว่าด้วยการทำตัวให้มีคุณค่า การตั้งมั่นในความคิดความอ่านที่ตนเห็นว่าถูกว่าควรโดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องลอกเลียนแบบใครเพื่อให้ได้การยอมรับจากคนอื่น ก็ยังเป็นสิ่งที่นักวิจารณ์หลายสำนักต่างยกย่อง P!nk ในฐานะศิลปินที่ ‘แคร์’ สังคม และพร้อมที่จะอุทิศผลงานเพลงเพื่อประโยชน์แก่คนฟังทั้งทางด้านความบันเทิงและเนื้อหาสาระอย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะเป็นแผนธุรกิจอันแยบยลของต้นสังกัดเพลงที่วางเกมให้เธอกลายเป็นศิลปินที่คลับคล้ายคลับคลาเหมือนจะเรียกได้ว่ามีเนื้องานในแนว ‘เพื่อชีวิต’ หรือไม่ก็ตาม ผลงานดนตรีในยุคต่อมาของ P!nk นั้นล้วนแล้วแต่แฝงปรัชญาชีวิตและแง่คิดต่างๆ จากประสบการณ์ส่วนตัวของเธอแทบทั้งสิ้น เพลงของเธอได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เปรียบเสมือนแรงกระตุ้นขับดันให้ผู้ฟังได้ก้าวออกมาจากความหวาดกลัว ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจากปมด้อยของตนเอง และหันมาเสริมสร้างกำลังใจ ความมั่นใจ และความภาคภูมิใจให้แก่ผู้รับสาร นั่นรวมถึงหนึ่งในกลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่นของเธอ ซึ่งคือกลุ่ม LGBT หรือกลุ่มเพศที่สามนั่นเอง
“สิ่งที่ดีที่สุดคือเมื่อพวกเราหยุดนิยามใครบางคนว่าเป็นเพศอะไร ไม่ว่าด้วยเพศสภาพใดก็ตาม ไม่ควรมีการสมรสใดถูกเรียกว่าเป็นการสมรสของชาวเกย์ การสมรสมันก็คือการสมรส”
P!nk ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The Advocate ในปี 2012
เธอยอมรับว่าเคยมีความสัมพันธ์แบบหญิง-หญิงเมื่อครั้งย้ายมาอยู่เมืองลอสแอนเจลิสช่วงแรกๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน ในนิยามแห่งเพศสภาพ เธอเป็นเพียงแค่ ‘คนคนหนึ่งซึ่งสามารถเกิดความรักได้กับสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุข’ และนั่นทำให้เธอได้ตกลงเข้าพิธีสมรสกับนักแข่งมอเตอร์ไซค์วิบากนาม แครีย์ ฮาร์ต ในปี 2006 ต่อด้วยการออกอัลบั้มรวมฮิต Greatest Hits… So Far!!! ในปี 2010 พร้อมด้วยสองซิงเกิลที่เปรียบเสมือนปูนฉาบผนึกลายเซ็นของความเป็น P!nk แก่กำแพงดนตรีอย่าง Raise Your Glass และ Fuckin’ Perfect ซึ่งเธอได้กล่าวถึงการปลุกระดมความกล้าหาญในตนเองให้กล้าออกไปทำสิ่งต่างๆ ให้ชีวิตในเนื้อหาของเพลงแรก และได้กล่าวถึงการค้นหาความสวยงามอันสมบูรณ์แบบในอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะมีลักษณะทางกายภาพเช่นไร จะถูกสังคมขีดเส้นใต้ว่ากำลังดำรงอยู่ในเพศสภาพไหน ซึ่งทั้งสองเพลงประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงบนชาร์ต Billboard Hot 100 โดย Raise Your Glass ทะยานขึ้นไปถึงอันดับที่ 1 และ Fuckin’ Perfect ในอันดับที่ 2 เป็นการตอกย้ำว่าความ ‘ขบถ’ จากกบฏสาวนามว่า P!nk นั้น ได้รับการตอบรับจากผู้ฟังเป็นอย่างดี ถึงแม้จะไม่มีมิวสิกวิดีโอที่เธอต้องออกมาแต่งกายยั่วยวนนุ่งน้อยห่มน้อย หรือการขยันสร้างข่าวฉาวในวงการเพื่อให้ยังสามารถมีพื้นที่สื่ออยู่ตลอดเวลา
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดซึ่งเพิ่งจะเกิดขึ้นไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้แก่ การที่เธอได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับ The Sunday People เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดูบุตรสาวนามว่า วิลโลว์ ของเธอกับสามีว่าเธอจะไม่มีทางเข้าไปก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพในการเลือกดำเนินชีวิตของลูก ซึ่งนั่นรวมถึงการที่วิลโลว์ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินตามรอยวิถีชีวิตของสตรีในสังคมตามจารีตและบรรทัดฐานที่คนส่วนใหญ่คิดว่าสตรีทั่วไปควรจะกระทำหรือควรจะเป็น เธอกล่าวว่าลูกสาวของเธอสามารถเลือกที่จะตกหลุมรักอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะด้วยเพศสภาพใดๆ ก็ตาม
P!nk ซึ่งปัจจุบันอายุ 38 ปี ยังคงเดินหน้าออกผลงานเพลงมาสู่ตลาดและมิตรรักแฟนเพลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับการเดินหน้าเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต ซึ่งเธอเคยกล่าวว่า ‘มันไม่มีวันสิ้นสุด’ เกียรติภูมิแห่งความเป็นกบฏของวงการดนตรีนั้นจะไม่สิ้นสุดอยู่เพียงแค่รางวัล Woman of The Year ซึ่งนิตยสาร Billboard มอบให้เธอในปี 2013 หรือการถูกกล่าวนามยกย่องว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในวงการอย่าง Tegan and Sara, เคที เพอร์รี, เคชา, เดมี โลวาโต หรือแม้แต่อเดล
ทั้งหมดนี้แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ตลอดระยะเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์ว่า P!nk ได้กลายเป็นหนึ่งในโรลโมเดลที่มอบแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบให้กับผู้หญิงสมัยใหม่ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่กำลังพยายามค้นหาเปลวไฟที่ลุกโชติช่วงในตัวตน แล้วก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง
- Spotify: This Is P!nk
อ้างอิง:
- www.etonline.com/pink-explains-why-shes-raising-daughter-willow-gender-neutral-92095
- web.archive.org/web/20090331172604/http://www.musicomh.com/music/features/pink.htm
- www.advocate.com/print-issue/cover-stories/2012/10/16/truth-about-pink
- www.mtv.com/news/1623246/pink-the-worlds-most-underrated-superstar
- www.antimusic.com/news/13/March/20Pink_Extends_Truth_About_Love_Tour_Plans_With_New_Fall_Leg.shtml