สารภาพตามตรงว่าส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้ติดตามผลงานการแสดงของ Nicolas Cage (นิโคลัส เคจ) เท่าไรนัก ความทรงจำที่เรามีร่วมกับ Nicolas Cage จึงเป็นผลงานการแสดงในยุครุ่งเรื่องของเขาเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Con Air (1997), Face/Off (1997), National Treasure (2004) ฯลฯ
กระทั่งเราได้ชมตัวอย่างของ PIG หมูข้าหายกับความหมายของชีวิต ภาพยนตร์ดราม่าเรื่องล่าสุดของ Nicolas Cage ที่มาพร้อมกับพล็อตเรื่องง่ายๆ อย่างการออกตามหาหมูที่หายไป และบรรยากาศของเรื่องที่ดูเข้มข้นจริงจัง ซึ่งตัวภาพยนตร์ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์บนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes อย่างล้นหลามด้วยคะแนนที่สูงถึง 97% กลายเป็นผลงานการแสดงของ Nicolas Cage ที่ได้รับคะแนนจากนักวิจารณ์สูงที่สุดบน Rotten Tomatoes อีกทั้งภาพยนตร์ยังส่งให้ Nicolas Cage ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขา Best Actor บนเวทีภาพยนตร์อีกหลายเวที
PIG จึงเป็นผลงานภาพยนตร์ของ Nicolas Cage ที่ค่อนข้างโดดเด่นสะดุดตา และชวนให้เราติดตามมากกว่าหลายๆ ผลงานที่ผ่านมาพอสมควร
PIG เล่าเรื่องราวของ ร็อบ (Nicolas Cage) ชายหนุ่มที่ปลีกวิเวกตนเองออกจากเมืองใหญ่มาใช้ชีวิตอย่างสันโดษท่ามกลางป่าเขาในแถบรัฐออริกอน และหาเลี้ยงชีพด้วยการหาเห็ดทรัฟเฟิลตามป่าร่วมกับเจ้าหมูตัวน้อยที่ถูกฝึกฝนให้ช่วยตามหาเห็ดทรัฟเฟิลโดยเฉพาะ เพื่อส่งให้กับ อาเมียร์ (Alex Wolff) นักธุรกิจหนุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับจัดหาวัตถุดิบทำอาหาร
แต่แล้วชีวิตอันเงียบสงบของร็อบก็พังทลายลง เมื่อจู่ๆ ก็มีกลุ่มคนปริศนาบุกเข้ามาทำร้ายและขโมยหมูของเขาไป ร็อบจึงต้องเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่อีกครั้งเพื่อตามหาหมูที่เสมือนเป็นคนในครอบครัวของเขาให้พบ
หากมองจากเพียงตัวอย่าง PIG เหมือนจะเป็นภาพยนตร์แนวระทึกขวัญที่เต็มไปด้วยปริศนาให้เราร่วมหาคำตอบ พร้อมกับฉากแอ็กชันดิบเถื่อนเลือดสาด แต่หลังจากที่เราได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จนจบ PIG กลับเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่องเข้มข้นจริงจัง และแอบแฝงปรัชญาชีวิตเอาไว้ให้ผู้ชมได้ร่วมตกตะกอนความคิด ไม่ได้มีฉากระทึกขวัญให้เราเสียวสันหลังหรือฉากที่ทำให้เราได้ลุ่นระทึกเท่าไรนัก
โดยผู้กำกับ Michael Sarnoski เลือกจะดำเนินเรื่องแบบ Slow Burn ด้วยการพาผู้ชมไปสำรวจเรื่องราวของร็อบอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านสถานที่และบทสนทนาระหว่างร็อบและผู้คนที่เขาเดินทางไปพบเจอ ไล่เรียงตั้งแต่ภูมิหลังในอดีตของร็อบ เหตุผลที่ผลักดันให้เขาย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตกลางป่าเขา ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างร็อบและผู้คนในเมืองพอร์ตแลนด์
ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยังนำเสนอความเว้าแหว่งของมนุษย์ผ่านเรื่องราวของตัวละครรอบข้าง เช่น ประเด็นของชื่อเสียงและเงินทองที่ค่อยๆ กัดกินตัวตนของคนคนหนึ่งไปโดยไม่รู้ตัว, การพยายามพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น, การแบกรับความบอบช้ำในจิตใจที่เกิดขึ้นจากความสูญเสียในอดีต และอีกหลากหลายประเด็นที่เราเชื่อว่าผู้ชมจะสามารถเชื่อมโยงและมีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครเหล่านั้นได้ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง
แม้ว่าเรื่องราวจะดำเนินไปอย่างเนิบช้า แต่องค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งของภาพยนตร์ที่ชักชวนให้เราติดตามเรื่องราวของร็อบไปได้ตลอดทั้งเรื่อง คืองานโปรดักชันที่ละเมียดละไมในทุกรายละเอียด โดยเฉพาะงานกำกับภาพของ Patrick Scola ที่นำเสนอความรู้สึกขมุกขมัวที่ตัวละครกำลังเผชิญผ่านมุมภาพ แสง และการเกรดสีของภาพออกมาให้ผู้ชมได้สัมผัสอย่างครบถ้วน อีกทั้งยังเลือกถ่ายช็อต Long Take ที่อาจจะไม่ได้มีความยาวมากนัก แต่กลับทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ
ส่วนองค์ประกอบที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง คือการแสดงอันยอดเยี่ยมของ Nicolas Cage ที่น้อยแต่มาก ไม่โฉ่งฉ่างแต่ลุ่มลึก ทั้งการแสดงอารมณ์ผ่านทางสีหน้า แววตา และน้ำเสียงที่ทำให้เรามีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้ตลอดทั้งเรื่อง รวมถึงนักแสดงสมทบอย่าง Alex Wolff ที่สวมบทเป็น อาเมียร์ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่ง Alex Wolff ก็สามารถนำเสนอเรื่องราวของนักธุรกิจหนุ่มคนนี้ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจากต้นเรื่องออกมาได้อย่างมีมิติ และยังช่วยเสริมให้ประเด็นดราม่าของร็อบเด่นชัดยิ่งขึ้นอีกด้วย
ในภาพรวมแล้ว ด้วยความที่ PIG เลือกที่จะดำเนินเรื่องแบบ Slow Burn และมีเนื้อหาเชิงปรัชญาชีวิตที่ชวนให้เราต้องขบคิดและตีความพอสมควร มันจึงเป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของภาพยนตร์ในเวลาเดียวกัน หากคุณชื่นชอบภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องกระชับฉับไว มีฉากที่ชวนให้ลุ้นระทึก PIG อาจจะทำให้คุณรู้สึกง่วงระหว่างชมได้ไม่ยาก แต่หากคุณชื่นชอบภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องในลักษณะนี้อยู่แล้ว เราคิดว่า PIG จะสามารถพาคุณไปซึมซับและดำดิ่งกับเรื่องราวการตามหาหมูที่หายไปของร็อบได้อย่างแน่นอน
สำคัญที่สุด หากคุณเป็นแฟนตัวยงของ Nicolas Cage แล้วละก็ เราคิดว่า PIG คือหนึ่งในผลงานการแสดงอันยอดเยี่ยมของเขาที่คุณห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
PIG มีกำหนดเข้าฉาย 6 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่
อ้างอิง: