ในอาณาจักร Cartier นอกจากซีอีโอ Cyrille Vigneron ที่โฟกัสด้านภาพรวมของธุรกิจเป็นหลัก อีกหนึ่งบุคคลที่ช่วยขับเคลื่อนให้แบรนด์ยังมีบทบาทสำคัญในสังคมและวัฒนธรรมทั่วทุกมุมโลกก็ต้องยกให้ Pierre Rainero ที่อยู่กับ Cartier มานานเกือบ 4 ทศวรรษ ตั้งแต่ปี 1984 และทุกวันนี้ดำรงตำแหน่ง Image, Style and Heritage Director of Cartier
โดยล่าสุดที่งานเปิดตัวคอลเล็กชันเครื่องประดับชั้นสูง Le Voyage Recommencé ณ กรุงปักกิ่ง THE STANDARD POP ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Pierre Rainero เพื่อเข้าใจบทบาทของเขาและจุดยืนของแบรนด์ Cartier ในแง่มุมต่างๆ
Pierre Rainero
อยากให้ช่วยอธิบายตำแหน่งของคุณที่ Cartier ให้ฟังหน่อย
ตำแหน่งของผมค่อนข้างหลากหลาย แต่หัวใจสำคัญคือการเป็น Director of Style ที่ต้องร่วมทำงานกับเหล่าดีไซเนอร์ทั้งหมดของ Cartier เพื่อให้ทุกคนอยู่บนเส้นทางความสำเร็จเดียวกัน คุยภาษาเดียวกัน และช่วยกันรังสรรค์สิ่งที่อยากจะนำเสนอในอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน Cartier ก็มีสไตล์ที่ชัดเจนตั้งแต่นับหนึ่งที่ไม่ได้เพิ่งเกิดวันนี้หรือเมื่อวาน แต่เป็นหลายศตวรรษก่อน ซึ่งเราก็ต้องเชื่อมโยงสไตล์ของ Cartier ที่เราเห็นกันทุกวันนี้ให้เข้ากับเรื่องราวมรดก (Heritage) ความเป็นมาของแบรนด์ ซึ่งนั่นก็คือส่วนที่สองของตำแหน่งผมที่ต้องดูแลเรื่อง Heritage ทั้งหมดของ Cartier แต่นั่นก็ไม่ได้เกี่ยวกับการดีไซน์สินค้าเท่านั้น ผมยังต้องช่วยสรรหาวิธีและทำโปรเจกต์กับสถาบันวัฒนธรรมมากมายทั่วโลกให้คนได้รู้จัก Cartier ในมุมที่ร่วมสมัย แต่ก็ยังลิงก์กับประวัติศาสตร์อันยาวนานของเรา
คุณยังจำไอเท็มแรกของ Cartier ที่คุณเป็นเจ้าของได้ไหม
แน่นอน มันคือนาฬิการุ่น Tank Must ซึ่งในยุค 80 นาฬิการุ่นนี้ทำมาจากสเตอร์ลิงซิลเวอร์ (Sterling Silver) ที่ชุบทอง ซึ่งภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Vermeil ผมจำได้ว่าหน้าปัดนาฬิกาก็มาในสีงาช้างด้วย
คุณคิดว่าสินค้า Cartier ต่างจากคู่แข่งในตลาดอย่างไรบ้าง
ผมว่า Cartier มีมุมมองและสไตล์ที่ชัดเจนกับผลงานการดีไซน์ทุกชิ้น ซึ่งก็ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของ Louis Cartier รุ่นที่ 3 ของตระกูล Cartier เพราะคุณรู้ไหม ที่จริงแล้วตอนที่ Cartier ก่อตั้งเมื่อศตวรรษที่ 19 คุณปู่ของเขา Louis-François Cartier ก็ยังไม่ได้มีไอเดียขนาดนั้นว่าสินค้า Cartier ควรเป็นอย่างไรถึงจะเป็นที่จดจำ แต่พอหลานอย่าง Louis Cartier เริ่มทำงานกับแบรนด์เมื่อปี 1898 เขาก็ได้ช่วยริเริ่มหลายอย่างที่ผลิตสไตล์ Cartier ที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้
คอลเล็กชัน Le Voyage Recommencé ณ กรุงปักกิ่ง
คอลเล็กชันเครื่องประดับชั้นสูงล่าสุด Le Voyage Recommencé แตกต่างและพิเศษกว่าคอลเล็กชันครั้งก่อนๆ อย่างไร
ผมว่าทุกคอลเล็กชันเครื่องประดับชั้นสูงก็พิเศษหมดและยากที่จะเปรียบเทียบ แต่สำหรับคอลเล็กชัน Le Voyage Recommencé ผมว่าทีม Cartier ได้ยกระดับและลงลึกในการดีไซน์รูปทรงของเครื่องประดับ มีการผสมผสานสีของอัญมณีที่แปลกใหม่ และยังใช้วัสดุที่หลากหลายขึ้น อย่างเช่นตัวอย่างหนึ่งคือบุษราคัมที่มิกซ์กับไพลินหลากสี หรือจะเป็นชิ้นนิล (Onyx) สีดำที่พยายามสร้างคอนทราสต์กับรูปทรงและสีที่สะดุดตา แต่ก็ยังคงดีเอ็นเอที่เห็นแล้วรู้ว่าเป็นชิ้นของ Cartier
คุณได้มีโอกาสมาศึกษาตลาดประเทศไทยบ้างไหม
ผมว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งความพัฒนานี้อยู่ที่การเปิดรับและความอยากรู้สิ่งใหม่ๆ ที่อาจไม่ได้รู้มาก่อน แต่ผมมองว่าลูกค้าไทยก็ไม่ได้มีรสนิยมที่ต่างกันมากกับลูกค้า Cartier ทั่วโลก แค่อาจมีความต้องการสินค้ามากกว่าเยอะ
ในอนาคต Cartier จะมีโอกาสมาจัดงานระดับโลกที่ประเทศไทยไหม เพราะประเทศไทยก็มีประวัติศาสตร์กับแบรนด์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เคยเป็นลูกค้า Cartier
แน่นอนอยู่แล้ว ซึ่งที่จริงไม่กี่ปีที่แล้วผมก็ได้เดินทางไปประเทศไทยเพื่อเยี่ยมชมและพูดคุยกับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เพราะเรามองว่าประเทศไทยสำคัญมากในเชิงวัฒนธรรม และมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เราอยากไปจัด ซึ่งก็เกือบเกิดขึ้นแล้ว แต่เพราะหลายปัจจัยเราก็ต้องพักแพลนไปก่อน แต่แน่นอนว่าเราคิดถึงประเทศไทยอยู่เสมอ
งานฝีมือของ Cartier
คุณบาลานซ์อย่างไรให้ Cartier ยังคงสร้างสรรค์สิ่งที่พูดถึงมรดกและประวัติความเป็นมาของแบรนด์ แต่ยังดูร่วมสมัยในเวลาเดียวกัน
เรามักจะมองสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน และพยายามเชื่อมต่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตของเราเพื่อสร้างผลลัพธ์ในอนาคต โดยเราก็จะนำสไตล์ของ Cartier ที่ Louis Cartier ได้ริเริ่มและเราได้ซึมซับมาเป็นจุดศูนย์กลาง แต่ก็พยายามพัฒนาไปด้วยในจุดที่มองว่าเหมาะสมกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งก็ไม่ง่ายเสมอไป
ที่ Cartier เราจะถูกสอนให้โอบอ้อมและพร้อมเผชิญกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในวัฒนธรรมและสังคมอยู่เสมอ แน่นอนหน้าที่หลักของเราคือการสร้างสรรค์สินค้าที่สวยงาม แต่เราก็ต้องรับรู้ด้วยว่าความสวยงามนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อะไรที่ถูกมองว่าสวยในวันนี้ก็อาจจะไม่ใช่เมื่อ 10, 20 หรือ 100 ปีที่แล้ว โดยสิ่งนี้ก็เหมือนตอนที่ Louis Cartier สร้างสรรค์ไอเท็มในยุคสมัยของเขาที่พยายามมองเข้าไปและเรียนรู้จากหลากหลายวัฒนธรรม เพื่อนิยามความสวยงามในรูปแบบใหม่
เพราะโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดโดยเฉพาะกับเทคโนโลยี คุณกลัวไหมว่าในอนาคต Cartier จะไม่มีช่างฝีมือรุ่นใหม่เพียงพอ
มันเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเราอยู่เสมอ เพราะงานฝีมือของ Cartier ก็มีความเฉพาะตัวที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ โดยตอนนี้เรามีเวิร์กช็อปผลิตสินค้า Cartier มากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนเราก็ต้องการช่างฝีมือมือฉมังเพิ่มขึ้นด้วย โชคดีที่ในยุโรป โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส เรามีโรงเรียนเพื่อสอนเรื่องงานฝีมือ แต่ก็ยังไม่พออยู่ดี ซึ่งไม่เพียงแต่จำนวนโรงเรียน จำนวนคนที่อยากจะมาทำงานฝีมือแบบ Cartier ก็ถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่เพียงพอ เพราะคุณต้องเข้าใจว่าตอนที่เราจะจ้างคนคนหนึ่งที่เรียนจบจากโรงเรียนหรือสถาบันงานฝีมืออะไรก็ตามแต่ คนคนนั้นก็ต้องมาฝึกอีก 10-20 ปีที่ Cartier เพื่อให้มีทักษะในระดับที่จะมาเริ่มทำไอเท็มของเราเพื่อนำไปขายได้
ส่วนเรื่องเทคโนโลยีที่คุณกล่าวถึงด้วย ผมมองว่าอย่างโซเชียลมีเดียเราก็ต้องมองในแง่บวก เพราะที่จริงแล้วแพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยสร้าง Awareness และทำให้คนรุ่นใหม่สนใจอยากมาทำงานฝีมือ และเห็นว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง ซึ่งแต่ก่อนอาจไม่ได้รับรู้และเห็นเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเบื้องหลัง Craftsmanship โดยถ้าเราใช้โซเชียลมีเดียให้ถูกผมก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดี
ในปี 2024 คุณก็จะครบรอบ 40 ปีในการทำงานที่ Cartier อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณได้เรียนรู้จากการทำงานที่นี่
ผมได้เรียนรู้ถึงพลังของการริเริ่ม (Originality) และกล้าทำอะไรที่แตกต่าง เพราะถ้าเราเดินบนเส้นทางความคิดของตัวเอง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็จะเป็นของเราจริงๆ โดยสำหรับ Cartier เองผมก็ได้เรียนรู้ด้วยว่าเราเป็นแบรนด์ที่ต้องมอบความสวยงามให้ผู้คนอยู่เสมอกับทุกอย่างที่เราทำ ซึ่งก็แปลว่าเราต้องมีความ Relevant ปรับตัวอยู่เสมอตามกรอบความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคนในแต่ละยุคสมัย