×

พิชัย ชี้ประยุทธ์บริหารพลังงานล้มเหลว จี้ 5 ข้อ เร่งแก้ปัญหาก๊าซ-ไฟฟ้า อย่าคิดแต่รักษาอำนาจ-ตีความ 8 ปี ประเทศจะเดินต่อยาก

โดย THE STANDARD TEAM
09.08.2022
  • LOADING...
พิชัย นริพทะพันธุ์

วันนี้ (9 สิงหาคม) พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์โลกมีความผันผวนมาก หลังจากที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาไปเยือนไต้หวัน ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างมาก ซ้ำเติมกับสงครามรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และการยิงอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ฯลฯ 

 

หากมองย้อนอดีตจะพบว่าสถานการณ์เหล่านี้เหมือนจะซ้ำรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งหวังว่าประเทศต่างๆ จะเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต และจะไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะผู้เสียชีวิตและความเสียหายจะรุนแรงมาก อีกทั้งหากมีสงครามใหญ่เกิดขึ้นจริง สถานการณ์และรูปแบบเศรษฐกิจจะแตกต่างไปอย่างมาก 

 

ความขัดแย้งของจีนและไต้หวันทำให้เห็นว่า อุตสาหกรรมไมโครชิปมีความสำคัญอย่างมาก บริษัท TSMC ของไต้หวันเป็นบริษัทผลิตไมโครชิปที่มีคูณภาพสูงและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ จนห่วงกันว่าหากมีสงครามเกิดขึ้น ปัญหาไมโครชิปจะขาดแคลนทั่วโลก ขนาดประเทศจีนแซงก์ชันไต้หวันจากเหตุการณ์นี้ ยังไม่กล้าที่จะบล็อกไมโครชิป เพราะประเทศจีนใช้มากที่สุด 

 

ดังนั้น น่าจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะติดต่อบริษัท TSMC เพื่อมาตั้งโรงงานผลิตไมโครชิปในประเทศไทย เพราะอุตสาหกรรมในอนาคตแทบทุกชนิดต้องใช้ไมโครชิปนี้ ซึ่งเป็นเหมือนอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และบริษัท TSMC คงหวังจะกระจายความเสี่ยงเช่นกัน หรือจะเป็นบริษัทไมโครชิปจากเกาหลีใต้ก็ได้ 

 

บริษัท TSMC ยืนยันว่าหากประเทศจีนบุกยึดไต้หวันก็ไม่สามารถยึดบริษัท TSMC ไปทำเองได้ เพราะการผลิตมีความซ้บซ้อนและมีกระบวนการผลิตที่เป็นความลับขั้นสูง โดยคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้แสดงความเห็นมาตลอดว่าอุตสาหกรรมการผลิตไมโครชิปและอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูงมีความจำเป็นต่ออนาคตของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างมาก สหรัฐฯ เองยังออกกฎหมายอุดหนุนอุตสาหกรรมผลิตไมโครชิปนี้ในวงเงินถึง 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเลย โดยเพโลซียังไปพบกับประธานบริษัท TSMC  

 

“ความขัดแย้งของจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน ในครั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องวางตัวให้เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยเอง และอยากสอบถาม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าในการประชุม APEC ที่จะมีขึ้นนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้เตรียมตัวรับมือเรื่องนี้อย่างไร” พิชัยกล่าว 

 

พิชัยกล่าวต่อไปว่า ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นสาเหตุของราคาน้ำมันและก๊าซแพงยังไม่จบง่ายๆ และยังส่งผลให้ราคาอาหารของโลกแพงไปด้วย แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรไทยได้เลย ชาวนาและเกษตรกรไทยยังเผชิญกับภาวะข้าวของแพง เงินเฟ้อ ปุ๋ยแพง ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูง แต่รายได้ไม่เพิ่ม แถมมีปัญหาอื่นอีกมากมาย ทั้งที่รัฐบาลน่าจะต้องใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 

 

แต่ปัญหาที่รุนแรงและทำท่าจะเป็นปัญหาใหญ่กับประเทศไทยที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบ คือปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมาจากรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาที่ยังทำร้ายประชาชน ทำให้เกิดการต่อต้านเป็นวงกว้างมานานแล้ว 

 

ล่าสุดมีการวางระเบิดท่อส่งก๊าซจากแหล่งซอติก้า ส่งผลให้การส่งก๊าซจากเมียนมามาประเทศไทยมีปัญหา ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของไทยยิ่งขาดแคลนมากขึ้น จะนำเข้าก๊าซ LNG ก็มีราคาแพงมาก และต้องหันกลับไปใช้น้ำมันดีเซลที่มีราคาแพง แต่แพงน้อยกว่าก๊าซ LNG ในการผลิตไฟฟ้า

 

อีกทั้งปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันหลายโรงอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง ทำให้การกลั่นนำ้มันดีเซลออกมาได้น้อยลง ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดีเซลจากประเทศสิงคโปร์เข้ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้า และอาจจะขาดเชื้อเพลิงได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจทำให้ต้องตัดไฟฟ้าในบางพื้นที่ เริ่มเหมือนประเทศศรีลังกาเข้าไปทุกที 

 

นับเป็นเรื่องน่าตลกร้ายอย่างมากที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินเป็นจำนวนมาก คือเกินกว่า 50% แต่กลับจะขาดเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพราะขาดทั้งก๊าซในอ่าวไทยจากปัญหาข้อพิพาทสัมปทาน ขาดก๊าซจากเมียนมาจากการระเบิดของท่อก๊าซ และขาดน้ำมันดีเซลจากการซ่อมบำรุงของโรงกลั่น เพราะการบริหารจัดการที่ด้อยประสิทธิภาพของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้เตือนหลายครั้งแล้ว และทั้งหมดนี้จะยิ่งส่งผลให้ราคาไฟฟ้าแพงขึ้นไปอีก ถึงกับต้องยกเลิกการแถลงข่าวการขึ้นค่าไฟฟ้าในสัปดาห์ที่แล้ว จนสัปดาห์นี้ถึงจะสรุปได้ เพราะไม่แน่ใจว่าราคาค่าเชื้อเพลิงและค่า Ft จะพุ่งไปขนาดไหน และปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็แบกค่าใช่จ่ายเชื้อเพลิงอยู่ประมาณเกือบ 2 แสนล้านบาทแล้ว หนักกว่ากองทุนน้ำมันฯ เสียอีก ซึ่งหากต้องขึ้นราคาไฟฟ้าอีก ประชาชนคงจะแบกรับกันไม่ไหวแน่ 

 

ทั้งนี้ หาก พล.อ. ประยุทธ์จะรับฟังคำแนะนำของคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยแต่แรก และขอตอกย้ำ 5 ข้อ ดังนี้  

 

  1. เร่งแก้ไขข้อพิพาทในสัมปทานแหล่งก๊าซในพื้นที่อ่าวไทย 
  2. การเจรจาลดค่าความพร้อมที่ต้องจ่ายเดือนละ 8 พันล้านบาท
  3. การเร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนของไทย-กัมพูชา 
  4. การเก็บเงินจากก๊าซ LPG ที่ส่งเข้าธุรกิจปิโตรเคมี 
  5. เร่งจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ 

 

โดยหลักคิด แพงดีกว่าขาด ซึ่งหากเชื่อและนำไปปฏิบัติ สถานการณ์คงไม่ย่ำแย่ขนาดนี้ และเป็นห่วง ซึ่งขอเตือนว่าประเทศไทยอาจจะมีโอกาสขาดแคลนไฟฟ้าในไม่ช้า ซึ่งจะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก 

 

พิชัยกล่าวอีกว่า ในภาวะที่โลกผันผวน ผู้นำจะต้องคิดและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และต้องมีความรอบรู้ฉลาดฉับไวในประเด็นต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะขึ้นในสัปดาห์นี้ที่ได้เตือนไว้แล้ว จะมามัวคิดแต่เรื่องรักษาอำนาจ ตีความ 8 ปี ทั้งที่ความตั้งใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ซึ่งรวมถึง พล.อ. ประยุทธ์ด้วย 

 

“มีหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เคยบอกกับตนเองโดยตรงเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ถ้าหากบริหารล้มเหลวแล้วยังจะคิดยึดติดอำนาจ ประเทศไทยจะเดินต่อยากและมีแต่จะเสื่อมถอยลงเท่านั้น และในที่สุดไทยจะไม่มีตำแหน่งที่ยืนในโลกอีกต่อไป” พิชัยกล่าว 

 

พิชัยยังยกผลสำรวจล่าสุดของศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลที่ระบุว่า 64.25% ของประชาชนเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ควรพ้นตำแหน่งไม่เกิน 24 สิงหาคม และ 80.03% เห็นว่า 3 ป. (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา) ไม่ควรมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลคราวหน้าแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าสวนความรู้สึกของประชาชนอีกเลย  

 

“อยากให้ดูตัวอย่าง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่รับตำแหน่งหลังจาก 8 ปี ทั้งที่ผลงานเศรษฐกิจและทิศทางเศรษฐกิจสมัยนั้นดีกว่านี้มาก ท่านยังไม่ดื้อรั้นต่อความต้องการของประชาชน” พิชัยกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising