วันนี้ (22 เมษายน) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงชี้แจงกรณีการเลื่อนเจรจากับสหรัฐฯ ประเด็นกำแพงภาษี ว่า จากสถานการณ์ 10 กว่าวันที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกวันสูงขึ้นๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่เกิดกับทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง เราจึงมีการหารือ เพราะสิ่งที่เรามองว่าชัดเจน วันนี้อาจไม่ชัดเจนเท่าที่กับที่เคยคิด ดังนั้นคณะทำงานจึงขอขยับกำหนดเวลาในการพูดคุยกับทางสหรัฐฯ และหารือเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วที่สุด
“สาเหตุการเลื่อนเจรจากับสหรัฐฯ เพราะขอรอดูสถานการณ์ก่อน โดยต้องการศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ไม่อยากไปเจรจาโดยที่ไม่มีการเตรียมตัวให้รอบด้าน ขอพูดตรงๆ ว่าขออย่าให้เร็วกว่าคนอื่น และอย่าช้ากว่าคนอื่น เร็วไปก็ไม่ดี แล้วถ้าช้ากว่าคนอื่นก็ไม่ดี เหมาะสมที่สุด คือดูก่อนว่าหัวขบวนเขาโดนอะไรบ้าง กลางขบวนโดนอะไรบ้าง เราอยู่กลางๆ เกือบท้าย เราจะได้รู้ว่าควรทำอย่างไร จริงๆ เขาอยากให้ทุกคนไป เพียงแต่จะจัดคิวอย่างไร ส่วนผมอาจต้องละเอียดรอบคอบหน่อย โดยในระหว่างนี้ที่เหลือเวลาอีกประมาณ 70 วัน เชื่อว่าทุกคนร้อนใจ” พิชัยกล่าว
พิชัยกล่าวต่อว่า มีเกือบร้อยประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้มีประเทศที่ได้คุยแล้วแค่ประเทศเดียว ทำให้ต้องมาดูกรอบการพูดคุยของประเทศที่มีการค้าใหญ่กว่าไทย ทั้งนี้แม้การพูดคุยจะขยับออกไป แต่ในระดับปฏิบัติการยังไม่หยุด โดยใช้สถานเอกอัครราชทูตไทยในสหรัฐฯ เป็นฐาน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ทุกส่วนอยู่ตรงนั้น และมีทีมที่เข้าใจเรื่องกำแพงภาษี ทำงานคู่ขนานไปด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราคุยกันในระดับปฏิบัติการ เข้าใจตรงกัน จะได้นำไปสู่การทำข้อมูลว่าครบถ้วนหรือไม่ และต้องดูการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การหารือระดับสูง
พิชัยกล่าวว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในโลกนี้ ทุกประเทศมีปัญหาหมด เพราะระบบการค้าของโลกปรับจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกคนมีปัญหาต้องปรับตัว เราจึงเตรียมการไว้ 2 เรื่อง คือ 1. การทบทวน เพื่อความชัดเจน 2. เตรียมการคู่ขนานช่วยเหลือ ฟื้นฟู และปฏิรูป
โดยในการช่วยเหลือ ต้องหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ถึงแผนการรับมือหากเศรษฐกิจตกต่ำว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง ส่วนการฟื้นฟูหรือเยียวยา ต้องคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประเมินว่าจะเกิดอะไรในอนาคต และจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร ถือเป็นการให้การบ้าน และตนจะไปติดตาม
ส่วนการปฏิรูป กรณีมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น มาประเทศไทย เพื่อส่งต่อไปประเทศอื่น หรือการสวมสิทธิ์ส่งออกสินค้า ต้องมีการปรับปรุงกำหนดหลักเกณฑ์กติกาการส่งออกให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส ในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ และชี้วัดว่าสินค้าใดเป็นสินค้าสวมสิทธิ์ รวมถึงต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย
พิชัยยังระบุว่า หนึ่งในประเด็นที่คาดว่าสหรัฐฯ มีความกังวลและจะหยิบยกขึ้นพูดคุยคือเรื่องของค่าเงิน เมื่อสหรัฐฯ ต้องการส่งออก จึงหวังว่าประเทศต่างๆ จะไม่เข้าไปแทรกแซงค่าเงิน
พิชัยเปิดเผยอีกว่า ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเดินทางไปเจรจาในช่วงใด เพราะต้องดูการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ และสถานการณ์ที่เหมาะสม เพราะการเจรจาดังกล่าวเหมือนการเจรจาธุรกิจ ตนขอใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้