×

เปิดวิสัยทัศน์ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รมว.คลัง ประกาศมุ่งเพิ่มรายได้ประชาชนเป็นอันดับแรก! จับสัญญาณเตรียมจบสงครามหรือกดดันแบงก์ชาติต่อ?

07.05.2024
  • LOADING...
เปิดวิสัยทัศน์ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รมว.คลัง

เปิดวิสัยทัศน์ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ล่าสุด ชี้ เตรียมให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ประชาชนเป็นอันดับแรก เผยเตรียมหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ‘ทันทีที่มีโอกาส’ ย้ำ ต้องการเห็นนโยบายการคลังและการเงินสอดประสานกัน ด้านสื่อต่างชาติวิเคราะห์ อาจเห็นการกดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยต่อ

 

วันนี้ (7 พฤษภาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลัง โดยได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว โดยระบุว่า สิ่งที่เตรียมทำอันดับหนึ่งคือ เพิ่มรายได้ของประชาชนด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

 

“วันนี้คนมีรายได้น้อยลง GDP ต่ำลง อัตราเงินเฟ้อก็ต่ำ โดยเผลอๆ แล้วอัตราเงินเฟ้อที่ว่าต่ำแล้ว รายได้อาจลดลงต่ำกว่า เพราะเรารู้สึกว่าของแพง อันนี้เห็นได้ชัดๆ อีกวิธีดูคือ หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ของ GDP” พิชัยกล่าว

 

รมว.คลัง มอง เศรษฐกิจไทยโตต่ำ-มีปัญหา

 

พิชัยยังตั้งข้อสังเกตว่า หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) ลงแบบขั้นบันได โดยทุก 5 ปีจะลงมาประมาณ 1% กว่า จากที่เคยโตได้ 5% ก็เหลือ 3-4% และปัจจุบันอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเหลืออยู่แค่ 1% กว่าๆ เท่านั้น นับว่าต่ำเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพคล้ายคลึงกัน

 

ทั้งนี้ ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยโตเพียง 1.9% เท่านั้น แทบรั้งท้ายในกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยโตนำเพียงสิงคโปร์เท่านั้น สวนทางฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ที่โตทะลุ 5% และมาเลเซียที่โตเกือบ 4%

 

พิชัยมองว่า สาเหตุที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสินค้าส่งออกของไทยแข่งขันไม่ได้และถูกเทคโนโลยีใหม่แทนที่

 

จึงมองว่า การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสามารถทำได้ 3 ส่วน ได้แก่ การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) และการนำเทคโนโลยีมาใช้ การยกระดับการท่องเที่ยว รวมไปถึงการพัฒนาโลจิสติกส์ 

 

“เราผลิตเก่งแล้วก็ต้องขายเก่งด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะดีที่สุด เราก็จะมีทางให้เขาผ่าน มีโลจิสติกส์ที่ดีด้วย” พิชัยกล่าว

 

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่า รมว.คลัง คนใหม่ กำลังหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงโครงสร้างมากขึ้นแล้ว

 

เตรียมคุยแบงก์ชาติทันทีที่มีโอกาส

 

พิชัยกล่าวอีกว่า เตรียมหารือกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ‘ทันทีที่มีโอกาส’ โดยต้องรอดูว่าตัวเขา (รมว.คลัง) ว่างเมื่อไร และท่าน (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) ว่างเมื่อไร 

 

พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า ตนคุ้นเคยดีกับผู้ว่าฯ เนื่องจากทำงานอยู่ในแวดวงที่ไม่ต่างกัน จะต่างกันแค่อายุเท่านั้น

 

สำหรับกระแสประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย พิชัยกล่าวว่า ผมก็คิดว่าทุกคนมีมุมมองของตัวเอง จึงต้องนั่งคุยกัน นำข้อเท็จจริงมาวาง หาจุดยืน และตกผลึก

 

พร้อมยืนยันว่า แบงก์ชาติมีอิสระในความคิด มีอิสระในการวิเคราะห์ มีอิสระในการเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดได้ แต่ทั้งนี้ ทางเลือกนั้นต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน

 

ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงสถานที่พูดคุย พิชัยตอบว่า อาจจะไปพูดคุยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ดี รมว.คลัง ระบุว่า ถ้าไป (หารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) จะไม่พูดคุยเรื่องดอกเบี้ยเนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งจะไม่พูดคุยเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของภาครัฐ

 

นอกจากนี้ในช่วงหนึ่งพิชัยได้พูดเป็นนัยเกี่ยวกับความต้องการให้แบงก์ชาติใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยระบุว่า “ถ้าวันนี้ของฝืด ควรเหยียบคันเร่งหน่อยดีไหม บางอย่างเหยียบ (คันเร่ง) แล้วใช้เงิน แต่บางอย่างเหยียบ (คันเร่ง) ไม่ต้องใช้เงิน ใช้แต่นโยบายก็เหยียบได้แล้ว”

 

สื่อต่างชาติวิเคราะห์ อาจเห็นการกดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยต่อ

 

โดยในการให้สัมภาษณ์ช่วงเช้าที่ทำเนียบรัฐบาล พิชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งเป็นทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่เราจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เครื่องจักรสองเครื่องทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ‘สอดคล้องและเดินไปในทิศทางเดียวกัน’

 

ด้านสื่อต่างประเทศรวมถึง Bloomberg ลงบทความโดยระบุว่า การเรียกร้องให้ธนาคารกลางสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว อาจส่งสัญญาณว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจถูกกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป

 

รมว.คลัง มอง หนี้กองทุน FIDF คือหนี้ของประเทศ

 

ส่วนกระแสข่าวการโยกหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) จากกระทรวงการคลังไปให้แบงก์ชาติ

 

พิชัยมองว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่า FIDF จะอยู่ตรงไหนก็เป็นหนี้ของประเทศอยู่ดี อย่างไรก็ดี ต้องมาดูว่าตอนนี้ใครกำลังดีกว่า และจะต้องมีการพูดคุยกันอีกที

 

“เข้าใจว่าตอนปี 2540 ตอนนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็น่าจะลำบาก คนที่ยังพอมีแรงกู้คือภาครัฐจึงใส่ไปก่อน” พิชัยกล่าว

 

อ้างอิง:

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X