×

พิชัย เพิ่มข้อเสนอเปิดตลาดลดภาษี 0% ให้สินค้าสหรัฐฯ เฉียด 90% ของมูลค่าส่งออกมาไทย จับตา ‘รถยนต์’ โดนด้วย

14.07.2025
  • LOADING...

พิชัย รมว.คลัง เพิ่มข้อเสนอเปิดตลาด 0% หรืออัตราใกล้เคียงให้กับสหรัฐฯ ในระดับเกือบ 90% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งมาไทย ตามที่สหรัฐฯ ร้องขอ เช่น ลำไย ปลานิล และรถยนต์ ยืนยันไม่กระทบตลาดในประเทศ เตรียมลุยแก้ปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์ พร้อมอัดซอฟต์โลนวงเงิน 2 แสนล้านบาท เยียวยากลุ่ม SME-ภาคเกษตร

 

วันนี้ (14 กรกฎาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลม ‘The Art of (Re) Deal’ จัดโดย ‘กรุงเทพธุรกิจ’ โดยระบุว่า ไทยพยายามทำข้อเสนอเปิดตลาดให้สหรัฐฯ โดยได้เสนอยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เข้าประเทศไทย และอัตราภาษีใกล้ๆ 0% คิดเป็นระดับเกือบ 90% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งมาไทย

 

พิชัยยังเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ไทยคิดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราใกล้ๆ 0% คิดเป็น 63-64% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งมาไทย แต่ในการส่งข้อเสนอไปในรอบที่ 1 ไทยได้พยายามเพิ่มข้อเสนอให้สหรัฐฯ คิดเป็น 69%

 

กระนั้น หลังจากการที่ได้พูดคุยกัน จึงพบว่า แม้สินค้าบางชนิดสหรัฐฯ ไม่เคยขายให้ประเทศไทย แต่ก็อยากให้ไทยเปิดตลาดให้ เช่น ลำไย ปลานิล และรถยนต์ ดังนั้น ทีมไทยแลนด์จึงยินดีเปิดตลาดให้ เพื่อเพิ่ม Market Access ให้สูงขึ้น โดยล่าสุด ไทยได้พยายามทำข้อเสนออัตราภาษีใกล้ๆ 0% คิดเป็นระดับเกือบ 90% แล้ว

 

อย่างไรก็ดี พิชัยยืนยันว่า รายการสินค้าที่ไทยเตรียมเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เพิ่มจะไม่กระทบกับตลาดภายในประเทศ เนื่องจากประเมินแล้วว่า สินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ แข่งขันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ปลานิลของสหรัฐฯ ที่มีราคาแพงกว่าปลานิลไทย รวมถึงรถยนต์พวงมาลัยซ้าย

 

“ไทยเป็นประเทศที่ผลิตยานยนต์เยอะ แต่รถยนต์สหรัฐฯ ไม่น่าจะเข้ามาแข่งขันได้ เนื่องจากเป็นรถยนต์พวงมาลัยซ้าย” พิชัยกล่าว

 

พิชัยยังอธิบายว่า ในการเจรจาภาษีกับทางสหรัฐฯ ไทยจำเป็นต้องทราบความต้องการของสหรัฐฯ เสียก่อน จึงจะสามารถหาข้อตกลงการค้าได้

 

โดยพิชัยชี้ว่าในปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล รวมถึงปัญหาขาดดุลการค้าอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มรายรับภาครัฐ ผ่านการลดการขาดดุลทางการค้า ทำให้สหรัฐฯ มีความต้องการเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดอื่นๆ มากขึ้น (Market Access) รวมถึงกำจัดมาตรการกีดกันอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs)

 

ยึดหลักเจรจาอย่างสมดุล รักษาผลประโยชน์ร่วมกัน

 

พิชัยย้ำว่าหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ข้อแรก คือ ยึดการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน ผ่านการเปิดตลาดให้กว้างขึ้น โดยนำเข้าสินค้าที่สหรัฐฯ อยากขาย และไทยอยากซื้อ แต่ต้องไม่กระทบกับ FTA ที่ประเทศอื่นๆ ทำร่วมกับไทย

 

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาข้อสองคือ ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐต้องการกลับมาเป็นประเทศผู้ผลิตอีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นในหมวดหมู่สินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งเดิมทีไทยนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูปอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในด้านพลังงานมากขึ้น ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่สหรัฐมีปริมาณน้ำมันสำรองค่อนข้างสูง และมีราคาพลังงานต่ำมาก เพียง 2-3 ดอลลาร์ต่อบีทียู ขณะที่ราคาตลาดโลกสูงประมาณ 11 ดอลลาร์ต่อบีทียู

 

ย้ำเปิดตลาด 0% ไม่กระทบ

 

พิชัยกล่าวว่า การลดภาษีสินค้าเหลือ 0% ไม่เป็นปัญหาใดๆ เนื่องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการตกลงทำ FTA ระหว่างกันมายาวนานแล้ว อย่างไรก็ตาม ทีมเจรจาของไทยก็ไม่ได้เปิดตลาดให้กับสินค้าไปเสียทุกรายการ แต่มีหลักเกณฑ์ให้ยึด 2 ข้อ ได้แก่ 1. เป็นสินค้าที่ไทยผลิตไม่ได้ หรือต้องนำเข้าอยู่แล้ว 2. การผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าเพิ่ม

 

ลุยรับมือปัญหาสวมสิทธิ์

 

ทั้งนี้ พิชัยแสดงความกังวลต่อปัญหาสินค้าสวมถิ่นกำเนิด ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯ ต้องการให้แก้ไขเช่นกัน โดยสังเกตได้จากกรณีของเวียดนามที่มีการแยกอัตราภาษีสำหรับสินค้าเวียดนาม และสินค้าส่งผ่าน (Transhipment)

 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าสินค้าส่งผ่านมีนิยามว่าอย่างไร หรือต้องมีสัดส่วนของการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เป็นเท่าไร โดยพิชัยคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับสูงที่ 60-80% ขณะที่ไทยกำหนดไว้เพียง 40% เท่านั้น ซึ่งพิชัยมองว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าว จะไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบเวียดนาม เพราะเวียดนามมีอัตราการใช้วัตถุดิบจากประเทศที่สามมากกว่า

 

เตรียมซอฟต์โลนวงเงิน 2 แสนล้าน เยียวยากลุ่ม SME-ภาคเกษตร

 

พิชัยกล่าวว่าภาครัฐได้เตรียมมาตรการเยียวยาไว้ 2 แนวทางด้วยกัน โดยแนวทางแรกคือการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบของมาตรการภาษีในแต่ละภาคส่วนอุตสาหกรรม

 

ส่วนแนวทางที่ 2 คือการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเตรียมซอฟต์โลนวงเงินราว 2 แสนล้านบาท ภายใต้อัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง การลงทุนเปลี่ยนผ่าน การจ้างงาน การบริหารสินค้าคงคลัง โดยวงเงินจะมาจากธนาคารออมสินเป็นหลัก แต่สัดส่วนที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับฝั่งสหรัฐฯ ว่าจะกำหนดอัตราภาษีกับไทยอย่างไร

 

ชี้วิกฤตภาษีเป็นโอกาสให้ไทยต้องปรับตัว

 

พิชัยกล่าวว่า หากไทยไม่เจอกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ไทยคงยังไม่มีการปรับตัว และมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำต่อไป ซึ่งไทยจำเป็นต้องบริหารและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น แทนการพึ่งพาภาคการส่งออกอย่างที่เคยเป็นมา

 

นอกจากนี้ พิชัยยังกล่าวอีกด้วยว่า ไทยมีเหตุให้การเจรจาอย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯ ล่าช้าออกไป ขณะที่ภาครัฐมีความต้องการให้การเจรจาเกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ ไทยได้มีตัวแทนต่างๆ และทูตการค้าที่ประจำการในสหรัฐฯ อยู่แล้ว เพื่อเก็บรายละเอียดไว้ประกอบการพิจารณามาโดยตลอด คาดว่าอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บกับเวียดนามจะเป็นอัตราอ้างอิงให้กับหลายประเทศ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising