วันนี้ (26 กันยายน) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 2 ว่า ในพื้นที่เชียงราย อาหารสดและถุงยังชีพมีมากพอ แต่ตอนนี้ต้องการสิ่งที่จะฟื้นฟูจัดการโคลน ซึ่งต้องใช้รถดูดโคลน รถน้ำ เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกำลังคน เวลานี้ได้ประสานงานกับหน่วยต่างๆ แล้ว ให้เคลียร์ถนนใหญ่ให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเข้าซอยต่างๆ เพื่อไปช่วยชาวบ้าน ไม่เช่นนั้นจะใช้เครื่องมือเล็กในการเข้าพื้นที่ได้ยากลำบาก โดยมอบหมายแต่กระทรวงรับผิดชอบแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน
ส่วนการเข้าฟื้นฟูบ้านเรือน บ้านหลังหนึ่งมีโคลน 1-2 เมตร ใช้กำลังพลประมาณ 30 คนในการดำเนินการ ซึ่งตอนนี้มีอาสาสมัครจาก ปภ., สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน, ทหาร และนักโทษชั้นดีจากกรมราชทัณฑ์มาช่วย นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิเอกชนเข้ามาช่วยเสริม แต่สิ่งที่อยากได้ในขณะนี้คือเครื่องมือ เช่น จอบ เสียม เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง รถแบ็กโฮ รถคูโบต้า เพราะโคลนเหล่านี้หากอยู่ตามท่อและในบ้าน ทิ้งไว้นานจะเป็นหินปูนได้
นอกจากนี้อยากให้ทุกฝ่ายจดบันทึกเป็นบทเรียนไว้ เพราะเรายังต้องเผชิญกับภาวะแบบนี้อีก จึงต้องเตรียมหาอุปกรณ์ต่างๆ รองรับ ซึ่งหลังจากนี้ก็คงจะมีการพูดต่อไป
ส่วนระบบเตือนภัยตอนนี้ทำได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม สามารถเตือนภัยผ่าน SMS ทางโทรศัพท์ถึงประชาชนได้โดยตรง สำหรับการจ่ายเงินเยียวยา พรุ่งนี้ (27 กันยายน) หลังนายกฯ ลงพื้นที่จะสั่งการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเงิน 3,000 ล้านบาทที่ ครม. อนุมัติ ได้โอนไปที่ ปภ. แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบการใช้เงิน ซึ่งจะลดขั้นตอนจาก 30 วันให้เหลือ 5 วัน
โดยเงินก้อนแรกจะจ่ายให้ครอบครัวละ 5,000 บาท ซึ่งผู้ว่าฯ สามารถจ่ายได้เลย เพราะมีงบจังหวัดละ 200 ล้านบาทอยู่แล้ว เบื้องต้นพยายามจะจ่ายให้ทั่วถึงก่อน จากนั้นจะพิจารณาเพิ่มเติม
ส่วนกรณีอาสาสมัครที่นำรถมาช่วยน้ำท่วม เมื่อเดินทางกลับถูกกรมทางหลวงและตำรวจจับดำเนินคดีเพราะบรรทุกน้ำหนักเกินนั้น ภูมิธรรมกล่าวว่า ในที่ประชุมได้พูดคุยกันว่าอยากให้ประสานงานก่อนนำอุปกรณ์ไปช่วย เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน การนำอุปกรณ์มาบางครั้งก็บรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้ตำรวจทางหลวงห่วงใย เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายและกระทบต่อผู้อื่นที่ใช้เส้นทาง จึงขอให้ดูข้อกฎหมายให้ดี ทั้งนี้จะขอให้ช่วยผ่อนปรนอำนวยความสะดวก เพื่อแก้ปัญหาช่วงวิกฤตนี้ ในการหาทางออกร่วมกัน
ภูมิธรรมยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงใหม่ว่า กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ยินดีคืนพื้นที่ให้ เพื่อให้ระบายน้ำคล่องตัวมากขึ้น ส่วนตรงไหนมีสะพานและตอม่อขวางอยู่ก็จะยกสะพานขึ้น เพื่อให้น้ำไหลคล่องตัวขึ้น
ทั้งนี้ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มีกำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 29 กันยายน ส่วนการดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สาย แบ่งการดำเนินการเป็น 5 โซน กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือประมาณวันที่ 20 ตุลาคม ขณะที่สถานการณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่วิกฤต แต่มีหน่วยงาน ปภ. และกองทัพภาคที่ 2 ดูแลอยู่แล้ว