วันนี้ (19 กันยายน) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมและการแก้ไขอำนาจขององค์กรอิสระในสัปดาห์หน้าว่า ได้พูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการบ้างแล้ว อยากให้การเมืองมีเสถียรภาพ และต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส
ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า หลายเรื่องเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ ถ้าดูผิวเผินเหมือนจะเป็นการลดทอนอำนาจขององค์กรตรวจสอบ แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือประเด็นและข้อกฎหมาย หลายเรื่องค้านสายตาประชาชน บางกรณีเป็นนามธรรมมากและขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน ซึ่งดุลพินิจมันยากที่จะบอกว่ามาตรฐานการปฏิบัติแบบไหนเป็นสิ่งที่ควรทำ
“ถึงแม้เราจะเห็นแตกต่าง แต่ต้องปฏิบัติเพราะเป็นกฎหมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำควรทำให้ชัดเจนขึ้น ยุคสมัยเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป กฎหมายบางฉบับหรือรัฐธรรมนูญบางข้ออาจเกิดมาในสถานการณ์ที่ต้องการแก้ปัญหาบางอย่าง แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านไปแล้วก็น่าจะแก้ได้ เป็นเรื่องของสภา ทั้ง สส. และ สว.” ภูมิธรรมกล่าว
ภูมิธรรมกล่าวด้วยว่า ตอนนี้ให้ไปรับฟังสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าเป็นข้อปฏิบัติที่มีปัญหา มาเขียนเป็นร่างกฎหมาย โดยวิธีที่ดีที่สุดและเร็วที่สุดคือการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งสามารถแก้ได้เลย แต่ต้องเข้ากระบวนการทั้งหมดที่กำหนดไว้ และเรื่องนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะเป็นการแก้คู่ขนานกันไป
ส่วนที่ สส. พรรคเพื่อไทย จะเน้นไปเรื่องของจริยธรรม ไม่ให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องหารือกับ 6 พรรคร่วมรัฐบาล ตอนนี้ไม่สามารถพูดได้ เพราะเป็นเจตนารมณ์และความต้องการของแต่ละบุคคล ฉะนั้นจะต้องมาดูว่าสิ่งที่ 6 พรรคการเมืองคิด พรรคฝ่ายค้านคิด สภาผู้แทนราษฎรคิด วุฒิสภาคิด จะมีข้อเสนอร่วมกันได้อย่างไร
ทวีเห็นด้วย วางกรอบจริยธรรมให้ชัดเจน
ขณะที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า สส. หรือฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชน มีบทบาทน้อย เพราะถูกตรวจสอบเยอะ จึงคิดว่าองค์กรอิสระที่มีอำนาจมากเกินไปควรจะอยู่ในจุดสมดุล แม้ว่าองค์กรอิสระมีไว้เพื่อถ่วงดุล แต่ควรอยู่ในกรอบที่มีความชัดเจน ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองง่ายๆ ส่วนการตรวจสอบเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันหรือการกระทำผิดในส่วนนี้ตนเห็นด้วย
พ.ต.อ. ทวี กล่าวอีกว่า ในประเด็นคุณสมบัติทางจริยธรรม มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ไม่มีนิยามที่ชัดเจน ยกตัวอย่าง แม้แต่องค์กรศาลเอง ผู้ที่กระทำความผิดตอนที่เป็นเด็กก่อนอายุ 18 ปี มีประวัติอาชญากร ยังให้เป็นผู้พิพากษาได้ เพราะเรามีกฎหมายซึ่งมองว่าเป็นการล้างโทษถ้าเด็กและเยาวชนกระทำผิดก่อน 18 ปี ทำให้สามารถรับราชการ เป็นตุลาการก็ยังได้
ดังนั้นเมื่อเราไม่มีนิยามที่ชัดเจน จากกฎหมายหรือเจตนารมณ์ก็กลายเป็นสมบัติส่วนตัว กว่าจะได้ สส. 1 คน ต้องได้เสียงจากประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มี สส. บัญชีรายชื่อจำนวนมาก ย่อมแสดงว่าเป็นพรรคของประชาชน