×

เพื่อไทย-ก้าวไกล เสนอญัตติด่วน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หลังเกิดกรณี ตะวัน-แบม อดอาหารประท้วง

โดย THE STANDARD TEAM
01.02.2023
  • LOADING...
เพื่อไทย-ก้าวไกล

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหามาตรการและแนวทางการแก้ไขเกี่ยวกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ล้นเกิน และขัดต่อหลักนิติธรรมต่อผู้ต้องขังทางการเมือง

 

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองซึ่งเป็นเยาวชนถึง 2 คน คือ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ที่ใช้ชีวิตของตนอดอาหารเพื่อต่อสู้ขอความเป็นธรรมและขอประกันตัว แต่ท้ายที่สุดกลับไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งข้อเรียกร้องของทานตะวันและอรวรรณทั้ง 3 ข้อ ประกอบด้วย 

 

  1. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถเริ่มต้นเพื่อเป็นสัญญาณแจ้งไปยังทานตะวันและอรวรรณ จึงฝากไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่าควรหามาตรการรองรับว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อเรื่องที่เกิดขึ้นนี้

   

  1. การขอให้ยุติดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยกลไกใด คือการยุติดำเนินคดีกับพี่น้องประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง และขอให้ปล่อยตัวผู้คุมขังทางการเมืองและให้สิทธิการประกันตนแก่ผู้ถูกคุมขัง ซึ่งการประกันตนที่มีสิทธิเกินขอบเขตที่มนุษย์พึงได้รับนั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ 

 

“ติดกำไล EM จำกัดพื้นที่ 24 ชั่วโมง คนไม่ใช่สัตว์ แม้แต่สุนัขที่ท่านเลี้ยงไว้ท่านมัดคอและล่ามโซ่มันไว้ตลอดเวลา มันต้องแยกเขี้ยว มันต้องเห่า และกัดเจ้าของมัน แม้กระทั่งผู้เลี้ยงดู เพราะฉะนั้น สิทธิตรงนี้มันทำเกินเหตุ การประกันตนภายใต้เงื่อนไขอย่างนี้ต้องนำไปพิจารณาเพราะเป็นดุลยพินิจของท่าน 

 

“การใช้ดุลยพินิจปล่อยตัว การให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองภายใต้การควบคุมที่เหมาะสม ท่านจะติดกำไล EM การจำกัดพื้นที่เขาต้องพิจารณา หลายคนพึงพอใจที่ได้รับอิสรภาพแม้มีกำไร EM ติดที่เท้า แต่ท่านต้องใช้ดุลยพินิจอย่างมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ หลายคนทำดีก็ชื่นชม” นพ.ชลน่านกล่าว

 

นพ.ชลน่านกล่าวต่อไปว่า ผู้ต้องขังแต่ละคนมีวิถีชีวิตแตกต่างกันไป ดังนั้น จะนำมาเป็นข้ออ้างในการถอดกำไล EM คิดว่าไม่น่าจะมีเกณฑ์หรือมาตรฐานชี้วัดที่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ดุลยพินิจเช่นนี้จึงควรมีเกณฑ์ที่ชัดเจน เชื่อมั่นว่าหากทำทั้งสองเรื่องนี้ทั้งตะวันและแบมจะพึงพอใจ 

  

  1. การขอให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคดีทางการเมือง คือการยกเลิกบทบัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 112 และมาตรา 116 การที่พรรคการเมืองจะรับไปสามารถประกาศได้ว่าจะรับไปเพื่อกำหนดนโยบาย แต่จะแก้ไขได้หรือไม่นั้น ไม่ใช่อำนาจพรรคการเมืองแต่ต้องเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร 

 

แม้กระทั่งตนยังถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในมาตรา 116 ขณะที่มาตรา 112 แม้จะเป็นประมวลกฎหมายอาญาแต่ก็ถืออยู่ในหมวดของความมั่นคงขององค์ประมุขแห่งรัฐ มีความหมิ่นเหม่หากนำมาใช้ที่ไม่ถูกต้องและขาดหลักนิติธรรมเช่นปัจจุบันจะทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบกับพี่น้องประชาชน และส่งผลกระทบต่อสถาบันฯ ที่เกิดการแอบอ้างที่ไม่บังควร

 

“ปากบอกจงรักภักดี แต่การกระทำมันไม่ใช่ ดังนั้น สภาแห่งนี้มาช่วยกันหามาตรการว่าเราจะมีแนวทางอย่างไร พรรคไหนจะรับข้อเสนอตรงนี้ไปก็เป็นดุลยพินิจ” นพ.ชลน่านกล่าว

 

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาปัญหาสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาในฐานความผิดจากการแสดงออกทางการเมือง เพื่อส่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐและความยุติธรรมด้วยเช่นกัน

 

พิธากล่าวต่อไปว่า หากไม่มีสิทธิเสรีภาพกับบุคคลบางกลุ่ม ก็เท่ากับประชาชนคนไทยทั้งประเทศไม่มีอิสระเสรีภาพเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 เสาหลัก บริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ควรใช้ดุลยพินิจในการรักษาถ่วงดุลแทนการใช้อำนาจในการกดปราบ พร้อมกันนี้ยังได้เสนอบันได 3 ขั้นเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 

 

  1. คืนสิทธิในการประกันตัว โดยกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีการตัดสินอย่างมีบรรทัดฐาน 

 

  1. ดำเนินการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง รวมถึงนักโทษทางการเมือง ให้เป็นในรูปแบบที่ไม่กลับหัวกลับหางเหมือนในปัจจุบัน 

 

  1. แก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หรือมีการกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วน มีขอบเขตการพิจารณาที่เกินเหตุ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X