×

‘พระโขนง-บางนา’ จากย่านชายขอบสู่มหานครแห่งการเชื่อมต่อ สำรวจทิศทางใหม่เพื่อเมืองน่าอยู่กับ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล

22.06.2022
  • LOADING...
ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ‘พระโขนง-บางนา’ ย่านที่ครั้งหนึ่งเป็นเพียงที่อยู่อาศัยปะปนกับอุตสาหกรรมที่ห่างไกลจนถูกเรียกว่าย่านชายขอบ
  • ตั้งแต่ต้นปี 2564 โครงการร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา ผนวกเข้ากับการเรียนการสอนวิชาปฏิบัติการวางผังและออกแบบชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการร่วมพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และภาคีพัฒนาของย่าน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
  • การสร้างเมืองน่าอยู่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ เมืองจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เรามีชีวิตอยู่ได้แม้ในภาวะวิกฤต 

ย่านที่ครั้งหนึ่งเป็นเพียงที่อยู่อาศัยปะปนกับอุตสาหกรรมที่ห่างไกลจนถูกเรียกว่าย่านชายขอบอย่าง ‘พระโขนง-บางนา’ กำลังเปลี่ยนบทบาทสู่เกตเวย์ของกรุงเทพมหานคร ด้วยศักยภาพในการเป็นดาวน์ทาวน์ของมหานครกรุงเทพส่วนใต้ (Bangkok South Downtown) จากระบบขนส่งทางรางสายสีเขียว (BTS) ถึง 5 สถานี รวมไปถึงสายสีเหลืองตามแนวถนนศรีนครินทร์ และสายสีเงินตามแนวถนนบางนา-ตราด จากสนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ภาครัฐจึงมีนโยบายผลักดันให้ย่านพระโขนง-บางนากลายเป็นย่านนวัตกรรม

 

THE STANDARD คุยกับ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) และอาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงโครงการร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, We!Park, PNUR, Local Dialects, User-Friendly และ BUILK ONE GROUP

 

“พระโขนง-บางนา เป็นเขตที่ผู้ว่าฯ ต้องให้ความสนใจ เพราะเป็นเขตที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมชายขอบ แต่การเติบโตเกิดพลิกผันขึ้นเมื่อมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมไปถึงสายสีเหลืองและสายสีเงินที่กำลังจะเสร็จสิ้นขึ้น ซึ่งลัดรอบพื้นที่ในระยะ 4 กิโลเมตร ทำให้เกิดการเข้าถึงจากรอบด้าน จึงมีศักยภาพในการเป็นดาวน์ทาวน์และเกตเวย์จากสนามบินสุวรรณภูมิ แน่นอนว่าภาคเอกชนมองเห็นศักยภาพในตรงนี้อยู่แล้ว แต่พื้นที่ไม่สามารถเติบโตตามได้ทันเนื่องจากเดิมทีพระโขนง-บางนา เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชานเมือง ต้องมีแผนพัฒนาในระดับย่าน เป้าหมายของเราคือต้องการให้ผู้ว่าฯ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่กำลังวางแผนพัฒนาระยะ 20 ปี (2566-2580) รับย่านพระโขนง-บางนา เป็นย่านนำร่องทดลอง” ผศ.ดร.นิรมลกล่าว

 

ทิศทางใหม่ จินตนาการใหม่ ถึงความเป็นไปได้ใหม่

ตั้งแต่ต้นปี 2564 โครงการร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา ได้ผนวกเข้ากับการเรียนการสอนวิชาปฏิบัติการวางผังและออกแบบชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการร่วมผู้คุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และภาคีพัฒนาของย่าน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้คำถาม จะผสานความร่วมมือของหุ้นส่วนการพัฒนาอย่างไรในการสร้างสรรค์ย่านน่าอยู่สำหรับคนเก่าและคนใหม่ อีกทั้งมีความสามารถในการแข่งขันที่จะดึงดูดเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อยกระดับย่านและเมือง

 

จากการหารือตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทางโครงการได้ผลลัพธ์สำคัญที่ประกอบไปด้วยแผนพัฒนาระดับย่านและโมเดลการพัฒนาย่าน ประกอบด้วย 11 แนวคิดหลักที่ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่ด้าน Hardware, Software และกลไกการบริการจัดการ

 

  1. การจัดทำแผนพัฒนาระดับย่านด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
  2. การสร้างย่านน่าอยู่เพื่อดึงดูดเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจนวัตกรรมและธุรกิจสร้างสรรค์
  3. การพัฒนาให้ย่านเดินได้-ย่านเดินดี กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
  4. การพัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กกระจายทั่วย่านจากที่ดินที่รอการพัฒนา เพื่อยกระดับสุขภาวะชุมชน
  5. การปรับปรุงอาคารที่มีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพสู่พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ของเยาวชนและประชาชน
  6. การพัฒนาที่ดินรอการพัฒนาสู่พื้นที่สร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจและสังคม
  7. การพัฒนาพื้นที่ริมคลองสู่พื้นที่เดินได้ นั่งได้ สัญจรได้ บรรเทาน้ำท่วมได้
  8. การพัฒนาการสัญจรที่หลากหลายด้วยล้อ ราง และเท้า
  9. การพัฒนาพื้นที่ทดลองทางนวัตกรรม (Innovation Sandbox) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เช่น รถแดง น้ำท่วม
  10. การพัฒนาโมเดลหุ้นส่วนจตุรภาคี (Public Private People Partnerships: PPPPs) ด้วยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และวิชาการ
  11. การทดลองแนวคิดการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ในกระบวนการจัดทำโครงการพัฒนาย่าน โดยการมีส่วนร่วมของภาคีพัฒนาในย่าน

 

“อย่างที่อาจารย์ชัชชาติบอกว่าการบริการจัดการ กทม. คนเดียวทำไม่ไหวหรอก ถึงแม้ว่าทางเขตจะกระตือรือร้นมาก แต่ด้วยคนและงบที่มีจำกัดจึงลืมไปได้เลยว่าเขตจะทำ จึงต้องมีการพัฒนาจตุรภาคี (PPPPs) ปกติรัฐมักจะพูดถึง PPPs แต่โมเดลของเราได้เพิ่ม People ขึ้นมา ด้วยการบูรณาการย่านชุมชนที่มีถึง 79 ชุมชน เพราะพวกเขาคือคนที่รู้จักพื้นที่ดีที่สุด” ผศ.ดร.นิรมลกล่าว

 

ผศ.ดร.นิรมลเสริมว่า ทิศทางใหม่ของการพัฒนาย่านพระโขนง-บางนา นั้นสอดคล้องกับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด ทั้งในเรื่องการพัฒนาย่านและการพัฒนาเส้นเลือดฝอยด้วยโครงการขนาดเล็ก รวมไปถึงสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (2566-2580) ที่เน้นยุทธศาสตร์บูรณาการ ซึ่งสอดคล้องใน 5 มิติ ได้แก่

 

  1. บูรณาการพื้นที่ 2 เขต
  2. บูรณาการ 2 วาระหลัก ได้แก่ พัฒนากายภาพย่านและภูมิสังคม (ยุทธศาสตร์ 4 และ 5)
  3. บูรณาการหน่วยงาน 7 สำนักใน กทม. ได้แก่ สำนักผังเมือง สำนักการโยธา สำนักระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาชุมชน สำนักยุทธศาสตร์ และสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
  4. บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ (NIA, DEPA) และเอกชน
  5. สนับสนุนข้อเสนอการพัฒนาที่มาจากเขตและประชาชนในพื้นที่

 

ด้วยศักยภาพและแนวทางที่สอดคล้องกับทางภาครัฐ ทำให้ ผศ.ดร.นิรมล มองว่าย่านพระโขนง-บางนา สามารถเป็นพื้นที่นำร่องในการสร้างต้นแบบการพัฒนา ที่เน้นการพัฒนาระดับย่านและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและนำไปปรับใช้กับย่านอื่นๆ ต่อไป

 

 ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

 

“เพราะย่านน่าอยู่ไม่ได้เกิดจากภาครัฐหรืออาจารย์ชัชชาติเพียงฝ่ายเดียว แต่เกิดจากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการพัฒนา ถึงอย่างไรก็ตาม เราพยายามทำให้เกิดการพึ่งพาระบบแบบแผนมากกว่าตัวบุคคล” ผศ.ดร.นิรมลกล่าว

 

โครงการร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา จึงต้องถูกนำเสนอแก่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ และ กทม. เพื่อพิจารณาให้เกิดการสนับสนุน การรวมกลุ่มเป็นจตุรภาคี และการจัดสรรงบประมาณต่อไป

 

ผศ.ดร.นิรมลทิ้งท้ายว่า “การสร้างเมืองน่าอยู่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ เมืองจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เรามีชีวิตอยู่ได้แม้ในภาวะวิกฤต อย่างตอนนี้เมืองมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ มีความเหลื่อมล้ำสูง กทม. จึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising