อาการติดโทรศัพท์เป็นอะไรที่แพร่หลายและเป็นไปอย่างธรรมชาติในหมู่คนแทบทุกเพศทุกวัย สังเกตได้จากเวลาไปนั่งทานอาหารนอกบ้าน เกิน 50% ของคนในร้านไม่นับบริกรและพ่อครัว จะต้องมีการควักเอามือถือ อวัยวะที่ 33 ออกมาเช็กอย่างไร้เหตุผล แต่สำหรับทุกคนก็คงมีเหตุผลอะไรบางอย่างให้ต้องหลบเข้าไปในโลกอินเทอร์เน็ตทั้งที่เป็นช่วงเวลาที่ควรอยู่ในโลกแห่งความจริงอย่างมากที่สุด
อาจเป็นเรื่องธรรมดาของคนวัยทำงานที่ใช้ข้ออ้างการเช็กงานหรือทำงานกลางโต๊ะกินข้าว เพราะติดนิสัยไปแล้ว แต่คนสูงวัยหรือเด็กตัวเล็กก็ยังคงต้องพึ่งอุปกรณ์สื่อสารเพื่อการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งขณะมื้ออาหารเช่นกัน
สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ แม้ในเวลาที่ไม่ควรปกติอย่างตอนออกเดต ยังไม่ต้องพูดถึงเดตครั้งที่เท่าไร แต่พฤติกรรมเดตแบบนี้เขาอธิบายสั้นๆ ได้ว่า ‘Phubbing’ (ฟับบิ้ง) หรือ ‘Phone Snubbing’ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำลายความสัมพันธ์ ที่คนให้ความใส่ใจในเครื่องมือสื่อสารมากกว่าอีกครึ่งหนึ่งของหัวใจ
เว็บไซต์ Thrillist ได้พูดถึงพฤติกรรมดังกล่าวว่าเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร และงานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ที่ได้ทำการศึกษาเพื่อจะยืนยันสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า การใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินความจำเป็นสามารถตัดความสัมพันธ์ให้สะบั้นลงได้จริง
ดูเหมือน Phubbing จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เคยเกิดขึ้น หรือกำลังเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของคู่รักที่ทั้งคู่ต่างมีโทรศัพท์มือถืออย่างน้อย 1 เครื่อง
ศาสตราจารย์เจมส์ เอ.โรเบิร์ตส์ (James A. Roberts) และผู้ช่วยศาสตราจารย์เมเรดิธ เดวิด (Meredith David) จากมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ได้เขียนงานวิจัยจากการสำรวจแยกสองครั้ง จากประชากรวัยกลางคนในสหรัฐกว่า 450 เพื่อดูว่าพวกเขาใช้หรือถูกทำให้เสียสมาธิจากโทรศัพท์มือถือบ่อยแค่ไหนขณะที่กำลังใช้เวลากับคนรัก
ในงานวิจัยแรกของพวกเขาจะให้กลุ่มตัวอย่างกำหนดวัดค่าจาก 1 ถึง 5 ซึ่ง 1 หมายถึง ‘ไม่เคยเลย’ และ 5 หมายถึง ‘ตลอดเวลา’ ซึ่งจากคำตอบเหล่านี้พวกเขาจะได้พฤติกรรมโดยทั่วไป และให้กลุ่มตัวอย่างวัดค่าเดียวกันกับพฤติกรรมของคนรัก
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Computers In Human Behavior บอกเราว่า พฤติกรรมการ Phubbing นี้เกิดขึ้นกับคู่รักทั่วไป และไม่ว่าคุณจะเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำก็ตาม ความสัมพันธ์นี้กำลังน่าเป็นห่วง โดย 46.3% ของผู้เข้าร่วมสำรวจเผยว่า ถูกเมินจากคนรักของพวกเขาที่กำลังง่วนอยู่กับการเช็กโทรศัพท์มือถือ และ 22.6% ในคนกลุ่มนั้นบอกว่า ทำให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ นอกจากนั้นงานวิจัยยังบอกอีกว่า ความสัมพันธ์ของคนรักอาจเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีนักจากการถูกคั่นกลางระหว่างพวกเขาด้วยโทรศัพท์มือถือ และอาจทำให้คนใดคนหนึ่งเกิดความรู้สึกไม่พอใจอีกฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ
“โทรศัพท์มือถือถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอุปกรณ์การสื่อสาร แต่ในอีกทางกลับเป็นตัวขัดแทนที่จะเป็น ‘ตัวกลาง’ เพื่อการสื่อสารระหว่างคนรัก” โรเบิร์ตสและเดวิดกล่าว
ในยุคที่เราใช้โทรศัพท์เพื่อติดต่องานขณะที่เราไม่ได้นั่งทำงานที่ออฟฟิศ มันอาจเป็นเรื่องยากที่จะวางไว้เฉยๆ ไม่เช็ก ไม่สนใจมัน ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ คือรู้จักใช้อย่างเป็นเวลา ทุ่มเทเวลาที่อยู่กับคนพิเศษ มันอาจถึงเวลาที่เราจะได้ฤกษ์วางมือถือคู่ใจเอาไว้ แล้วให้เวลากับคนที่อยู่ตรงหน้าอย่างเต็มที่
ในอีกหนึ่งงานวิจัยเมื่อปี 2015 โดยนักสำรวจจากมหาวิทยาลัยบริกแฮม ยังใช้คำว่า ‘Technoference’ อธิบายรูปแบบของเทคโนโลยีใดก็ตามที่รบกวนความสัมพันธ์โดยดึงความสนใจของบุคคลไปจากคนรักขณะอยู่ด้วยกัน
เว็บไซต์ Psychology Today ได้บอกเล่าเกี่ยวกับงานวิจัยว่า มีความเชื่อมโยงอยู่ระหว่างพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มมากขึ้น แต่ระดับความสัมพันธ์กลับลดลง สิ่งที่น่าสนใจคือ นี่เป็นงานวิจัยแรกที่บอกว่า ยิ่งเทคโนโลยีมีส่วนกับบุคคลมากเท่าไร ยิ่งทำให้คนรักของเขาเป็นทุกข์ได้มากเท่านั้น
“ยิ่งเทคโนโลยีมีบทบาทกับชีวิตมากแค่ไหน ยิ่งมีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งในความสัมพันธ์และน่าพึงพอใจน้อยลงด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือเทคโนโลยีใดก็ตามที่มีความสำคัญมากขึ้นในชีวิต ยิ่งทำให้คนรู้สึกหดหู่ง่ายขึ้น และมีความสุขน้อยลงด้วย”
แม้ว่าเราจะรู้ว่าโทรศัพท์คู่ใจอาจเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ แต่ถ้ารู้ตัวว่าขาดมันไม่ได้ ทางที่ดีควรหาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์และการสื่อสารให้พอดิบพอดี สามารถทำได้ โดยอย่างแรกควรจะรู้ว่าเป็นการเสียมารยาทเมื่อคุณหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาต่อหน้าอีกฝ่าย พฤติกรรมดังกล่าวนั้นทำให้ใครก็ตามที่อยู่กับเราขณะนั้นรู้สึกโดดเดี่ยว ทำตัวไม่ถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนตรงข้ามเป็นคนรัก
ถ้าเราให้ความสนใจกับไลก์ใหม่ในอินสตาแกรม หรือคอมเมนต์ที่เพื่อนของเพื่อนที่ไม่รู้จักมาทิ้งเอาไว้ในเฟซบุ๊กเสียมากกว่าคนที่เรารัก หรือคนที่เรากำลังคบหาดูใจ ก็อาจถึงเวลาประเมินความสัมพันธ์เพื่อหาคำตอบว่ามีอะไรที่เทคโนโลยีนั้นให้กับเรา แล้วคนรักไม่สามารถให้ได้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: