วันนี้ (15 ตุลาคม) ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกรณีราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง ‘หลักเกณฑ์และวิธีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ขับขี่ขณะขับรถ พ.ศ. 2565’ ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนน เพื่อลดการสูญเสียและการบาดเจ็บของพี่น้องประชาชน ซึ่งในปัจจุบันผู้ขับขี่รถมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ โดยเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก
ทิพานันกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จึงมีประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ขับขี่ขณะขับรถ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 43(9) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้ผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
- ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบไร้สาย อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาหรือระบบกระจายเสียงจากเครื่องโทรศัพท์ โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่
- ใช้อุปกรณ์เสริมพิเศษสำหรับยึดหรือติดโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้กับส่วนหน้าของตัวรถทุกครั้งก่อนการขับรถ ทั้งนี้ ต้องไม่บดบังทัศนวิสัยหรือเสียความสามารถในการขับรถ กรณีผู้ขับขี่มีความจำเป็นต้องถือ จับ หรือสัมผัสโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อใช้งานโดยประการใดๆ ให้ผู้ขับขี่หยุดหรือจอดรถในสถานที่สำหรับจอดรถอย่างปลอดภัย ก่อนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว
ทิพานันกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(9) ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดในขณะที่รถเคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
และเพื่อให้กฎหมายมีความทันต่อสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต และเพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้หลังจากประกาศฉบับนี้ใช้บังคับแล้วเป็นระยะเวลา 5 ปี หรือเมื่อมีเหตุจําเป็นอื่น ให้พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ขับขี่ขณะขับรถ โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณา
“รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนจากหลายกรณีที่เคยมีปัญหารับโทรศัพท์ขณะขับขี่ รวมถึงหลายกรณีที่เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตของผู้ขับขี่เองและของผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่นๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐมีกลไกหลายแบบที่จะช่วยบรรเทาปัญหาและแก้ไขปัญหาการโทรระหว่างขับขี่ให้ดีขึ้น จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎหมายร่วมกันช่วยลดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและผู้อื่น ร่วมกันสร้างสังคมให้มีความปลอดภัยในการขับขี่ต่อไป” ทิพานันกล่าว