×

พิธาชี้ รัฐต้องสะสางปมบ่อน-แรงงานต่างด้าว ต้นเหตุโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ เสนอ 5 แนวทางฝ่าวิกฤต

โดย THE STANDARD TEAM
07.01.2021
  • LOADING...
พิธาชี้ รัฐต้องสะสางปมบ่อน-แรงงานต่างด้าว ต้นเหตุโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ เสนอ 5 แนวทางฝ่าวิกฤต

วันนี้ (7 มกราคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กโดยระบุว่า เป็นที่น่าเสียดายที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถดำเนินการจัดการประชุมสภาได้ตามปกติ ทำให้พวกเราไม่สามารถพูดแทนพี่น้องประชาชน หรือไม่สามารถพิจารณากฎหมายสำคัญได้ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้นิ่งนอนใจและคำนึงถึงปากท้องและภาษีของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นจึงจะผลักดันให้เกิดการประชุมออนไลน์ในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อใช้กลไกของรัฐสภาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ 

 

พิธากล่าวต่อไปว่า ตนขออภิปรายแบบออนไลน์ครั้งเเรกภายใต้สถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น รัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้บริหารสถานการณ์อย่างล้มเหลว ผิดทิศผิดทาง และโยนความรับผิดชอบให้กับประชาชน ข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยมีปัญหาที่ยังไม่ได้รับการสะสางให้ชัดเจน 4 ประเด็นหลัก คือ 

 

ประเด็นเเรก ธุรกิจสีเทา เรื่องแรกคือบ่อนการพนัน ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นตอในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกนี้ ถึงตอนนี้ยังไม่สามารถเอาผิดกับต้นตอและหาสาเหตุของการหละหลวมได้ อีกเรื่องหนึ่งคือการจัดการต้นตอของปัญหาแรงงานต่างชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงระบบสาธารณสุข และเพื่อปฏิรูปฐานเเรงงานในอนาคตหลังโควิด-19 เบาบางลงได้ 

 

ประเด็นที่สองคือการจัดหาวัคซีน ซึ่งยังไม่ครบ 60-80% ตามที่ WHO แนะนำ และยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องเทาๆ ที่ยังคลุมเครือ ซึ่งหากบริหารจัดการเรื่องวัคซีนไม่ดีพอ ก็จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนของประเทศ ซึ่งการจัดหาวัคซีนจะเป็นหรือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะหยุดวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ได้

 

ประเด็นที่สาม การควบคุมการระบาดระลอก 2 ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อมีอัตราสูงกว่าครั้งแรกถึง 3 เท่า แต่จากวิธีการที่นำมาใช้ทำให้รู้ว่ารัฐบาลยังไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการสื่อสารและการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ต้องสื่อสารกับประชาชนคือ ให้ตระหนักถึงความสำคัญ แต่ไม่ตระหนก ซึ่งหากเรายังควบคุมการระบาดไม่ได้ เศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมหาศาล 

 

ประเด็นสุดท้ายคือการบริหารงบประมาณ ในระยะสั้นคือนำ พ.ร.ก. เงินกู้ ที่ยังเหลือในครั้งแรกมาใช้ในการเยียวยา ระยะกลางคือการเกลี่ยก่อนกู้ เพื่อเป็นกระจายงบประมาณที่ได้นำมาจัดสรรใช้ในทุกส่วนอย่างเท่าเทียม ระยะยาวก็คือการจัดทำงบประมาณก้อนใหม่ โดยในเดือนมกราคมเป็นเดือนที่เริ่มจัดทำงบประมาณปี 2565 ซึ่งเมื่อวานนี้กรอบของงบประมาณปี 2565 ออกมาแล้วว่าอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท สิ่งที่ต้องทำคือจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่ตอบโจทย์ของประชาชน โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมกับประเทศที่กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ไม่ใช่การบริหารและจัดสรรงบประมาณแบบเดิมที่เหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

 

“สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ นอกจากการหาคนผิดมารับผิดอย่างจริงจัง ที่ไม่ใช่แค่การโยกย้ายตำแหน่ง อย่างในเคสสนามมวยลุมพินีในการระบาดครั้งเเรก เรื่องยุทธศาสตร์เราจะต้องเปิด One Stop Sevice และนิรโทษกรรม ตาม พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว 2560 เพื่อให้มีการเปิดขึ้นทะเบียน ตรวจสุขภาพ เเละให้ที่อยู่อาศัย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันและดูแลแรงงานข้ามชาติ ต้องมีการปฏิรูปแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อควบคุม เพิ่มประสิทธิภาพในการดูเเล และเพื่อเพิ่มแรงงานเข้าสู่ระบบอีกครั้งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลง” พิธากล่าว 

 

พิธาระบุว่า เรามีเวลาอยู่กับโควิด-19 มา 1 ปี เราต้องบริหารงบประมาณให้เหมือนประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤต ถ้าเราสามารถบริหารประเทศภายใต้งบประมาณที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพให้ดีกว่านี้ บริหารการจัดการจัดซื้อวัคซีนให้ดีกว่านี้ และเตรียมพร้อมการแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมทั่วถึง ถ้าคุณสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ดีกว่านี้ ตนเชื่อว่าจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้สำเร็จ

 

พิธานเสนอ 5 ประเด็นหลัก เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น คือ

 

  1. เร่งแก้ไข พ.ร.ก. Soft Loan 5 แสนล้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้จริง 

 

  1. การโยกงบประมาณฟื้นฟู 460,000 ล้านบาท ที่ยังเหลือจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มาใช้เยียวยาประชาชนได้ 

 

  1. เร่งจัดหาวัคซีน ใช้งบ พ.ร.ก. เงินกู้ด้านสาธารณะสุขที่เหลืออยู่ และงบกลางปี 2563 เพื่อจัดหาวัคซีนให้คนไทย 35-40 ล้านคนเป็นอย่างน้อย 

 

  1. การเกลี่ยก่อนกู้ด้วยการออก พ.ร.บ. โอนงบประมาณ พ.ศ. 2564 อย่างที่เคยเสนอมาแล้วใน พ.ศ. 2563 เนื่องจากงบในส่วนที่ไม่ผูกพันยังมีอยู่อีกประมาณกว่า 6 แสนล้านบาท ส่วนจะสามารถโอนได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญ โดยพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายในการโอนได้ตั้งแต่ 61,300-306,500 ล้านบาท 

 

  1. การจัดทำงบประมาณปี 2565 ต้องทำให้เป็นงบประมาณที่รองรับกับปัญหาประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับประเทศที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤต

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising