วันนี้ (24 พฤศจิกายน) พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า แรงงานไทยกลับจากประเทศอิสราเอลแล้ว 9,500 คน และได้ทราบข่าวว่ามีคนไทยลักลอบกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลประมาณ 10 คน จึงประสานสถานเอกอัครราชทูตว่า แรงงานเหล่านี้เข้าไปทำงานในพื้นที่ใด แต่แน่นอนว่าเมื่อเหตุการณ์สงบมีแรงงานที่แจ้งความจำนงขอกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลประมาณร้อยละ 25
แรงงานร้อยละ 80 อยากกลับไปทำงานที่อิสราเอล
“แต่ถ้าเหตุการณ์สงบแล้วจริงๆ คิดว่าเกินร้อยละ 80 อยากกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล เพราะต้องยอมรับว่าบางคนเพิ่งไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้ไม่กี่เดือน บางคนทำได้ 2 ปี ภาระหนี้สินที่เกิดก่อนไปทำงานก็ยังมีอยู่ แม้ว่ารัฐบาลกำลังจะเยียวยาคนละ 50,000 บาท และมีมาตรการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ในวงเงิน 150,000 บาท ระยะเวลา 3 ปี
“แต่หากเขาไม่มีรายได้แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายเงินต้นและดอก จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่จะต้องช่วยให้คนเหล่านี้ให้มีงานทำ แม้ว่าจะไม่ใช่ที่ประเทศอิสราเอลก็ตาม ซึ่งขณะนี้ปลัดกระทรวงแรงงานก็พยายามเจรจากับทางเกาหลี ออสเตรเลีย ซึ่งผมจะไปเจรจาราวๆ กลางเดือนธันวาคมนี้ด้วย” พิพัฒน์กล่าว
นายกฯ ได้อนุมัติเรื่องเงินเยียวยาไว้ในที่ประชุม ครม. แล้ว
ส่วนเรื่องของเงินเยียวยาเพิ่มเติม 50,000 บาท จะมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายให้แรงงานหรือไม่นั้น เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว
“ส่วนแรงงานที่เราจะส่งออกก็ยังไม่ได้ส่งออกจริงๆ เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่สงบ ดังนั้น เงินเยียวยาให้คนที่เดินทางกลับประเทศไทยก็ยังเดินตามแผนที่นายกฯ ได้ให้ไว้ คนที่จะกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ไม่ใช่ปีนี้ อาจเป็นปีหน้า ต้องสงบเรียบร้อยจริงๆ ถึงจะกล้าส่งแรงงานกลับไป
“เพราะตอนนี้เราเสียหายพอสมควรแล้ว เราไม่อยากทำให้เพื่อนๆ ของเราเสียหายไปมากกว่านี้ คนที่เดินทางกลับประเทศไทยได้เงินเยียวยาร้อยละ 100 เพราะว่านายกฯ เซ็นอนุมัติแล้ว ผ่านสำนักงบประมาณ ผ่านนายกฯ ตอนนี้กลับไปอยู่ที่กระทรวงการคลัง เพื่ออนุมัติเงินแล้ว ถ้าทันวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ก็แจ้งต่อที่ประชุม ครม. รับทราบได้ทันที กระบวนการก็จบ” พิพัฒน์กล่าว
เมื่อถามว่า ถ้าแรงงานรับเงินแล้วเดินทางกลับประเทศอิสราเอลใน 2-3 เดือน จะมีมาตรการอะไรหรือไม่ พิพัฒน์กล่าวว่า เขาได้สิทธิแล้ว แต่นั่นหมายความว่าต้องให้รัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอลทำความตกลงกันว่า แรงงานไทยไปแล้วเขาจะรับประกันว่าปลอดภัย แต่หากยังมีการสู้รบกันอยู่ คิดว่าทางการอิสราเอลคงไม่รับอย่างเป็นทางการ เพราะมีความเสี่ยง
เมื่อถามย้ำว่า หากรับเงินเยียวยาแล้วแอบกลับไปจะทำอย่างไร พิพัฒน์กล่าวว่า แล้วจะให้ทำอย่างไร ถือว่าเราเชิญชวนเขากลับมา เขาอาจเสียเวลา 2-3 เดือน ขาดรายได้ไปเป็นแสนบาท การที่ได้เงิน 50,000 บาท ทดแทนกันได้ เพราะเขาเสียโอกาส
พบ 10 คน แอบเดินทางไปใช้แรงงานในอิสราเอล
“แต่เมื่อรัฐบาลเชิญชวนให้กลับ แล้วเขากลับมาแล้ว ก็ควรจะต้องได้รับในสิ่งที่เขาควรจะได้รับ ถือเป็นค่าเสียโอกาส อย่างไรก็ตาม หากแอบกลับไปไม่ผ่านกระทรวงแรงงาน หวังว่าคงจะไม่เกิดขึ้น เท่าที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการขณะนี้มีประมาณ 10 คน และแอบไปจากประเทศที่ 3 ไม่ได้เดินทางไปจากประเทศไทย ไปเป็นแรงงานเถื่อน หากประสบเหตุอะไรรัฐบาลอิสราเอลคงมีการดูแล แต่เงินเยียวยาจากภัยสงคราม 15,000 บาทจากกระทรวงแรงงานก็คงให้ไม่ได้” พิพัฒน์กล่าว
เมื่อถามอีกว่า เงินเยียวยา 50,000 บาทสำหรับคนเดินที่ทางกลับ มีระยะเวลากำหนดไว้หรือไม่ว่าต้องกลับภายในเมื่อไร พิพัฒน์กล่าวว่า เปิดเรื่อยๆ จนกว่ารัฐบาลจะประกาศปิด แต่ตอนนี้ยังเปิดให้กลับอยู่ ซึ่งขณะนี้มีคนเดินทางกลับทุกวัน วันละ 20-30 คน
นั่งหัวโต๊ะ สาง 19 ปัญหาแรงงานให้สมัชชาคนจน
ขณะเดียวกันพิพัฒน์ยังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กรณีปัญหาแรงงาน ครั้งที่ 1/2566 โดยพิพัฒน์กล่าวว่า ในวันนี้พี่น้องกลุ่มสมัชชาคนจนได้เข้ามาพบผมเพื่อหารือร่วมกันที่จะให้กระทรวงแรงงานช่วยแก้ไขปัญหาพี่น้องแรงงานของกลุ่มสมัชชาคนจนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 19 เรื่อง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน
โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีแก้ไขปัญหาเป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน 1 เรื่อง, กรณีใช้กลไกแก้ไขปัญหาในรูปแบบคณะกรรมการ 11 เรื่อง และกรณีที่มีความจำเป็นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีอีก 7 เรื่อง
พร้อมสนับสนุน ยกระดับแรงงานทุกมิติ
“จากการหารือกันกับพี่น้องกลุ่มสมัชชาคนจนในวันนี้ ถือเป็นที่น่าพอใจและได้ข้อสรุปครบถ้วนทุกประเด็นร่วมกัน ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงานเอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งการติดตามผลการดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติ ซึ่งในเรื่องนี้ผมได้รับปากและยืนยันว่าอะไรที่เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงานและเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน เราพร้อมจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนเรื่องใดที่เกี่ยวกับกระทรวงอื่นๆ ผมยินดีที่จะประสานพูดคุยให้ เพื่อเร่งรัดคลี่คลายปัญหาของพี่น้องแรงงานทุกกลุ่มให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุดในทุกมิติต่อไป” พิพัฒน์กล่าว
ด้าน บุญยืน สุขใหม่ แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวว่า ในนามตัวแทนกลุ่มสมัชชาคนจนต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิพัฒน์ และคณะ ที่เปิดโอกาสให้พี่น้องกลุ่มสมัชชาคนจนได้เข้าพบ พร้อมรับข้อเสนอต่างๆ และรับปากที่จะเร่งรัดปัญหาของพี่น้องแรงงานให้มีความคืบหน้า ซึ่งก็สร้างความพอใจให้กับกลุ่มสมัชชาคนจนอย่างพวกเราเป็นอย่างมาก