×

สรุปปมร้อน เรือฟิลิปปินส์-จีน ปะทะในทะเลจีนใต้ กับความขัดแย้งที่ยัง ‘ไร้ทางออก’

21.08.2024
  • LOADING...

ฟิลิปปินส์และจีนตกอยู่ภายใต้บรรยากาศตึงเครียดอีกครั้ง หลังเกิดเหตุเรือยามฝั่งของทั้งสองประเทศชนประสานงากันอย่างรุนแรงในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ บริเวณแนวปะการังซาบินา (Sabina Shoal) ซึ่งเป็นสันดอนปะการังความยาว 22 กิโลเมตร อันเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลี (Spratly Islands) พื้นที่พิพาทที่จีน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม ต่างอ้างสิทธิ์ครอบครองมานานหลายทศวรรษ

 

ทั้งสองประเทศต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่การเผชิญหน้าและปะทะกันของเรือทั้งสองประเทศเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

 

THE STANDARD สรุปที่มาที่ไปของสถานการณ์ร้อนที่เกิดขึ้น ท่ามกลางคำถามสำคัญว่า ความขัดแย้งนี้จะสงบลง หรือมีทางออกของปัญหาพิพาทได้อย่างไร?

 

เกิดอะไรขึ้น?

 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงประมาณ 03.00 น. ของวันจันทร์ (19 สิงหาคม) ตามเวลาท้องถิ่น โดยหน่วยยามฝั่งจีนอ้างว่า เรือของหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ 2 ลำ ‘บุกรุก’ เข้าไปในน่านน้ำใกล้กับแนวปะการังดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรือของฟิลิปปินส์ลำหนึ่งชนเรือของหน่วยยามฝั่งจีนโดยเจตนา

 

ซึ่งคลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยหน่วยยามฝั่งจีนบน Weibo แสดงให้เห็นเรือของจีนกำลังผลักดันเรือฟิลิปปินส์ออกจากแนวปะการัง ขณะที่ CCTV เผยแพร่คลิปวิดีโอขณะที่เรือฟิลิปปินส์พุ่งชนทางด้านซ้ายของเรือจีน

 

“เรือของหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์เข้ามาในเขตน่านน้ำใกล้แนวปะการังเซียนปิน (Xianbin Reef) ในหมู่เกาะหนานซา (Nansha Islands) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีน” เกิ่งหยู (Gan Yu) โฆษกหน่วยยามฝั่งจีนกล่าว โดยใช้ชื่อภาษาจีนเรียกแนวปะการังซาบินาและหมู่เกาะสแปรตลีย์

 

ขณะที่เขายืนยันว่า หน่วยยามฝั่งจีนดำเนินมาตรการกับเรือของฟิลิปปินส์ตามกฎหมาย พร้อมทั้งเตือนฟิลิปปินส์ให้หยุดการละเมิดและยั่วยุในทันที มิฉะนั้นฝ่ายฟิลิปปินส์จะต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาทั้งหมด

 

ด้านฟิลิปปินส์ระบุว่า เรือของหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ 2 ลำกำลังเดินทางไปยังเกาะอื่น ก่อนจะเผชิญหน้ากับเรือจีนที่เคลื่อนที่อย่างอันตรายและผิดกฎหมายใกล้กับแนวปะการัง ส่งผลให้เรือฟิลิปปินส์ทั้ง 2 ลำชนประสานงากับเรือจีนจนได้รับความเสียหาย

 

โจนาธาน มาลายา ผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติฟิลิปปินส์ ตอบโต้ว่าเรือของหน่วยยามฝั่งจีนเคลื่อนที่อย่างอันตรายจนก่อให้เกิดการชน โดยเรือลำหนึ่งที่ชื่อว่า BRP Cape Engano ถูกเรือจีนชนเข้าถึง 2 ครั้ง จนเป็นรูที่คานด้านขวาขนาด 13 เซนติเมตร

 

สำหรับพื้นที่แนวปะการังซาบินาอยู่ห่างจากเกาะปาลาวัน (Palawan) ของฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตก 140 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเกาะไหหลำ หรือไห่หนาน (Hainan) ของจีนมากกว่า 1,000 กิโลเมตร

 

โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทางการจีนและฟิลิปปินส์มีการส่งเรือของหน่วยยามฝั่งไปประจำการ และเฝ้าระวังพื้นที่บริเวณรอบแนวปะการังในพื้นที่พิพาท ซึ่งฝ่ายฟิลิปปินส์เกรงว่าจีนจะสร้างเกาะเทียมขึ้นในจุดนี้

 

12 เดือนปะทะกว่า 10 ครั้ง

 

สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นมากกว่า 10 ครั้ง ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยมีทั้งการใช้เครื่องฉีดน้ำโจมตีหรือใช้เรือพุ่งชน ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ แต่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต

 

กรณีก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน โดยเรือของหน่วยยามชายฝั่งจีนพุ่งชนเรือยางของทหารฟิลิปปินส์ที่กำลังขนเสบียงไปให้หน่วยทหารที่ประจำการบนซากเรือรบบีอาร์พีเซียร์รามาเดร (BRP Sierra Madre) ซึ่งเป็นเรือรบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกยตื้นบนแนวปะการัง Second Thomas Shoal ในหมู่เกาะสแปรตลีมาตั้งแต่ปี 1999

 

โดยลูกเรือของหน่วยยามฝั่งจีนใช้มีดฟันเรือยาง ทำให้ทหารฟิลิปปินส์ 1 คนบาดเจ็บและเสียนิ้วหัวแม่มือไป 1 นิ้ว ขณะที่คาดว่าชนวนการปะทะเกิดขึ้นเนื่องจากจีนสงสัยว่าเรือของฟิลิปปินส์อาจขนวัสดุก่อสร้างไปขยายฐานทัพบนซากเรือรบดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงชั่วคราวได้ในที่สุด ซึ่งจีนยอมเปิดทางให้กองทัพฟิลิปปินส์ขนส่งเสบียงไปยังสันดอน Second Thomas Shoal แต่จำกัดข้อตกลงเฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น

 

จีนเดินหน้าอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

 

การอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ของจีน กับหลายประเทศและดินแดนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่าง ไต้หวัน, บรูไน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970

 

โดยพื้นที่พิพาทเหล่านี้ นอกจากจะเป็นเส้นทางเดินทะเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ยังมีทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ราว 11,000 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติกว่า 190 ล้านลูกบาศก์ฟุตที่ยังไม่ถูกขุดเจาะ

 

ขณะที่จีนกำหนดเส้นแบ่งอาณาเขตของตนในทะเลจีนใต้บนแผนที่อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 1947 โดยแผนที่ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในปีที่แล้ว มีเส้นแบ่งเขตที่เรียกว่า ‘เส้นสิบขีด (Ten-Dash Line)’ ซึ่งก่อให้เกิดการประท้วงจากหลายประเทศรวมถึงฟิลิปปินส์ ที่มองว่าแผนที่ของจีนนั้นผิดกฎหมาย

 

โดยที่ผ่านมาในปี 2016 ศาลอนุญาโตตุลาการที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Se: UNCLOS) ตัดสินว่าการอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ของจีนเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้เป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมาย แต่จีนไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการไต่สวนและปฏิเสธคำตัดสินดังกล่าว

 

ท่าทีของจีนที่เดินหน้าขยายอิทธิพลในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ ส่งผลให้ความเคลื่อนไหวและการดำเนินการต่างๆ ของประเทศคู่กรณีในพื้นที่พิพาทยังคงเป็นความเสี่ยงที่จะจุดชนวนความขัดแย้งกับจีนได้ตลอดเวลา

 

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ความล้มเหลวในการใช้ช่องทางการทูตเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการควบคุมข้อพิพาททางทะเล และก่อให้เกิดการสะสมอาวุธ ซึ่งเสี่ยงต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค

 

สื่อจีนมองสหรัฐฯ เติมเชื้อไฟ

 

กรณีการปะทะล่าสุดระหว่างเรือจีนและฟิลิปปินส์ ยังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามอง โดยสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรของฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์สนับสนุนฟิลิปปินส์ และย้ำถึงสนธิสัญญาร่วมปกป้องระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ในปี 1951 ท่ามกลางความไม่พอใจของจีนที่มองว่าเป็นการยั่วยุและเติมเชื้อไฟให้รุนแรงขึ้น

 

บทบรรณาธิการในเว็บไซต์ Global Times สื่อทางการจีนปกป้องหน่วยยามฝั่งจีนว่า ควบคุมเหตุการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ และปกป้องสิทธิของตนเองอย่างสมเหตุสมผลตามกฎหมาย ขณะที่โจมตีแถลงการณ์ของวอชิงตันว่า เป็นการทำตัวราวกับเป็น ‘ผู้พิพากษาโลก’ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก

 

นอกจากนี้ ยังชี้ว่าการยั่วยุซ้ำแล้วซ้ำเล่าของฟิลิปปินส์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการ ‘ยุยงและสนับสนุน’ ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้กลับสู่บรรยากาศตึงเครียดอีกครั้ง และอาจทำให้เกิดผลที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นตามมา

 

บทบรรณาธิการยังระบุว่า แม้ฟิลิปปินส์และจีนจะบรรลุข้อตกลงชั่วคราวสำหรับสถานการณ์ในสันดอน Second Thomas Shoal แต่แรงผลักดันที่ทำให้รัฐบาลมะนิลายอมเสี่ยงอีกครั้งเกิดจากโต๊ะเจรจา 2+2 ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมะนิลาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

พร้อมทั้งชี้ว่า ท่าทีของสหรัฐฯ ในการแทรกแซงข้อขัดแย้งระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ มีเจตนาเพื่อตอกย้ำวาทกรรมที่ว่าจีนเป็น ‘ภัยคุกคาม’ และทำลายความพยายามในการสร้างกลไกแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาของประเทศในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมองว่าสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะคว้าโอกาสในการขยายการประจำการทางทหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อชิงความได้เปรียบทางด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

ภาพ: China Coast Guard via Weibo / Handout via Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising