วันนี้ (4 สิงหาคม) ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ฝั่งของพรรคเพื่อไทย เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากให้แปรญัตติงบ 16,300 ล้านบาทไปไว้ที่งบกลางว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 มีผู้ยอดผู้ป่วยสะสม 3,328 ราย แต่ในวันนี้ 4 สิงหาคม 2564 มียอดผู้ป่วยสะสม 643,532 ราย แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นและต้องเร่งรับมือ ดังนั้น การปรับลดงบประมาณในชั้นอนุกรรมาธิการ หลายพรรคการเมืองได้ร่วมกันและเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องนำงบประมาณที่ถูกตัดลดจากกระทรวงต่างๆ มาแก้ปัญหาในสถานการณ์โควิด เพื่อไม่ให้ประชาชนแบกรับภาระหนี้ที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินของรัฐบาล
ทั้งนี้ ในชั้นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยได้ร่วมกันคิดและตัดสินใจโดยสุจริต ปราศจากผลประโยชน์ส่วนตน นึกถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงนำงบกลาง หรือเรียกว่า ‘งบโควิด’ ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยพิจารณาจากจากวัตถุประสงค์คำขอใช้งบกลางที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ‘เพื่อสำรองไว้สำหรับการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาจากการระบาดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม’ จึงไม่สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้ และเพื่อสร้างความมั่นใจอีกชั้นหนึ่ง กรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในบัญชีแนบท้ายของงบประมาณด้วย โดยเงินงบประมาณส่วนนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ป้องกันไม่ให้ ส.ส. หรือกรรมาธิการมีส่วนโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณ ซึ่งเป็นความผิดถึงขั้นมีโทษทางอาญา และเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งได้
ส่วนคำกล่าวที่ว่าเมื่อโยกเงินเข้างบกลาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้ โดยเฉพาะที่กล่าวกันว่าจะเอาไปซื้ออาวุธมายิงพี่น้องประชาชน เป็นคำกล่าวที่เกินเลยข้อเท็จจริง เพราะในข้อเท็จจริงแล้วการใช้งบกลางมีระเบียบการใช้เงินรองรับ ไม่สามารถใช้เงินนอกวัตถุประสงค์หรือใช้โดยปราศจากการตรวจสอบได้ สิ่งที่พรรคก้าวไกลได้เสนอโดยให้นำงบที่ตัดลดไปเพิ่มเติมส่วนต่างๆ ในหลายรายการ พรรคเพื่อไทยได้ดูในรายละเอียดแล้วพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิดในทางตรง ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการใช้งบโควิดเพื่อแก้ไขปัญหาโควิดของประชาชนที่กำลังทุกข์ยากแสนสาหัส อีกทั้งการตัดสินใจของกรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยไม่เกี่ยวข้องกับสถานภาพการยอมรับในตัว พล.อ. ประยุทธ์ และรัฐบาล ซึ่งเรายังยืนยันว่า พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้นำที่ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ ซึ่งพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ยืนยันที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ และพวกเร็วๆ นี้
ประเสริฐกล่าวอีกว่า การที่มีการกล่าวอ้างว่าจะมีการนำงบกลางเพื่อรื้อฟื้นงบประมาณ ส.ส. จะเกิดการวิ่งเต้นหรือแบ่งเค้กกัน เป็นไปไม่ได้และไม่มีมูลความจริง สิ่งที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธมาโดยตลอดคือการทำงานของนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยไม่เคยคิดว่าจะต้องมามีผลประโยชน์จากงบนี้แต่อย่างใด ขอให้เอาไปแก้โควิดโดยโปร่งใส ให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนสูงสุด พร้อมยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด แต่ในรายการในงบประมาณหน่วยงานต่างๆ ที่กล่าวอ้างมานั้น ไม่มีแผนงานหรือรายการงบประมาณที่จะนำไปใช้แก้ไขปัญหาโควิดเลย
นอกจากนี้ การนำงบประมาณส่วนนี้ไปไว้ในงบกลางไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานอื่นๆ เหล่านั้นจะไม่สามารถใช้งบประมาณในส่วนนี้ได้ หน่วยงานต่างๆ กรม กอง ยังสามารถมีคำขอใช้งบประมาณในส่วนนี้ได้ เพียงแค่ต้องนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในกรณีแก้ปัญหาโควิดเท่านั้น
“พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าการตัดสินใจของกรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยเป็นไปโดยรอบคอบ สุจริต คำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และระมัดระวังมิให้ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนสภาพความเป็นจริง บนสภาพที่เป็นฝ่ายค้านในรัฐสภา แยกมิตร แยกศัตรู ไม่ทำร้ายใคร สภาพความจริงคือ สู้ไป ยืนยันไป ก็ไม่ชนะ แทนที่จะหาทางเอาชนะ ไม่อยากให้เรามาทะเลาะกันเองในเรื่องที่เราไม่ชนะ เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านยังมีภารกิจหลายอย่างร่วมกันในอนาคต เราจึงต้องร่วมกันต่อสู้กับความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ในขณะนี้” ประเสริฐกล่าว
ด้าน วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณางบประมาณ ปี 2565 สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การจัดงบประมาณปี 2565 ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการจัดตามแผนเดิมที่ไม่มีการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดแต่อย่างใด พรรคเพื่อไทยจึงต้องตัดสินใจช่วยแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หาช่องทางนำเงินนี้ใส่ไว้ในแผนที่สามารถนำมาใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับโควิดได้ทันที ซึ่งเหลืออยู่ช่องทางเดียวคือแผนงานงบกลาง ซึ่งระบุการใช้เงินเพื่อวิกฤตโควิดเท่านั้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นต่างกับพรรคก้าวไกลที่เสนอให้นำงบดังกล่าวไปไว้ในส่วนอื่น เพราะเป็นข้อเสนอที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ตามข้อจำกัดของวิธีการงบประมาณ คือ แม้เราจะนำเงินไปใส่ในหน่วยงานต่างๆ ที่ก้าวไกลเสนอ ก็ไม่สามารถนำเงินไปใช้ได้ทันที เพราะไม่อยู่ในแผนงานของหน่วยงานนั้นๆ มาก่อน หากจะใช้วิธีเสนอเปลี่ยนแผนโครงการ มีขั้นตอนในการเขียนแผนงาน เสนอ พิจารณา และอนุมัติ กว่าจะได้เงินมาใช้ จะไม่ทันต่อสถานการณ์วิกฤตของพี่น้องประชาชนไทย และหากพิจารณาในรายละเอียดแผนงานพบว่าหน่วยงานต่างๆ แทบจะไม่มีเรื่องแก้วิกฤตโควิดเลยตามข้อเสนอของก้าวไกล เช่น การเสนอโยกงบมาไว้ในประกันสังคม แต่ประกันสังคมมีเงินอยู่แล้วมากกว่า 2 ล้านล้านบาท และเอามาใช้เพื่อโควิดน้อยมาก หรือกรณีที่เสนอไว้ในสำนักงานประกันสุขภาพ แต่เมื่อพิจารณาแผนคำขอมา แทบไม่เกี่ยวกับการจัดการโควิด
ส่วนข้อเสนอนำงบไว้ในกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา แต่ลักษณะของหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานอิสระที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น ที่ผ่านมามีลักษณะการใช้เงินที่ไม่มีแบบแผนชัดเจน และไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องโควิด
ส่วนข้อเสนอโยกงบให้ท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้นำไปจัดสรรต่อในด้านต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การจัดสรรตรงไปที่ท้องถิ่น ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้มีแผนงานเกี่ยวกับโควิดรองรับไว้เช่นกัน หรือแทนที่จะจัดสรรลงไปตรงพื้นที่ที่มีปัญหา อาจเป็นการกระจายงบลงไปในหลายจังหวัดที่ปัญหาไม่รุนแรงก็เป็นได้
ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อสงสัยที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะเอางบประมาณไปใส่งบกลางให้ พล.อ. ประยุทธ์เอาไปใช้ เสมือนตีเช็คเปล่า ใช้ตามอำเภอใจ เอาไปซื้อกระสุนยางมายิงพี่น้องประชาชนก็ได้นั้น เป็นข้อหาที่ค่อนข้างรุนแรงเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีในปี 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอของบกลางในการซื้ออาวุธควบคุมฝูงชนนั้น ก็เป็นงบกลางในหมวดอื่นในกรณีสำรองฉุกเฉิน และไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาของ กมธ. ชุดนี้ ซึ่งในงบกลางของปี 2565 ที่กำลังเป็นประเด็นนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดๆ ขอใช้งบ แต่หาก พล.อ. ประยุทธ์จะเอางบไปซื้ออาวุธไปยิงประชาชน คนไทยต้องร่วมกันประณามขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์
ทั้งนี้ จากการติดตามการทำงานของ กมธ. งบส่วนนี้ได้ระบุการใช้ไว้ชัดเจน ซึ่งเป็นไปตามเจตจำนงของ ส.ส.โดยส่วนใหญ่ เพราะหลักฐานชัดที่สุดคือในชั้นของการรับร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2565 ในวาระที่ 1 ในการอภิปรายของ ส.ส. ในสภา ระบุตรงกันว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ไม่สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์โควิด จึงขอให้ กมธ. งบประมาณ ปี 2565 ช่วยปรับลด แล้วนำเงินก้อนนี้ไปแก้โควิดให้มากที่สุด เมื่อปรับลดได้แล้วก็ควรต้องนำงบส่วนนี้แก้ไขสถานการณ์โควิดโดยตรงเท่านั้น ซึ่งช่องทางคืองบกลางที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับแก้ปัญหาโควิดเท่านั้น ต้องผ่านช่องนี้เท่านั้น ผ่านช่องทางอื่นไม่ได้ เพราะจะไม่ชอบด้วยวิธีการงบประมาณ โชคร้ายที่หน่วยงานที่รับผิดชอบคือนายกรัฐมนตรีที่บริหารจัดการงบกลาง
นพ.ชลน่านกล่าวต่อไปว่า ส่วนจะเป็นการตีเช็คเปล่าหรือไม่ อยากให้พี่น้องประชาชนได้กลับมาพิจารณาเรื่องหน้าที่ของ กมธ. ส.ส. และรัฐสภา คือการอนุมัติงบประมาณตามคำขอที่หน่วยรับงบประมาณส่งเข้ามาตามที่ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2565 เท่านั้น ส่วน กมธ. หลายท่านบอกว่าไม่มีเอกสารมาชี้แจง เนื่องจากการใช้เงินงบประมาณยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์มีหน้าที่บริหารงบประมาณ แต่ทำตามอำเภอใจไม่ได้ เพราะมี พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ กฎหมายการคลัง ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นผู้กำหนดและออกระเบียบมาตรการรองรับ เรียกว่า ‘ระเบียบบริหารรายจ่ายงบกลาง รายการ ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการะบาดของโรคโควิด’ ที่ออกมาในปี 2563 เพื่อใช้ในงบกลางของปี 2564 มีรายการสำรองจ่ายฉุกเฉินโควิด 21 รายการ งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสภาอนุมัติไปแล้วและกำลังใช้จ่ายอยู่ ในงบกลางรอบนี้ก็ไม่ต่างจากปี 2564 เช่นกัน หากหน่วยงานใดมีงบประมาณไม่พอ สามารถขอเสนอขอรับอุดหนุนจากงบกลางได้ แต่ต้องเป็นไปเพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์โควิดเท่านั้น
“ทั้งนี้ ในระเบียบฉบับดังกล่าวยังระบุว่า หากการใช้จ่ายงบกลางไม่เกิน 10 ล้านบาท ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณสามารถอนุมัติให้ใช้ได้ทันที โดยต้องแจ้งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อทราบ แต่หากวงเงินตั้งแต่ 10-100 ล้านบาท หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ก็ให้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ส่งให้ ครม. อนุมติทุกวงเงิน เพราะกลัวการตรวจสอบ ดังนั้นยืนยันว่า การใช้งบกลางไม่ใช่การตีเช็คเปล่าแน่นอน” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรวจสอบติดตามการใช้เม็ดเงินงบกลางมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พนักงานตรวจสอบภายใน ฝ่ายรัฐสภา ที่สามารถตั้งกระทู้เสนอญัตติตรวจสอบโดยตรง โดยสามารถเรียกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาตอบกระทู้ในสภาได้ กรรมาธิการติดตามงบประมาณประจำสภาเรียกหน่วยงานรับงบประมาณ สำนักงบประมาณ ติดตามดูพื้นที่ และกรรมาธิการที่เกี่ยวเนื่องกับงบประมาณ สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น
ทั้งนี้ ก่อนที่จะเป็นกฎหมายออกไป สภาจะมีบันทึกแนบท้ายในร่างกฎหมาย ซึ่งเรียกว่าข้อสังเกตแนบท้ายพระราชบัญญัติ เพราะไม่สามารถเขียนในตัวบทกฎหมายได้ โดยงบ 1.63 หมื่นล้านบาท ที่จัดให้ในงบกลางมีวัตถุประสงค์เฉพาะแก้ปัญหาโควิดเท่านั้น ให้ผู้รับผิดชอบนำไปใช้ในโควิดเท่านั้น จากนั้นเสนอสภา หากสภาเห็นชอบจะมีศักดิ์เท่ากฎหมาย เมื่อพ้น 60 วัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรายงานว่าได้ทำตามที่ กมธ. ตั้งข้อสังเกตแนบหรือไม่ ทั้งหมดยืนยันได้ว่ากระบวนการตรวจสอบไม่ปิดกั้นใดๆ กรณีนี้จะเป็นการตรวจสอบที่ดีที่สุด อยู่ที่ผู้ตรวจสอบจะดำเนินการอย่างไร
“ประเด็นการโยกงบกลาง แม้ดูเหมือนจะเป็นการเมืองระหว่างพรรคการเมือง ก็ถือเป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกัน และถือเป็นการตรวจสอบของประชาชนต่อผู้แทนราษฎร แม้สิ่งที่นำเสนอในโซเชียลมีเดียจะมีวัตถุประสงค์ใดๆ ก็ตาม ถ้าพี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ก็คือดีที่สุด พรรคเพื่อไทยถูกกระทำเยี่ยงนี้มาตลอด เราอดทนได้ เพราะพี่น้องประชาชน เรามีหน้าที่ตั้งรับและชี้แจงข่าวในสิ่งที่เราทำถูกตามบทบัญญัติของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เราทำไป ไม่ได้เอางบกลางไปให้ พล.อ. ประยุทธ์ไปซื้ออาวุธมายิงประชาชน เราให้กับประชาชน แต่โชคร้ายผ่าน พล.อ. ประยุทธ์ เราต้องเอาคนๆ นี้ออกไป อย่าให้ พล.อ. ประยุทธ์ลอยนวล โดยเม็ดเงินนี้ยังอยู่ และหาคนที่มีความสามารถมาบริหารเงินนี้อย่างคุ้มค่า เราต้องช่วยกันแยกคนที่ไม่ดีออกจากเม็ดเงินและวัตถุประสงค์” นพ.ชลน่านกล่าวในที่สุด