เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 สิงหาคม ที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย จังหวัดร้อยเอ็ด คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย, ชัยเกษม นิติสิริ, พงศ์เทพ เทพกาญจนา, ปลอดประสพ สุรัสวดี พร้อมด้วยแกนนำพรรค และ ส.ส. กทม. ของพรรค เดินทางลงพื้นที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคสัญจร ครั้งที่ 1 โดยได้ร่วมประชุมหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย 6 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ เพื่อหารือกันถึงแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรทั้งเรื่องปัญหาปากท้อง ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ และปัญหาที่เกิดจากภาวะภัยแล้ง โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 100 คน
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า “พี่น้องมีความทุกข์ที่ไหน เพื่อไทยจะไปที่นั่น แม้พี่น้องจะเลือกพรรคเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่ความผิดพี่น้อง และไม่อยากให้พี่น้องท้อ เพราะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่เอาเปรียบที่สุด พรรคเพื่อไทยเราทุกคนก็ไม่ท้อ และจะเดินหน้าเคียงข้างพี่น้องต่อไป เพราะเรารู้ว่าพี่น้องทุกข์ทั้งจากพิษภัยทางเศรษฐกิจและภัยแล้ง เราจะมาช่วยผลักดันสิ่งต่างๆ เต็มที่ เราพรรคเพื่อไทยทั้งส่วนกลาง และ ส.ส. ในพื้นที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราเอามาคิด และหาทางแก้ปัญหา เราจะไม่ทอดทิ้งพี่น้องแม้แต่วินาทีเดียว วันนี้เราจะมาทำให้ทุ่งกุลาไม่ร้องไห้ เราจะเริ่มต้นผลักดันโครงการที่เราคิดมากว่า 20 ปีด้วยความมุ่งมั่น ให้ทุ่งกุลาร้องไห้เป็น ‘ทุ่งกุลามั่งมี’ ให้ได้ นอกจากนี้ เราจะผลักดันทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนอกอีอีซี โดยเรียกว่า เขตพัฒนาพิเศษทุ่งกุลาร้องไห้ ‘Thungkula Special Area (TSA)’ ซึ่งเราจะนำแผนงานนี้ไปนำเสนอต่อทางรัฐบาลด้วย”
ด้าน ศักดา คงเพชร ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราต้องดำเนินการดังนี้
1. เติมน้ำให้เพียงพอต่อการผลิตอย่างยั่งยืน รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานของพื้นที่ภาคอีสานจาก 12% เป็น 75 % ของพื้นที่การเกษตร 57.75 ล้านไร่ แบ่งเป็นโครงการย่อย คือโครงการโขง เลย ชี มูล ซึ่งจะทำให้เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 30 ล้านไร่ โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 แหล่งน้ำ โดยจัดงบประมาณผ่านตรงไปยังประชาชนให้จัดทำแหล่งน้ำประจำหมู่บ้านของตนเอง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร โครงการกักเก็บน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน และทำฝายกักเก็บน้ำในลำน้ำชี มูล ยัง และลำน้ำใหญ่ๆ อื่นๆ เป็นช่วงๆ ตลอดลำน้ำ รวมทั้งทำแก้มลิงเพิ่มเติม และเขื่อนขนาดเล็ก โดยใช้ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
2. การเพิ่มมูลค่าของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ โดยยกระดับคุณภาพการผลิตข้าวหอมมะลิออร์แกนิก โดยรัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการยกระดับราคาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน ทำ Thailand Brand ของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้โดยรัฐ เพื่อรับรองคุณภาพ แหล่งผลิต รวมทั้งการทำแพ็กเกจจิ้ง การทำการตลาด ตลอดจนการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์