วันนี้ (24 กันยายน) พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่าตามที่ สนธิญา สวัสดี ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย โดยอ้างคำพูดของ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุทำนองว่าพรรคเพื่อไทยสนับสนุนเรื่องทุนให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองนั้น
พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่าการที่สนธิญาได้นำเพียงข้อความบนเฟซบุ๊กของ ไชยอมรไปร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เพียงพอก่อนนำไปร้อง แต่กลับนำข้อความหรือคำพูดดังกล่าวไปร้องต่อ กกต.ทันที แสดงให้เห็นว่าสนธิญามีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็จะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับสนธิญาเช่นกัน ตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 101 ซึ่งกำหนดว่า ผู้ใดแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมือง ว่ากระทำความผิดต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
“พรรคเพื่อไทยขอเรียนต่อพี่น้องประชาชนว่าพรรคเพื่อไทยยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและต่อสู้กับอำนาจเผด็จการมาโดยตลอด แต่พรรคก็ยึดหลักสันติวิธี ไม่นิยมการใช้ความรุนแรงใดๆ และพรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายหรือให้เงินทุนสนับสนุนผู้ชุมนุมกลุ่มใด แต่ด้วยความเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกจำนวนมาก การที่จะมีสมาชิกพรรคคนใดไปร่วมชุมนุมหรือสนับสนุนการชุมนุมก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและความรับผิดชอบส่วนตัว ที่ผ่านมาไม่เคยมีสมาชิกผู้ใดไปกล่าวอ้างว่ากระทำในนามพรรค” ความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ
ดังนั้นการที่สนธิญาได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่สนธิญาได้ทำเป็นประจำอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ก็ยื่นขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย กรณีที่โฆษกของพรรคออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน
“พรรคจึงขอให้สังคมอย่าไปให้ความสำคัญกับนักร้องพวกนี้มากนัก เพราะแม้แต่นายทะเบียนสมาชิกพรรคพลังประชารัฐก็ยังปฏิเสธว่าบุคคลนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค จากกรณีการ Call out ของดารา ในส่วนของพรรคนั้นเมื่อมีการร้องและหาก กกต. รับเรื่องพรรคก็พร้อมจะชี้แจงและไม่รู้สึกกังวลใดๆ เพราะพรรคดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใสพร้อมให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา” ความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ
พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองและคุ้มครองไว้ และถือเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนมีความตื่นตัวที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและข้อเรียกร้องทางการเมือง อันเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยสากล โดยพรรคได้ต่อสู้ทางการเมืองอยู่ในระบบ ไม่เคยใช้วิธีการใดที่จะเป็นการผิดกฎหมาย