วันนี้ (22 สิงหาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วาระพิจารณาญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตุลาการบนเวทีสาธารณะ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชน จนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดำเนินการต่อไป
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ลุกขึ้นเสนอญัตติ โดยระบุว่า สืบเนื่องจากประเด็นเมื่อวานนี้ (21 สิงหาคม) ที่มีข่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม กรณีที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งบรรยายบนเวทีสาธารณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และแสดงความคิดเห็นระบุถึงพรรคประชาชนโดยตรง บอกว่าพวกเราจะต้องขอบคุณท่านที่ได้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล จนนำมาสู่การที่พรรคประชาชนได้รับยอดบริจาคสูงถึง 20 ล้านบาท
ณัฐพงษ์มองว่า การแสดงความคิดเห็นแบบนี้ของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบนเวทีสาธารณะจะต้องคิดไตร่ตรองอย่างดีว่าเป็นการแสดงทัศนคติส่วนตัว หรือเป็นการแสดงทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ของท่านในฐานะองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ
“เนื่องจากว่าเป็นการแสดงความเห็นที่ท่านเป็นองค์คณะตุลาการได้พิพากษาประหารชีวิตพรรคการเมือง โทษสูงสุดคือการยุบพรรคการเมือง ความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวเชิงประชดประชันหรือถากถางว่าพวกเราต้องขอบคุณท่าน ผมคิดว่าเป็นความชอบธรรมของสภา เราในฐานะตัวแทนปวงชน ผู้ทรงอำนาจสูงสุด ควรจะต้องตั้งคำถามได้”
ณัฐพงษ์ยกมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อที่ 13 บัญญัติไว้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ และข้อที่ 17 บัญญัติไว้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ทำการใดๆ ให้เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์และการดำรงตำแหน่งตุลาการ
“การแสดงทัศนคติแบบนี้ สาธารณชนสามารถตั้งคำถามได้หรือไม่ครับ ว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรคก้าวไกลไปนั้น ท่านใช้อคติส่วนตัวในการวินิจฉัยหรือไม่ ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้เราตั้งคำถามได้” ณัฐพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ณัฐพงษ์อ้างถึงจรรยาบรรณวิชาชีพของตุลาการ ผู้พิพากษา ตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อที่ 28 บัญญัติไว้ว่า ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือเข้าร่วม การสัมมนา อภิปรายแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา
“คงไม่มีนักกฎหมายที่จะสามารถยอมรับได้ว่าองค์คณะผู้พิพากษาตัดสินคดี ที่ผู้ถูกพิพากษาคืออดีตพรรคก้าวไกล ถูกตัดสินประหารชีวิต ถูกลงโทษโดยตรงนั้น ถูกองค์คณะผู้พิพากษาตัดสินคดีออกมาแสดงความคิดความเห็นเชิงเสียดสี ประชดประชันแบบนี้ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างชัดเจนว่าทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อจรรยาบรรณวิชาชีพของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
สิ่งที่เราทำได้ร่วมกันแน่นอนคือเสนอร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้อง เวลาของพวกเราที่เหลือต่อจากนี้อีก 2 ปีกว่าๆ ของสภาชุดนี้ เราจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ อำนาจหน้าที่ ที่มาที่ไป การถอดถอน องค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรได้บ้าง
อดิศรชี้ต้องตัดนิ้วร้ายเพื่อรักษาชีวิต
จากนั้น อดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอญัตติในลักษณะเดียวกัน โดยระบุถึงการบรรยายบนเวทีสาธารณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง โดยระบุว่า ไม่รู้ว่าท่านตั้งใจมาพูด หรือตกกระไดพลอยโจน พูดในลักษณะเหยียดหยามเสียดสีบุคคลซึ่งเคยเป็นคู่กรณี
“เราให้ท่านไปเป็นพระ ผ่านการกลั่นกรองของสมาชิกวุฒิสภา ให้ท่านเป็นพระอยู่บนหิ้ง พระต้องอยู่ในธรรมวินัย เมื่อท่านทำผิดพระวินัย ท่านปาราชิกครับ ไปบิณฑบาตไม่มีใครใส่บาตรแล้ว” อดิศรระบุ
อดิศรกล่าวด้วยว่า เป็นครั้งแรกที่มาอภิปรายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะมีคนบอกว่าให้ระวังก็ตาม แต่นี่เป็นการถ่วงดุลระหว่างนิติบัญญัติและตุลาการ เราไม่มีอคติ เพียงแต่เห็นว่าเรื่องที่ท่านพูดไม่เหมาะสม ทำให้ไม่รู้ว่าวันที่ตัดสินคดีความนั้นท่านมีอคติหรือไม่
“ท่านยังอารมณ์ค้าง ติดตลก ผมไม่ตลกกับท่าน เพราะเราเรียนนิติศาสตร์ ตราชูคือสัญลักษณ์ของความยุติธรรม ท่านกำลังทำลายตราชู ความยุติธรรม จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม” อดิศรกล่าว
อดิศรระบุว่า ญัตติดังกล่าวให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็น หากพระเป็นปาราชิกก็ต้องสึก อย่าเป็นกาดำในกระบวนการยุติธรรม ท่านคนเดียวทำให้ทั้งกระบวนการขาดความเชื่อมั่น สส. พรรคเพื่อไทยทุกคนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและการถ่วงดุล หากตุลาการท่านใดไม่เคารพประชาธิปไตย ไม่เข้าใจการถ่วงดุล ก็ทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้
ทั้งนี้ยืนยันว่าเราไม่มีข้อขัดแย้งกับองค์กรตุลาการทั้งหมด นิ้วไหนร้ายก็ตัดทิ้ง รักษาชีวิต จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภา ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ต่างเป็นผู้เสียหายร่วมกัน จึงขอเชิญชวนสมาชิกให้ร่วมกันเห็นด้วยกับญัตตินี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะเริ่มอภิปรายญัตติดังกล่าวนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น ได้เตือนสมาชิกว่าไม่ควรอภิปรายพาดพิงบุคคลภายนอก และระมัดระวังการละเมิดอำนาจศาล
จากนั้นได้มีสมาชิกบางส่วนลุกขึ้นอภิปรายแสดงความเห็น เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เมื่อสมาชิกไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ประธานในที่ประชุมจึงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งความเห็นและข้อสังเกตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป ก่อนจะปิดประชุมในเวลา 18.25 น.