วันนี้ (11 กันยายน) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจับขั้วทางการเมืองหลังการเลือกตั้งว่ายังเร็วไปที่จะสรุป แต่เพียงชัดเจนเรื่องการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีเรื่องพรรคพี่พรรคน้อง และไม่มีเรื่องพรรคจับมือก่อนการเลือกตั้งแน่นอน
นพ.ชลน่านยังกล่าวถึงพรรคที่แอบอ้างว่าเป็นพรรคพี่พรรคน้อง หาเสียงจนพี่น้องประชาชนสับสน ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งเราก็ประกาศชัดแล้วว่าเพื่อไทยไม่มีอย่างนั้น เราบอกพี่น้องว่าเราคือเพื่อไทยเท่านั้น ต้องเลือกให้ชนะเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นได้
“ขออนุญาตไม่พูดชื่อพรรคเขา เดี๋ยวเสื่อมเสีย แต่ในพื้นที่ก็มีหลายพรรคพูดเช่นนั้น ใครมีพฤติกรรมเช่นนั้นก็เข้าข่าย” นพ.ชลน่านกล่าว
ส่วนหลังเลือกตั้งมีโอกาสร่วมงานกับพรรคใดบ้างนั้น นพ.ชลน่านระบุว่า แนวทางสิ่งที่พูดก่อนการเลือกตั้งจะเป็นเงื่อนไขในการร่วมงานทางการเมืองกัน กรณีการแอบอ้างเพื่อคะแนนเสียงก็มองว่าอาจยังพอคุยกันได้ ไม่ร้ายแรงเท่าการสนับสนุนเผด็จการ เสมือนเป็นนั่งร้านระบอบประยุทธ์ แต่ก็ต้องดูในเนื้องานสาระสำคัญ เพราะบางพรรคก็อาจรณรงค์จนทำลายกัน หรือถึงขั้นเปิดช่องยุบพรรคเพื่อไทย เช่นนั้นก็อันตราย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงโอกาสร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย นพ.ชลน่านย้ำว่า ตนไม่อยากบอกชื่อพรรค ตามหลักการคือขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและพฤติการณ์ของพรรค หากผ่านการเลือกตั้งมา พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจเขา (พรรคภูมิใจไทย) และมีวิธีการและอุดมการณ์ทำงานร่วมกันได้ ก็จะมาพิจารณา แต่ถ้าสนับสนุนเผด็จการก็อาจเป็นเงื่อนไขที่ไม่เข้าร่วมด้วย
ส่วนกระแสการปิดสวิตช์ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะเป็นผลประโยชน์ในการหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่านมองว่า ส.ว. เป็นปัญหาระบบการเมืองไทย จนแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลใช้เงื่อนไขนี้ ก็เป็นปัญหาจริง ส่วนจะได้รับการตอบรับจากประชาชนหรือไม่ มองว่าไม่ใช่ประเด็นหลักประเด็นเดียวในการหาเสียง แต่พรรคเพื่อไทยชัดเจนว่าเป็นพรรคประชาธิปไตย ทำเพื่อพี่น้องประชาชน ย้ำว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับที่รัฐสภาเพิ่งมีมติไปนั้น นพ.ชลน่าน ยอมรับว่าสมัยประชุมหน้า คงไม่คิดแก้อีก เพราะฟังจาก ส.ว. พูดที่ผ่านมา เราคงไม่เสนออีก แต่จะผลักดันใส่เป็นนโยบายให้เป็นฉันทามติของพรรคเพื่อไทยด้วยเสียงของพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าเป็นสัปดาห์สุดท้ายของสมัยประชุมสภา นพ.ชลน่านมองว่า งานที่ค้างอยู่คือกฎหมายที่จะต้องเร่งรัดอย่างน้อย 2 ฉบับที่สำคัญ แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็พยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง ซึ่งฝ่ายค้านต้องดูอย่างระมัดระวังว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปรับแก้ว่าตอบโจทย์กับประเทศหรือเปล่า
“การใช้กัญชาในทางการแพทย์ ฝ่ายค้านเราสนับสนุน ดังนั้น กฎหมายที่เขียนออกมาต้องทำเพื่อการแพทย์จริง ไม่เปิดทางทำอย่างอื่น เราต้องการรอบคอบพอสมควร”
ส่วนของฝ่ายค้านคือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ และร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งผ่านการแก้ไขโดยวุฒิสภาแล้ว สอบถามทุกฝ่าย สามารถรับได้ ถ้าผู้แทนไม่มีประเด็น ถือว่าสภาเห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไข สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลย ก็เป็นกฎหมายได้ รวมทั้ง 2 ฉบับ
ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงความเป็นไปได้ที่สภา จะอยู่ครบวาระคือในเดือนมีนาคมปี 2566 นพ.ชลน่านประเมินว่ามีโอกาสเพียง 20% ณ วันนี้ ไม่ว่าผลการวินิจฉัยของศาลต่อวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ติดใจตรงนั้นแล้ว เพราะคาดว่าจะมีการยุบสภาหลังการประชุม APEC
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่ามีเบาะแสใดที่คาดการณ์เช่นนั้น นพ.ชลน่านเชื่อว่าผู้มีอำนาจจะคำนึงถึงประโยชน์ของตนเอง หากยุบสภาหลัง APEC ก็จะสามารถจัดการ ส.ส. ย้ายพรรคได้ ลดกระแสคัดค้านได้ ทั้งนี้ก็ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ส่งกระแสตอบกลับว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมกับการเลือกตั้งมากที่สุด