วันนี้ (15 มกราคม) พรรคเพื่อไทย โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ส.ส. ของพรรคไม่ปฏิบัติตามมติของพรรคและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้มีผลสอบกรณี 3 ส.ส. กระทำการฝ่าฝืนมติพรรคและข้อตกลงร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า
1. กรณี พรพิมล ธรรมสาร ส.ส. ปทุมธานี พบว่าได้แสดงพฤติกรรมและท่าทีชัดเจนว่ามีเจตนาและแสดงออกอย่างเปิดเผยในการฝ่าฝืนมติพรรค แม้ในครั้งแรกจะยังมิได้มีมติไปสนับสนุนรัฐบาล แต่ก็ไปแสดงตัวเป็นองค์ประชุมอย่างเปิดเผย ซึ่งขัดต่อมติของพรรค และเมื่อช่วงการอภิปรายงบประมาณ พ.ศ. 2563 วาระ 2-3 ยังแสดงตนโหวตสวนมติพรรคอย่างเปิดเผยโดยมิได้สนใจและนำพาต่อมติของพรรคแต่อย่างใด ประกอบกับหลักฐานแวดล้อมหลายกรณีตามบันทึกการสอบสวนเห็นว่า ส.ส. พรพิมล ได้จงใจฝ่าฝืนมติพรรค โดยเชื่อได้ว่าเป็นการได้รับการร้องขอและมีประโยชน์ตอบแทนส่วนตน ถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยพรรคอย่างร้ายแรง ซ้ำซาก ควรลงโทษสถานหนัก
อย่างไรก็ตาม การลงโทษถึงขั้นขับออกจากสมาชิกพรรค ตามรัฐธรรมนูญแล้วผู้นั้นสามารถไปหาพรรคใหม่สังกัดได้ภายใน 30 วัน จึงเห็นว่ายิ่งจะเป็นการสมประโยชน์ของฝ่ายรัฐบาลมากขึ้นไปอีก จึงเสนอให้กรรมการวินัยและจรรยาบรรณลงโทษทางวินัยในระดับภาคทัณฑ์และใช้มาตรการทางปกครองที่เด็ดขาดคือไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของพรรค และไม่ส่งสมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไขผ่อนปรนใดๆ ทั้งสิ้น
2. กรณี พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส. กรุงเทพมหานคร จากการตรวจสอบและสอบสวนชี้ชัดว่า ส.ส. พลภูมิ ได้มีพฤติกรรมและการกระทำที่ฝ่าฝืนมติพรรค แม้จะอ้างเหตุผลด้วยความจำเป็นและเหตุผลส่วนตัวก็ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างหักล้างแนวทางของพรรคและจริยธรรมทางการเมือง และไม่อาจใช้เป็นเหตุผลในการกระทำที่ขัดต่อมติของพรรคได้ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีพฤติกรรมการกระทำผิดอย่างถึงที่สุด แต่ก็ยังคงฝ่าฝืนมติพรรค โดยการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณที่ผ่านมาได้ลงมติไม่ประสงค์ลงคะแนน สวนทางกับมติของพรรคที่ให้งดออกเสียง แม้จะไม่ถึงขั้นลงมติเห็นชอบแบบราย ส.ส. พรพิมล ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การจะพิจารณาลงโทษสถานหนักก็ยังมีเหตุผลเช่นเดียวกันว่าในที่สุดก็จะเข้าทางความต้องการของฝ่ายรัฐบาล จึงเห็นควรใช้มาตรการทางปกครองให้พิจารณาความผิดโดยให้ภาคทัณฑ์และไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคเป็นเวลาหนึ่ง และพิจารณาไม่ส่งเป็นผู้สมัครของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ให้พรรคมั่นใจหรือมีการกระทำที่น่าเชื่อถือว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัยของพรรค
3. กรณี ขจิตร ชัยนิคม ส.ส. อุดรธานี ถือว่าได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงเช่นกัน ข้ออ้างและเหตุผลที่ชี้แจงถือว่าฟังไม่ขึ้น แต่พฤติกรรมคือเพียงแสดงตนให้เป็นองค์ประชุม แต่ในความประพฤติต่อมายังไม่เห็นแจ้งชัดว่ายังจงใจที่จะกระทำผิดเช่นเดิม จึงเสนอให้ดำเนินการภาคทัณฑ์ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมพรรคในระยะเวลาหนึ่ง และพิจารณาไม่ส่งลงเลือกตั้งในครั้งต่อไปจนกว่าจะมีข้อเสนอหรือพิจารณาเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ผลสรุปทั้ง 3 กรณีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะส่งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการจริยธรรมของพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาโดยลำดับ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์