×

เพื่อไทยชี้ มีช่องทางต่อสู้คดียิ่งลักษณ์ ยื่นหลักฐานใหม่ ขายข้าวได้ปีที่แล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
25.05.2025
  • LOADING...
หลักฐาน คดีจำนำข้าว

วันนี้ (25 พฤษภาคม) ที่พรรคเพื่อไทย ดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยในคดีจำนำข้าว ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 10,028 ล้านบาท โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยเองมีความเป็นห่วงเป็นใยและสงสารยิ่งลักษณ์ เนื่องจากหลายท่านทราบดีว่าคดีเรื่องการจำนำข้าวนั้นเป็นคดีที่เกิดขึ้นในช่วงของการปฏิวัติรัฐประหาร และเป็นหนึ่งในเหตุผลของการยึดอำนาจยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น 

 

“เวลาผ่านไป 10 กว่าปี ผมเชื่อว่าคุณยิ่งลักษณ์มีทีมกฎหมาย มีทนายที่ร่วมต่อสู้คดี แต่เมื่อคดีถึงที่สุด พรรคเพื่อไทยก็ต้องยอมรับในคำตัดสินและอยากจะใช้ช่องทางกฎหมายเท่าที่เหลืออยู่ต่อสู้ในคดีนี้ พรรคเพื่อไทยเองเป็นกำลังใจให้ท่านยิ่งลักษณ์ ขอเรียนว่าหลังจากที่ตัดสินไปแล้ว มีการสอบถามมายังพรรคค่อนข้างมาก และเราก็ได้ไปพูดคุยกับฝ่ายกฎหมาย กับผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรค ขอเรียนว่าคดีนี้ยังมีช่องทางในพอต่อสู้ได้อยู่” ดนุพรกล่าว

 

ดนุพรกล่าวต่อไปว่า คดีนี้มีการขายข้าวได้น่าจะเป็นหลักฐานใหม่ที่จะนำไปสู่การขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดใหม่ได้ ภายใน 90 วัน ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดี พ.ศ. 2542

 

“เป็นหลักฐานใหม่ คือการขายข้าว 18.9 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว ยังไม่ได้นำเข้าสู่การพิพากษาในคดี เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นภายหลังการสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว เพราะฉะนั้น ทางพรรคเองมองว่าเป็นหลักฐานใหม่ ที่ยังไม่เคยเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ดังนั้น เราจะใช้ช่องทางทางกฎหมายตามมาตรา 75 นี้ เป็นช่องทางต่อสู้ต่อไป” ดนุพรกล่าว

 

ดนุพรย้ำว่าคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนปฏิวัติ ซึ่งผู้นำในการปฏิวัติในขณะนั้นได้มีการใช้มาตรา 44 หลายฉบับ เกี่ยวข้องกับคดีการจำนำข้าว แต่แน่นอนเราก็ต้องต่อสู้กันไปโดยใช้หลักฐานใหม่

 

ดนุพรกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้จะเห็นได้ว่าเฟซบุ๊กของพรรคเพื่อไทยเอง ลงโพสต์ของยิ่งลักษณ์ ก็ขอเรียนว่านโยบายจำนำข้าวนั้น เป็นนโยบายหลักที่พรรคเพื่อไทยนั้นใช้ในการหาเสียงเมื่อปี 2554 พวกเราชนะการเลือกตั้งส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายนี้ นโยบายการจำนำข้าวนั้น ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยนายกยิ่งลักษณ์ ที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวนาสามารถลืมตาอ้าปากได้ 

 

“ดังนั้นเป็นเหตุจำเป็นที่พรรคเพื่อไทยจะต้องลงโพสต์ชี้แจง พูดถึงข้อเท็จจริงเรื่องของคดีนี้ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร” ดนุพรระบุ

 

ส่วนหลายท่านที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบกับคดีมาตรา 112 เป็นการเมืองหรือไม่ ทำไมไม่แสดงความเห็น ดนุพรกล่าวว่า ในเดือนกรกฎาคมจะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร อย่างเป็นทางการ และในวันที่ 9 กรกฎาคม จะมีการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม 

 

ดังนั้นไม่อยากให้ถกเถียงกันนอกสภาว่าเป็นการเมืองหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าเมื่อถึงขั้นตอนของการพิจารณากฎหมายในวันที่ 9 กรกฎาคม ก็ไปพูดคุยอภิปรายในสภาฯ เราจะหาข้อสรุปได้ในวันนั้น รวมถึงเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ด้วย

 

สำหรับกรณีที่มีนักกฎหมายวิเคราะห์ว่าเงินที่สามารถขายข้าวนั้น ไม่สามารถนำมาชดเชยได้ ดนุพรกล่าวว่า เป็นเรื่องของศาล เพียงแต่ว่าเราก็มีช่องทางทางกฎหมายที่เหลืออยู่ โดยใช้มาตรา 75 เราก็พยายามที่สุด ส่วนศาลจะรับหรือไม่รับ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องขอความเห็นเป็นธรรมต่อไป พร้อมย้ำว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน การตำหนิรัฐบาลทำได้ เราเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี เหลืออีก 2 ปี ก็เลือกตั้งใหม่ หากคิดว่าพรรคเพื่อไทยทำอะไรไม่ถูกไม่ควรก็สามารถวิจารณ์ได้ 

 

▪️มาตรา 75 ชี้ หากมีหลักฐานใหม่ ยื่นศาลอีกได้ภายใน 90 วัน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ว่า

 

“ในกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดแล้ว คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนั้นอาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้ในกรณีดังต่อไปนี้

 

  1. ศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

 

  1. คู่กรณีที่แท้จริงหรือบุคคลภายนอกนั้นมิได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหรือได้เข้ามาแล้วแต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณา

 

  1. มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม

 

  1. คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด และต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

 

การยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคู่กรณีหรือบุคคลภายนอกไม่ทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาคดีครั้งที่แล้วมา โดยมิใช่ความผิดของผู้นั้น

 

การยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่ต้องกระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้นได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ได้ แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising