วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค, สรวงศ์ เทียนทอง สส. สระแก้ว เลขาธิการพรรค, ขัตติยา สวัสดิผล สส. บัญชีรายชื่อ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวถึงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่จะเข้าในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีชูศักดิ์เป็นผู้เสนอ
ณัฐวุฒิกล่าวว่า วันนี้ตนมาในฐานะประชาชน ซึ่งใจความที่ตนเดินทางมาวันนี้คือเพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในฐานะประชาชนต่อการผลักดันร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซึ่ง สส. ของพรรคเพื่อไทยได้เข้าชื่อยื่นต่อประธานสภา
โดยที่มาของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา และในขณะนั้นตนได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย โดยบนเวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทยต่างวาระหลายพื้นที่ และได้มีการประกาศแนวทางยื่นร่างแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน และให้สิทธิ์ของผู้เสียหายสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมฟ้องร้องคดีต่อศาลได้โดยตรงในกรณีที่คณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรืออัยการ สั่งยกคำร้อง หรือสั่งไม่ฟ้องได้ และหลังจากการเลือกตั้ง ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งร่างเสร็จแล้วโดย ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะ จึงได้มีการรวบรวมรายชื่อยื่นต่อประธานสภา รวมถึงผ่านขั้นตอนทางธุรการ ทั้งการรับฟังความคิดเห็น การตรวจสอบความถูกต้องอย่างครบถ้วน
ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตนได้ประสานงานกับชูศักดิ์และคณะทำงานของประธานสภาเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม กฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะเข้าที่ประชุมสภาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ตนจึงมาขอพบหัวหน้าและแกนนำพรรคเพื่อไทยเพื่อเรียนว่าในฐานะประชาชนเรายังรอคอยการบังคับใช้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวและเจตนารมณ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าวันนี้บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนจะเดินไปตามวิถีทางของสถานการณ์ทางการเมืองก็ตาม
ณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า หลักการสำคัญของร่างกฎหมายนี้คือในกรณีที่มีคดีความ ซึ่งมีการยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช. มีมติไม่รับคำร้อง หรือพิจารณาแล้วยกคำร้อง หรือพิจารณาชี้มูลความผิดส่งต่อไปยังอัยการแล้วอัยการไม่สั่งฟ้อง ซึ่งเดิมคือถ้า ป.ป.ช. ไม่รับคำร้องหรือยกคำร้อง จะจบในชั้น ป.ป.ช. ถ้า ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดส่งไปที่อัยการ อัยการสั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช. สามารถฟ้องเองได้ แต่หากทั้งอัยการและ ป.ป.ช. เห็นตรงกันทุกอย่าง ก็จบลงตรงนั้น และร่างกฎหมายที่แก้นั้นจะไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายในการยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้โดยตรง
“คำถามคือถ้าไปแก้อย่างนี้จะไปกระทบกับขอบเขตอำนาจเดิมของ ป.ป.ช. หรืออัยการหรือไม่ ยืนยันว่าไม่ เพราะทุกเรื่องยังไปตั้งต้นที่ ป.ป.ช. อยู่ดี จนกว่า ป.ป.ช. จะมีมติเป็นข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง” ณัฐวุฒิกล่าว
ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า นักร้องทั้งหลายไม่สามารถหยิบเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลได้โดยตรง เพราะร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้จะให้สิทธิ์เฉพาะผู้เสียหายตามกฎหมาย ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ไม่มีสิทธิ์
ทั้งนี้ ตนหวังว่าหลังจากที่ได้พูดคุยกับหัวหน้าพรรคและแกนนำทุกท่านที่ยังยืนยันเป็นอย่างดีว่าจะดำเนินการจนแล้วเสร็จ บังคับใช้จนได้ อย่างไรก็ตาม ตนได้นัด ชัยธวัช ตุลาธน สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อหารือในประเด็นเดียวกัน เบื้องต้นจากการพูดคุยนอกรอบคือได้รับการตอบรับ แต่ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียด และขอเสียงสนับสนุนให้เป็นอีกครั้งที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะลงมติเห็นชอบกฎหมายร่วมกันเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เพื่อรักษาสิทธิ์ให้กับผู้เสียหาย โดยไม่รอนสิทธิ์องค์กรหรือหน่วยงานเดิมที่มีอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว
ขณะที่แพทองธารกล่าวว่า ขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความเชื่อมั่นกับพรรคเพื่อไทย สำหรับกฎหมายดังกล่าวเราจะช่วยกันผลักดันต่อ โดยในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้เราจะมีการพิจารณากัน เพื่อเพิ่มโอกาสหาความยุติธรรมให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกคุ้มครอง และผู้เสียหายที่แท้จริงมีสิทธิ์จะฟ้อง
ด้านชูศักดิ์กล่าวถึงกรณีที่ สว. ออกมาเตือนว่าร่าง พ.ร.ป. ของทั้ง 2 ร่างนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้ง โดยชูศักดิ์ระบุว่า การเสนอกฎหมายนี้มี 2 หลักการสำคัญ หลักการที่ 1 คือหลักกฎหมายที่คานอำนาจระหว่าง ป.ป.ช. และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ เราจึงมองว่ากรณีที่ไม่ฟ้องหรือสั่งไม่มีมูลให้ส่งสำนวนมายังสำนักอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณา ซึ่งมีหลักฐานและพยานเพียงพอก็สามารถสั่งฟ้องได้
และหลักการที่ 2 กระบวนการยุติธรรมโดยทั่วไปควรจะเพิ่มสิทธิ์ให้กับบุคคลที่เป็นผู้เสียหาย เพิ่มสิทธิ์ให้กับประชาชน ผู้ได้รับความเสียหายในการดำเนินคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะผู้เสียหายในคดีอาญาได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็คงมีสิทธิ์ฟ้องศาลได้ ซึ่งเราถือว่าเป็นการเพิ่มสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม
ชูศักดิ์กล่าวว่า จากการที่ สว. ออกมาวิจารณ์วาระกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะเป็นการรื้อฟื้นคดีที่ผ่านมาหรือไม่นั้น คำตอบคือการสั่งฟ้องจะต้องอยู่ภายใต้อายุความ ไม่ใช่เป็นการรื้อคดีขึ้นมาทำใหม่ คนที่มีสิทธิ์ที่จะสามารถฟ้องได้จะต้องเป็นคนที่เป็นผู้เสียหายทางคดีอาญา ส่วนประเด็นที่จะไปกระทบต่อความปรองดองสมานฉันท์นั้น เป็นการสร้างหลักการทางกฎหมาย ซึ่งก็เป็นเรื่องของหลักฐานต่อกระบวนการยุติธรรมที่ต้องพิสูจน์ และเราไม่มีเจตนาที่จะรื้อฟื้นความขัดแย้ง แต่เป็นการเพิ่มให้สิทธิ์ประชาชนที่จะได้รับความยุติธรรมจากรัฐ